สารส่องใจ Enlightenment

มีวิถีทางใดจะชดใช้กรรมจากการทำแท้งได้บ้าง



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา - หลังทำแท้งขณะตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือน รู้สึกเป็นบาป
แต่จำเป็นต้องทำเพราะแพ้ท้อง ทำงานไม่ได้ สามีไม่ได้เอาใจใส่ต่อครอบครัวเลย
และถ้าปล่อยให้เกิดมาเขาจะลำบาก และทำให้ลูกคนเกิดก่อนลำบากด้วย
อยากทราบว่าบาปที่ทำนี้ มีวิถีทางใดจะชดใช้ได้บ้าง
เช่น บวชพราหมณ์ สร้างพระ หรือถือศีล เป็นต้น




วิสัชนา - ไม่ว่าใครๆ เมื่อความทุกข์ใจมาถึงแล้ว ก็ต้องมองหาที่พึ่ง เพื่อแบ่งเบา
ชะรอยสามีจะล่วงละเมิดไปเล่นสาว จึงเป็นเหตุไม่อาลัยในของเดิม
แต่ก็คงเป็นเรื่องของกรรมมาในภพก่อนๆ ที่พวกเราสร้างไว้
เพราะการท่องเที่ยวในสงสารมากกว่าเม็ดหินเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรตั้ง ๔ มหาสมุทร
สมมติว่าชาติหนึ่งก็เม็ดทรายหนึ่งเป็นการเทียบ
เมื่อเป็นดังนี้ การท่องเที่ยวในสงสารจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้นอนใจในโลกสงสาร
สอนให้รีบเร่งภาวนาปฏิบัติศีลธรรม
เพื่อให้ชนะความหลงของตนเข้าสู่พระนิพพานไปซะ



อนึ่งเรื่องลูกๆ ตั้งครรภ์แล้ว ๒ เดือนจะหาอุบายทำลายนั้น
มันเป็นบาปมากนัก หลวงปู่ไม่อนุโมทนาด้วย
พระวินัยบอกว่า ปาราชิก ๔
จะว่าแต่ข้อ ๓ ความว่า "ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตายต้องปาราชิก"
มีหลักพูดอย่างนี้ แต่อธิบายหลักออกพิสดารมาก
มนุษย์ในครรภ์ก็ดี นอกครรภ์ก็ดี ฆ่าเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี หรือด้วยอุบายก็ดี
ห้ามขาดทั้งนั้น ถ้าฝืนล่วงละเมิด ภิกษุเป็นปาราชิก นี้อธิบายให้ฟังอย่างย่อๆ
เมื่อเป็นดังนี้ องค์หลวงปู่ไม่เห็นด้วย
แม้เราทำลายแล้วเราจะไปบวชชีพราหมณ์ หรือทำบุญอะไรๆ ก็ตาม
จะทำบุญแก้บาปไม่ได้เพราะมันเป็นเงินคนละกระเป๋า
สมมติว่าใจของเรานี้เปรียบเหมือนคลัง
บาปบุญนี้เปรียบเหมือนสมบัติที่มีอยู่ในคลัง
คราวใดเราเอาบาปออกมาค้า ผลกำไรก็ไปบวกบาปอยู่ที่ใจ



เหตุนั้น การล้างบาปในพระพุทธศาสนาจึงไม่มี
แต่เมื่อสร้างบารมีไปมากแล้ว บาปก็เว้นพอแล้ว บุญก็สร้างพอแล้ว
จึงจะทรงเหนือบาปและบุญไปได้

ยกตัวอย่างเช่นพระอรหันต์
กรรมเก่าตามมาถึงก็มาเจอแต่เรือนร้าง คือสกลขันธ์ คือรูปนาม
แต่มันไม่ถึงธรรมะของพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์พ้นจากกองนามรูปไปแล้ว
แต่พวกเราที่ยังมีกิเลสหนา เมื่อผลของกรรมตามมาหา
มันก็ได้ทั้งหนังทั้งเขา เพราะเรายังไม่พ้นจากกิเลส
เหตุนั้นเราจึงไม่ควรทำในมหันตโทษ
โทษฆ่ามนุษย์เป็นมหันตโทษไม่มีศาลอุทธรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
คดีดำคดีแดงในโรงในศาลมันหมดเป็น
ส่วนกรรมและผลของกรรมที่ทำไว้แต่ละท่านละคน
มันไม่จบเกษียณเป็นเลย มันตามไปจนถึงชาติเข้าสู่พระนิพพานดังกล่าวแล้วนั้น



คำว่ากรรม และผลของกรรม ว่าโดยย่อเพื่อเข้าใจง่ายคือ
บาปและผลของบาป บุญและผลของบุญ
ส่วนสร้างเหตุบาปบุญแล้วผลไม่ได้ประสงค์ก็ได้รับตามส่วน
ควรค่าของเหตุที่ทำน้อยและมาก เจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นปัญหา
เหตุนั้นวัฏสงสารจึงเวียนว่ายตายเกิด อยู่สนองกรรมสนองเวรกันเหมือนพายเรือในอ่าง
ต่อเมื่อถึงพระโสดาบันตราบใด จึงจะเดินตรงในทางความประพฤติ
ข้ามทะเลหลงของตนไม่ถอยหลัง ไม่แวะซ้ายไม่แวะขวาด้วย
ตรงจุดหมายพระนิพพาน
ต่ำกว่าพระโสดาบันลงมาแล้วพายเรือในอ่างทั้งนั้น หรือเป็นมดไต่ขอบกระด้งทั้งนั้น
ถ้าอยากทราบว่าตนเป็นพระโสดาบันหรือไม่นั้น ก็มีแผนที่สอบ
คือ สอบตนว่าตนเสียดายอยากล่วงละเมิดศีล ๕ หรือไม่
เสียดายอยากจะถือศาสดาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนาไปหรือไม่
เสียดายอยากจะจองเวรท่านผู้อื่นหรือไม่
เสียดายอยากจะเล่นอบายมุขหรือไม่
เสียดายอยากจะถือฤกษ์ดียามดีหรือไม่
เสียดายอยากจะค้าขายเครื่องประหาร ค้าขายมนุษย์
ค้าขายสัตว์เป็นและเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษ
ทั้งหลายเหล่านี้หรือไม่
ถ้าไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดทั้งหลายเหล่านี้แต่ต้นมา
ก็ตัดสินเอาเองว่าเรานี้แหละคือพระโสดาบัน
ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็เป็นโมฆะทั้งนั้น



ให้เข้าใจว่าสิ่งใดที่เราไม่เสียดายอยากล่วงละเมิด
เพราะเห็นชัดด้วยปัญญา ด้วยดวงตาเห็นธรรม
คือเห็นว่ามันเป็นเวรเป็นภัยจริงๆ ไม่มีศาลอุทธรณ์
ถ้าเราเห็นชัดอย่างนี้ความเสียดายอยากล่วงละเมิดของเราก็ไม่มี เราก็ไม่หนักใจด้วย
คล้ายๆ กับเราเห็นหลุมถ่านเพลิงอย่างชัดแจ้ง
เราไม่เสียดายอยากไปลุยเลย และก็ไม่สงสัยอีกด้วย
นี้แหละคือภูมิพระโสดาบัน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็เป็นพายเรือในอ่าง ดังกล่าวมาแล้ว



อนึ่ง การหงุดหงิดฉุนเฉียวก็เพราะอารมณ์ของเรามีหลายแพร่ง
แพร่งหนึ่งเกี่ยวกับสามีที่ไม่รับผิดชอบไม่อาลัย
แพร่งสองเป็นธรรมดาของผู้ตั้งครรภ์ก็ต้องหงุดหงิดบ้างอย่างนั้น
จะอย่างไรก็ตามความอดทนเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์
เพราะอดทนในสิ่งที่ควรอดทน ไม่ใช่อดทนในการสร้างบาป อดทนในการไม่สร้างบาป
ความอดทนกับความเพียรก็คงมีความหมายอันเดียวกันนั่นเอง
แต่เพียรในทางพระพุทธศาสนา "เพียรละบาปบำเพ็ญบุญ" เป็นหลักของจิตใจ



น่าเห็นใจลูกๆ หลานๆ อยู่เหมือนกัน
ใครเกิดมาในโลกนี้ไม่เป็นทุกข์ใจไม่มีเลย (เว้นพระอรหันต์เสีย)
พระโสดาบันเว้นทุกข์ใจไปเป็นเอกเทศแล้ว และส่วนที่เว้นนั้นไม่กลับมาทุกข์อีก
ส่วนพระอรหันต์เว้นโดยเด็ดขาดสิ้นเชิงแล้ว



และคำสอนพระพุทธศาสนาเจตนามุ่งหมายให้สัตว์โลกเข้าสู่พระนิพพานทั้งนั้น
เพราะในไตรโลกธาตุไม่มีสุขเท่าเมล็ดงาเลย
ถ้าหากว่ามีความสุขเท่าเมล็ดงาแล้ว
พระอรหันต์ก็ไม่เบื่อหน่ายความหลงของตนที่เคยหลงมา
เมื่อเบื่อหน่ายความหลงของตนที่เคยหลงมาแล้ว
ก็เท่ากับว่าเบื่อหน่ายโลกทั้งปวงไปในตัว
คำว่าเบื่อหน่ายในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไปฆ่าตัวตายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ถ้าไปฆ่าตัวตายโดยวิธีใดวิธีหนึ่งแล้ว เรียกว่าโทสะสัมปยุตถ์อยู่
เกิดมาในภพใดชาติใดก็ต้องฆ่าตัวตายอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ผู้พ้นจากกิเลสแล้ว
ท่านผู้พ้นจากกิเลสแล้วนั้น ท่านไม่เป็นกังวลเพื่อจะฆ่าตัวตาย
เพราะความหลงมันหายไปหมดแล้ว เหลือแต่พระปัญญาที่เหนือความหลง
และธรรมชาติฝ่ายสังขารก็บันดาลมรณภาพไปเอง
โดยไม่มีเงื่อนไขเจ้าตัวจะวางแผนไปฆ่าด้วยวิธีใดๆ เลย
ดังนี้ ผู้ที่ไปฆ่าร่างกายให้ตายนั้นเป็นผู้ที่ไร้ปัญญามาก
ชะรอยผู้นี้เคยฆ่าตนเองมาแต่ชาติก่อนๆ แล้ว
สิ่งที่จะควรสำเหนียกอีกก็มีอยู่ว่า ถ้าสามีของลูกเขาลอบไปรักหญิงอื่น
ก็ให้ยกมือใส่หัวซะ "ถ้าหากว่าข้าพเจ้าเคยได้ไปรักผัวเขา
แล้วได้เคยล่วงละเมิดผัวเขามาแต่ชาติก่อนๆ ก็ดี
แม้ข้าพเจ้าโกรธบ้างก็ตาม แต่จะไม่จองเวร
ขอให้แล้วกันไปซะ ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน "
ต้องทำจิตอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็จะมึงทีกูทีไปในชาติหน้าตะพึดตะพือลูกๆ เอ๋ย



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP