จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

รู้จักประมาณในการบริโภค


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



126 destination



เรื่องน้ำหนักเยอะเกินหรือต้องการจะลดน้ำหนักน่าจะเป็นปัญหาของหลาย ๆ ท่านในปัจจุบัน
สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งสำหรับปัญหาดังกล่าวมักจะเกิดจากการบริโภคเกินพอดี
ซึ่งนอกจากจะทำให้น้ำหนักเพิ่มแล้ว ยังอาจจะทำให้เรามีอาการไม่สบายตัวด้วย
เช่น อาจจะทำให้มีอาการท้องอืด หรืออาการอาหารไม่ย่อยก็ได้
โดยในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันในเรื่องการรู้จักประมาณในการบริโภคครับ



ใน “มหาปทานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค) สอนว่า
การรู้จักประมาณบริโภคนั้นเป็นหนึ่งข้อในธรรมหลาย ๆ ข้อในโอวาทปาฏิโมกข์

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=+%C1%CB%D2%BB%B7%D2%B9%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1


ถามว่าการประมาณในการบริโภคนั้นมีความหมายว่าอย่างไร?
ใน “คณกโมคคัลลานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) อธิบายว่า
“เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ คือพึงบริโภคอาหาร พิจารณาโดยแยบคายว่า
เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อจะประดับ มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลย
แต่เราบริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อบรรเทาความลำบาก
เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น ด้วยอุบายนี้ เราจะป้องกันเวทนาเก่า
ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความเป็นไปแห่งชีวิต ความไม่มีโทษ ความอยู่สบาย จักมีแก่เรา”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=1571&Z=1734


ในลักษณะของการบริโภค โดยพิจารณาอย่างแยบคายดังกล่าวนั้น
ใน “ปุตตมังสสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) ได้อธิบายไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามี ๒ คน ถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย

แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อย ๆ น่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง
เมื่อขณะทั้งสองคนกำลังเดินไปในทางกันดารอยู่
เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป
แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้
ครั้งนั้น เขาทั้งสองคนคิดตกลงกันอย่างนี้ว่า
เสบียงเดินทางของเราทั้งสองอันใดแลมีอยู่เล็กน้อย เสบียงเดินทางอันนั้นก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว
แต่ทางกันดารนี้ยังเหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้
อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อย ๆ คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจคนนี้เสีย
ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร
จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น
ถ้าไม่เช่นนั้น เราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่
ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อย ๆ คนเดียวผู้น่ารักน่าพอใจนั้นเสีย
ทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง
เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น
เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตรพลาง ค่อนอกพลางรำพันว่า
ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย
ดังนี้ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นอย่างไร
คือว่าเขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนองหรือเพื่อความมัวเมา
หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดาร่างกายใช่ไหม
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น
เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ใช่ พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็น “กวฬิงการาหาร” ว่า
(เปรียบด้วยเนื้อบุตร) ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ “กวฬิงการาหาร” ได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว
สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%BB%D8%B5%B5%C1%D1%A7%CA%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1


(ทั้งนี้ “กวฬิงการาหาร” หมายถึงอาหารคือคำข้าว ได้แก่
อาหารที่กลืนกินเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย หรืออาหารที่เป็นวัตถุ)


ที่กล่าวข้างต้นมาแล้วนั้น เป็นส่วนของการพิจารณาโดยแยบคาย
สำหรับในส่วนของปริมาณอาหารที่ไม่มากเกินไปนั้น
ในอรรถกถาของ “สัมปันนสูตร” ได้อธิบายว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
“ผู้รู้ประมาณในการฉันอาหาร เพราะความเป็นผู้มีปกติยังอัตภาพให้เป็นไปได้โดยการดื่มน้ำ

ทั้งๆ ที่ยังมีโอกาสฉันได้อีก ๔ - ๕ คำ ก็ละกามฉันท์ได้
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า ควรงดฉันข้าว ๔ - ๕ คำไว้แล้วดื่มน้ำ
เพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างสบายสำหรับภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=292


กล่าวคือ ในส่วนของปริมาณอาหารนี้ หากเราทานไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งเหลืออีก ๔ – ๕ คำก็จะอิ่มแล้ว ก็ให้หยุดอาหารไว้ ไม่ต้องทานต่อ
และดื่มน้ำลงไปแทน นั่นก็จะเป็นการทานในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในหลายคราว แม้เราอาจจะทานจนอิ่มแน่นแล้วก็ตาม
หลังจากนั้นเราก็ยังสั่งขนมหรือของหวานมาทานเพิ่มลงไปอีก
ผมเคยได้ฟังบางท่านคุยขำ ๆ ว่า “กินได้อีก เพราะยังมีเนื้อที่สำรองเหลืออยู่ในท้อง”
หรือบางท่านเสียดายอาหารที่เหลือก็บอกว่า “กินต่อไปนะ ท้องแตกดีกว่าของเหลือ”
(กรณีหลังนี้ก็ออกไปในแนวทางของ “ชูชก” ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกเสียแล้ว)
แล้วเราก็ทานไปเรื่อย ๆ และไปหยุดก็ต่อเมื่อทานต่อไปอีกไม่ไหวแล้วจริง ๆ
โดยลักษณะอย่างนั้น ก็ถือว่าทานในปริมาณที่เยอะเกินพอดีครับ

ถ้าจะทานในปริมาณที่พอดีก็คือ ต้องหยุดตั้งแต่เหลือ ๔ – ๕ คำก่อนจะอิ่ม
แล้วก็ทานน้ำลงไปแทน ถือว่าเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างสบาย (สำหรับผู้มีใจเด็ดเดี่ยว)


ในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ได้เล่าถึงเรื่องพราหมณ์ตะกละ ๕ คน
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอยู่ไม่ผาสุกเพราะการบริโภค ดังต่อไปนี้
พราหมณ์ชื่อ “อาหารหัตถกะ” บริโภคมากไม่อาจลุกขึ้นได้ตามธรรมดาของตน ต้องให้คนอื่นช่วยฉุดมือ
พราหมณ์ชื่อ “อลังสาฏกะ” บริโภคอาหารมากแม้จะลุกขึ้นได้แต่ไม่อาจนุ่งผ้าได้
พราหมณ์ชื่อ “ตัตถวัฏฏกะ” บริโภคมากไม่สามารถลุกขึ้นได้ ย่อมกลิ้งอยู่ที่นั้นนั่นแหละ
พราหมณ์ชื่อ “กากมาสกะ” บริโภคมากจนล้นถึงปาก จนถึงพวกกาอาจจิกกินได้
พราหมณ์ชื่อ “ภุตตวมิตกะ” บริโภคมากจนไม่อาจหุบปากได้ ย่อมอาเจียนในที่นั้น
และกล่าวสรุปว่า ภิกษุย่อมไม่ทำเช่นนั้น แต่ย่อมฉันอาหารด้วยคิดว่า การอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา
การที่ท้องพร่องด้วยคำข้าว ๔-๕ คำ ชื่อว่าการเป็นอยู่ผาสุก
เพราะเมื่อภิกษุบริโภคอาหารเพียงนี้แล้วดื่มน้ำ อิริยาบถ ๔ ย่อมเป็นไปโดยสะดวก
และสมควรเพื่อความเป็นอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีจิตเป็นไปในกรรมฐาน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34&i=836


นอกจากเรื่องปริมาณอาหารแล้ว ลักษณะอาหารก็มีผลอยู่ด้วยเช่นกัน
โดยใน “อนายุสสสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้กล่าวถึงธรรม ๕ ประการที่เป็นเหตุให้อายุสั้น โดยหนึ่งข้อในนั้นคือ “บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก”

และกล่าวถึงธรรม ๕ ประการที่เป็นเหตุให้อายุยืน โดยหนึ่งข้อในนั้นคือ “บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย”
ฉะนั้นแล้ว เราก็พึงควรที่จะบริโภคสิ่งที่ย่อยง่ายครับ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=3384
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=3395


ในส่วนที่ว่าอะไรบ้างย่อยง่าย อะไรบ้างย่อยยาก ท่านสามารถค้นข้อมูลจาก google ได้ครับ
อนึ่ง การปฏิบัติข้อหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยทำให้อาหารย่อยง่ายขึ้น ก็คือการเคี้ยวให้ละเอียด

โดยในแต่ละคำนั้น เราควรจะเคี้ยวให้ละเอียดก่อนที่จะกลืน
เช่นเคี้ยวให้ได้สัก ๓๐ ถึง ๕๐ ครั้งก่อนที่จะกลืน ก็จะช่วยให้อาหารละเอียดและย่อยง่าย
นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารมากครั้งย่อมจะทำให้เราทานน้อยกว่าการเคี้ยวอาหารน้อยครั้งอีกด้วย


เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว รายละเอียดน่าจะไม่เยอะเกินไปนะครับ
อย่างไรก็ดี บางท่านอ่านแล้ว อาจจะเริ่มท้อใจว่าจะทำได้แน่หรือ ทำยังไงจึงจะทำได้สำเร็จ?
ใน “โทณปากสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระสุธาหารหุงด้วยข้าวสารหนึ่งทะนานแล้วทรงอึดอัด

จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเสวยแล้วทรงอึดอัด จึงได้ทรงพระคาถาว่า

“มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา
ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน”


ในเวลานั้น มาณพชื่อ “สุทัศนะ” ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสเรียกสุทัสสนมาณพมารับสั่งว่า
“เจ้าสุทัศนะ เจ้าจงเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วจงกล่าวในเวลาเราบริโภคอาหาร เราจะให้นิตยภัตแก่เจ้าวันละ ๑๐๐ กหาปณะทุกวัน”
สุทัสสนมาณพเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วกล่าวในเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารทุกคราว
ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าดี
ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้ง ๒ คือ
ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=2631&Z=2656&pagebreak=0


ฉะนั้นแล้ว คำตอบสำหรับข้อสงสัยว่า “จะทำได้แน่หรือ ทำยังไงจึงจะทำได้สำเร็จ?
ก็คือตอบว่า “ทำได้แน่ครับ โดยวิธีการคือ เราพึงเป็นผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในการบริโภค”
ถ้าเรามีสติระลึกตนเองไม่ได้ ก็อาจจะหากัลยาณมิตรมาคอยช่วยเตือน
หรือเราอาจจะตั้งนาฬิกาปลุกไว้ในโทรศัพท์มือถือไว้คอยเตือนตนเองในเวลาอาหารก็ได้เช่นกันครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP