กระปุกออมสิน Money Literacy

๑ ล้านแรก ทำได้ไม่ยาก


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger



สำหรับมนุษย์ปุถุชนผู้ซึ่งไม่ได้เกิดมาบนกองทอง ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง เป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือเจ้าของกิจการเล็กๆน้อยๆ การจะเก็บเงินให้ได้แต่บาทแต่ละสตางค์ ดูเหมือนจะเป็นความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ภาระค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือน ดูมันจะวิ่งด้วยอัตราเร่งที่แซงหน้าเงินเดือนแบบไม่เห็นฝุ่น



ลองมานั่งกางค่าใช้จ่ายกันดู ก็จะพบค่าใช้จ่ายในหัวข้อหลักๆอยู่ ๔ ประเด็น
๑. ค่าอาหาร
๒. ค่าสาธารณูปโภค และค่าโทรศัพท์รายเดือน
๓. ค่าเดินทาง
๔. ค่าใช้จ่ายจิปาถะ (ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง)


ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดมากก็ได้แก่ค่าใช้จ่ายจิปาถะนั้นเอง


มหาเศรษฐีหุ้นผู้ที่รวยติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟต เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าคุณมัวแต่สะสมของที่ไม่จำเป็น ซักวันคุณจะต้องขายสิ่งที่มันจำเป็นซึ่งผมมองว่า เป็นคำพูดที่ตรงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น หากหนุ่มวัยเริ่มทำงานคนหนึ่งอยากได้นาฬิกาเรือนละเป็นแสนซักเรือน ในขณะที่เงินเดือนแค่สองหมื่นต้นๆ รู้ว่าไม่มีเงินเหลือ เลยไปกู้มาซื้อ แล้วยอมโดนจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง คำถามคือ วัตถุประสงค์ของนาฬิกา คืออะไรครับ? นาฬิกาเรือนแสน กับเรือนหลักพัน ก็บอกเวลาได้เหมือนกัน ยิ่งเมื่อเทียบกับความสามารถในการหารายได้แล้ว ยิ่งไม่ควรกู้เงินมาซื้อด้วยซ้ำ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริงกับใครซักคน ผมว่า ผู้อ่านก็คงรู้สึกเหมือนผมว่า นายคนนี้เดือดร้อนแน่ๆในอนาคต หากจิตใจยังไม่ยอมปล่อยตัวเองออกจากนาฬิกาเรือนแสนบนข้อมือนั้นไปได้


ปัญหาแท้จริงแล้ว เกิดจาก การไม่รู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ จึงไม่สามารถใช้สติมากำกับว่า สิ่งไหนควรซื้อสิ่งไหนไม่ควรซื้อ เห็นไหมว่า เราโชคดีนะครับ ที่เกิดมาในยุคที่ยังมีพุทธศาสนาอยู่ สอนให้รู้กายรู้ใจ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวได้


จะเห็นว่า ได้เงินเดือนมา เราก็ต้องมานั่งต่อสู้กับกิเลส ซึ่งเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน วนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มารู้ตัวอีกที อายุปาเข้าไปเลขสาม เลขสี่ ยังไม่มีเงินเก็บเลย แบบนี้ผมขอเรียกว่า สัญญาณอันตราย


ค่าใช้จ่ายระหว่างทาง ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเงินให้ได้ซักล้านหนึ่งนะครับ แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เคยบอกกับผมไว้ว่า ตอนหาเงิน ยากที่สุดก็คือ ล้านแรกนี่เอง ถ้าผ่านได้เมื่อไหร่ ล้านที่สอง ล้านที่สาม มันง่ายกว่าล้านแรกเยอะเลย พอเวลาผ่านมา ก็เหมือนว่าจะจริงนะครับ เพราะในช่วงแรกที่เรามีรายได้ เราไม่รู้ว่า ต้องเก็บยังไง ต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่คอยจะดึงเงินจากกระเป๋าเรายังไง แถมไม่รู้จักวิธีการลงทุนให้เงินของเราทำงาน มันก็ย่อมติดขัดเป็นธรรมดา แต่พอเจอทางที่ถูกต้อง ปรับนิสัยตัวเอง หาความรู้ หาช่องทางการลงทุน และวางแผนในระยะยาวไว้อย่างดี อะไรมันก็ดูเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที


ซึ่งเมื่อสำรวจตัวเอง ผมก็เคยสงสัยว่า ทำไมปัญหาในช่วงแรกๆของการออมเงินมันถึงหายไป ก็พบคำตอบที่หามานาน นั้นก็คือ เรามองว่าการออมเงิน และการเก็บเงินมันมีปัญหา ก็เพราะว่า เราวาดเป้าหมายไว้ไม่ใหญ่พอ


ที่ว่า เป้าหมายไม่ใหญ่พอ หมายความว่ายังไง? สมมตินะครับ มีเพื่อนมาท้าแข่งกันวิ่ง ๔๐๐ เมตรกัน เราก็สนใจ เลยขอดูเงื่อนไขว่า ถ้าชนะ จะได้อะไร? เพื่อนก็บอกว่า ถ้าเราชนะ จะให้เงินเรา ๕ บาท ... พอได้ยินแค่นั้นก็ถอดใจเลย พร้อมกับบ่นออกมาว่า ใครจะมาตั้งหน้าตั้งตาวิ่งตั้งเกือบครึ่งกิโล เพียงเพื่อเงินแค่ ๕ บาทกัน


แต่ลองกลับกันนะครับ สมมติว่า เงินรางวัลที่จะได้หากวิ่งชนะ ก็คือ ๕,๐๐๐ บาท รับรอง คราวนี้วิ่งลืมตายเลย ไม่คิดถึงอุปสรรคว่า แดดจะร้อนไหม วิ่งไกลไปจะเหนื่อยหรือเปล่า คิดอย่างเดียว อยากได้ ๕,๐๐๐ บาท!!!


ดังนั้น วิธีการปรับวินัยการเงิน เพื่อเก็บเงินให้ได้ล้านแรกนั้น ต้องเริ่มจาก ปรับเป้าหมายใหญ่ขึ้น ใหญ่ให้มากพอที่เราจะมองข้ามอุปสรรค และความลำบากของการอดออมให้ได้ คิดถึงความสบายของพ่อแม่ คิดถึงลูก คิดถึงภรรยา คิดถึงความมั่นคงของชีวิต คิดถึงการใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท


ถ้าทำได้ละก็ พฤติกรรมการใช้เงินของเราจะเปลี่ยน เพราะเป้าหมายของเรามันใหญ่จนปัญหาเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที นี่ละครับ เคล็ดลับ ๑ ล้านแรกของผม

 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP