จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อย่างไรจึงเรียกว่าเจริญ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



125 destination


เวลาที่ได้ดูข่าวหรืออ่านบทความข่าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ผมเคยได้ฟังบางท่านแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศให้เจริญ
โดยก็แนะนำว่า ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ประเทศจึงจะเจริญ และจึงจะดี
หากทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้ ประเทศก็ไม่เจริญและก็ไม่ดี
แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่าเจริญหรือไม่เจริญนั้น ล้วนแล้วแต่พิจารณาจากวัตถุและทุน
ใช้การพัฒนาทางวัตถุและทุนเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเจริญเท่านั้น

โดยที่ไม่ได้ใช้จิตใจเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเจริญบ้างเลย


หากเราจะพิจารณาเปรียบเทียบกันว่าความเจริญทางจิตใจ กับความเจริญทางวัตถุและทุน
อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน
? เราสามารถพิจารณากันได้ไม่ยาก
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรามีลูกสาว และลูกสาวเรากำลังจะแต่งงานมีสามี
เราจะแนะนำให้ลูกสาวเราเลือกแต่งงานกับชายคนไหนระหว่าง
ชายคนแรกมีฐานะไม่ร่ำรวย มีทรัพย์สินน้อย แต่ว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม
ประกอบอาชีพสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดและอบายมุข
กับชายคนที่สองมีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สินมากมาย แต่เป็นคนชั่วไม่มีศีลธรรม
ร่ำรวยจากอาชีพทุจริต คดโกง โกหกเชื่อถือไม่ได้ ชอบทำร้ายทุบตีลูกสาวเรา
เจ้าชู้หลายใจมีชู้มีกิ๊กมากมาย แถมยังติดยาเสพติด และหมกมุ่นในอบายมุข
ซึ่งถ้าเราตอบว่า แนะนำให้เลือกชายคนแรกแล้ว

ย่อมแสดงว่าความเจริญทางจิตใจสำคัญกว่าความเจริญทางวัตถุและทุนนะครับ


อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเรากำลังจะมีเพื่อนบ้านมาอยู่ใหม่ข้างบ้านเรา
เราอยากจะได้เพื่อนบ้านประเภทไหนระหว่าง

เพื่อนบ้านประเภทแรก มีฐานะไม่ร่ำรวย มีทรัพย์สินไม่มาก แต่ว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม
ประกอบอาชีพสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดและอบายมุข
กับเพื่อนบ้านประเภทที่สอง มีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สินมากมาย แต่เป็นคนชั่วไม่มีศีลธรรม
ร่ำรวยจากอาชีพทุจริต คดโกง ลักขโมย ชอบประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่น
โกหกพกลมเชื่อถือไม่ได้ ติดยาเสพติด และหมกมุ่นในอบายมุข
ซึ่งถ้าเราตอบว่า เลือกเพื่อนบ้านประเภทแรกแล้ว

ย่อมแสดงว่าความเจริญทางจิตใจสำคัญกว่าความเจริญทางวัตถุและทุนครับ


ในทำนองเดียวกันนะครับ สำหรับประเทศชาติหรือสังคมแล้ว
ความเจริญทางจิตใจก็สำคัญกว่าความเจริญทางวัตถุและทุนเช่นกัน
สมมุติว่าประเทศชาติหรือสังคมมีความเจริญทางวัตถุและทุนเป็นอย่างมาก

แต่ว่าทุกคนในประเทศล้วนแล้วแต่เป็นคนไร้ศีลธรรม เบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน คดโกงกัน
ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวงกัน หมกมุ่นมัวเมาในสุรา ยาเสพติด หรืออบายมุข ฯลฯ
ถามว่าเราอยากจะอยู่ในประเทศชาติหรือสังคมนั้นไหม?
เปรียบเทียบกับประเทศชาติหรือสังคมที่อาจจะไม่ได้เจริญทางวัตถุและทุนมากนัก

แต่ว่ามีความเจริญทางศีลธรรม ทุกคนไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่คดโกงกัน
ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่หลอกลวงกัน ไม่หมกมุ่นมัวเมาในสุรา ยาเสพติด หรืออบายมุข
จะเห็นได้ว่าเราย่อมจะเลือกให้ความสำคัญกับความเจริญทางจิตใจมากกว่าเช่นกัน



ทีนี้ เราลองย้อนกลับมาพิจารณาที่ระดับตัวบุคคลคือ ย้อนกลับมาพิจารณาที่ตัวเราเอง
เราก็พึงพิจารณาชีวิตเราเองว่า ชีวิตเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาอะไรมากกว่ากัน
เราให้ความสำคัญและทุ่มเทกับการพัฒนาทางวัตถุและทุน (ซึ่งเป็นสิ่งมีคุณค่าน้อยกว่า) เพียงไร
และเราให้ความสำคัญและทุ่มเทกับการพัฒนาทางจิตใจ (ซึ่งเป็นสิ่งมีคุณค่ามากกว่า) เพียงไร
ถ้าเราบอกกับคนอื่นในครอบครัวเราและสังคมเราว่า การพัฒนาทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ
เราอยากจะให้ครอบครัวเราและสังคมเรามุ่งพัฒนาทางจิตใจเป็นสำคัญด้วย
แต่ว่าเราเองกลับไปมุ่งพัฒนาทางวัตถุและทุนเป็นสำคัญ เช่นนั้นก็คงจะไม่เหมาะสม


หากเราจะพิจารณาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ใน “วัฑฒิสูตรที่ ๑” และ “วัฑฒิสูตรที่ ๒” ได้สอนว่า
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก (หรืออริยสาวิกา) ผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการ
ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ
ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือสิ่งประเสริฐแห่งกาย
ธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน?
คือย่อมเจริญด้วยศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยสุตะ
ย่อมเจริญด้วยจาคะ ย่อมเจริญด้วยปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก (หรืออริยสาวิกา) ผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการนี้แล
ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ
ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือสิ่งประเสริฐแห่งกาย
อริยสาวก (หรืออริยสาวิกา) ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา
อริยสาวก (หรืออริยสาวิกา) ผู้เช่นนั้นเป็นสัปบุรุษมีปรีชาเห็นประจักษ์
ชื่อว่าย่อมยึดถือสาระแห่งตนในโลกนี้ไว้ได้ทีเดียว
(“วัฑฒิสูตรที่ ๑”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=1850
“วัฑฒิสูตรที่ ๒”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=1863)


ใน “ปราภวสูตร” ได้สอนถึงบุคคลผู้เจริญ บุคคลผู้เสื่อม และทางแห่งความเสื่อมไว้ว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)


ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม
ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๑


คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจ
ธรรมของอสัตบุรุษนั้นเป็นทางของคนเสื่อม ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๒


คนใดชอบนอน ชอบคุย ไม่หมั่น เกียจคร้าน โกรธง่าย ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๓


คนใดสามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๔


คนใดลวงสมณะพราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่นด้วยมุสาวาท ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๕


คนมีทรัพย์มาก มีเงินทองของกิน กินของอร่อยแต่ผู้เดียว ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๖


คนใดหยิ่งเพราะชาติ หยิ่งเพราะทรัพย์ และหยิ่งเพราะโคตร ย่อมดูหมิ่นญาติของตน
ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๗


คนใดเป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา และเป็นนักเลงการพนัน ผลาญทรัพย์ที่ตนหามาได้
ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๘


คนไม่สันโดษด้วยภริยาของตน ประทุษร้ายในภริยาของคนอื่น
เหมือนประทุษร้ายในหญิงแพศยา ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๙


ชายแก่ได้หญิงรุ่นสาวมาเป็นภริยา ย่อมนอนไม่หลับ เพราะความหึงหวงหญิงรุ่นสาวนั้น
ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๑๐


คนใดตั้งหญิงนักเลงสุรุ่ยสุร่าย หรือแม้ชายเช่นนั้นไว้ในความเป็นใหญ่
ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๑๑


บุคคลผู้เกิดในสกุลกษัตริย์ มีโภคทรัพย์น้อย มีความมักใหญ่ปรารถนาราชสมบัติ
ข้อนี้เป็นความเสื่อมที่ ๑๒


บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยความเห็นอันประเสริฐ พิจารณาเห็นคนเหล่านี้เป็นผู้เสื่อมในโลก
ท่านย่อมคบคนผู้เจริญ
(http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7218&Z=7291)


อย่างไรก็ดี สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นฆราวาสนั้น
การมีวัตถุหรือมีทุนนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะครับ โดยถือว่าเป็นกำลังของฆราวาส
แต่ไม่ได้หมายความว่าวัตถุหรือทุนเหล่านั้นจะนำพาให้เราไปสู่สุคติด้วย
ในทางกลับกัน ศีลธรรมเป็นสิ่งที่จะนำพาให้เราไปสู่สุคติได้
โดยใน “เหตุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) ได้สอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของมาตุคาม ๕ ประการนี้

๕ ประการเป็นไฉน? กำลังคือรูป ๑ กำลังคือโภคะ ๑ กำลังคือญาติ ๑
กำลังคือบุตร ๑ กำลังคือศีล ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามเมื่อแตกกายตายไป
จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกำลังคือรูปเป็นเหตุ เพราะกำลังคือโภคะเป็นเหตุ
เพราะกำลังคือญาติเป็นเหตุ หรือเพราะกำลังคือบุตรเป็นเหตุนั้น หามิได้
แต่ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกำลังคือศีลเป็นเหตุ”
(http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=6530&Z=6539&pagebreak=0)


โดยสรุปแล้ว ในสถานการณ์โลกที่กระแสวัตถุและทุนเชี่ยวกรากอย่างรุนแรงในปัจจุบันนี้
เราพึงจะใช้เวลาทบทวนให้ดีครับว่า การพัฒนาทางจิตใจสำคัญกว่าจริงหรือไม่
ถ้าการพัฒนาทางจิตใจสำคัญกว่าจริงแล้ว
เราเองได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางจิตใจเพียงไร
และได้ทุ่มเทเวลาเพื่อการดังกล่าวเพียงไร
ไม่เช่นนั้นแล้ว เท่ากับว่าเราเอาเวลาส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดในชีวิตเรา

ไปทุ่มเทพัฒนาทางวัตถุและทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญน้อยกว่าครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP