จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อิ่มเหนือกว่า อิ่มนานกว่า


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



124 destination



เมื่อไม่นานมานี้ ภรรยาได้ให้ผมพาเธอไปจังหวัดชายทะเลแห่งหนึ่ง
โดยเธอเป็นผู้กำหนดสถานที่ทั้งหมดที่เราจะเดินทางไป
ส่วนผมก็มีหน้าที่ขับรถตามคำสั่งของเธอเท่านั้น
ซึ่งในช่วงที่อยู่ระหว่างเดินทางไปจังหวัดชายทะเลดังกล่าว
ผมได้ถามภรรยาว่า “เราจะไปทานอาหารเที่ยงที่ร้านไหน?
เธอตอบว่า เลือกร้านไว้เรียบร้อยแล้ว ร้านชื่อนี้ และเรายังไม่เคยไปเลยด้วย
ร้านตั้งอยู่ที่ตรงนี้ และมีอาหารแนะนำคือ อันนี้ อันนั้น อันโน้น
ผมบอกว่า โอเค ลองไปดูก็แล้วกัน เพราะก็ไม่เคยไปนี่นะ


พอไปถึงที่ร้าน ผมจอดรถ และเราเดินเข้ามาในบริเวณร้านอาหารแล้ว
ผมเห็นบ่อพลาสติกหลายบ่อ พอเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็เห็นปลา กุ้ง และปูม้าในบ่อ
ปูม้าในบ่อนี้น่าสงสารกว่าเพื่อนนะครับ เพราะโดนมัดด้วยหนังยาง ทำให้ขยับก้ามไม่ได้
เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว ผมก็หันมาบอกภรรยาว่า
“ในส่วนของรายการอาหารนั้น ไม่สั่งปลา กุ้ง และปูนะ”
ภรรยาได้ฟังแล้ว เธอก็อุทาน “หา นั่นคือรายการอาหารแนะนำทั้งนั้นเลยนะ”

ผมจึงบอกเธอไปว่าผมไม่กินนะ แต่ถ้าเธอจะสั่ง เธอก็ต้องกินคนเดียว


ภรรยาผมได้ฟังดังนั้นแล้วก็บอกว่า “งั้น เราก็สั่งอย่างอื่นก็แล้วกัน”
ปรากฏว่าแทนที่เราจะได้ทานอาหารแนะนำกันในวันนั้น
ก็กลายเป็นว่า รายการอาหารคือ ซี่โครงหมูบาร์บีคิว

เกี้ยวปลาลวก แกงส้มผักรวม และข้าวผัดกุ้ง
(ในตอนแรก ผมสั่งข้าวผัดปู แต่เนื้อปูหมด จึงสั่งข้าวผัดกุ้ง ซึ่งเป็นกุ้งเล็กตายแล้ว)
แล้วก็ตามด้วยขนมเค้กอีก ๒ ชิ้นมาแบ่งกัน


คราวนี้ยังถือว่ามีอาหารทางเลือกเยอะนะครับ
มีอยู่คราวหนึ่งที่ผมเดินทางไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดชายทะเลอีกแห่งหนึ่ง
ครอบครัวญาติดังกล่าวก็พาผมไปทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

ซึ่งปรากฏว่ารายการที่ร้านนั้นมีแต่อาหารทะเลเป็น ๆ ทั้งนั้นเลย ไม่มีทางเลือกเท่าไร
ผมฟังรายการอาหารที่ญาติสั่งกันแล้ว ผมก็ขอสั่งข้าวผัดปูหรือข้าวผัดกุ้งมาเพิ่ม
พนักงานก็บอกว่าไม่มีเนื้อปูหรือกุ้งเล็กนะ โดยก็มีแต่ปูเป็นและกุ้งเป็นตัวใหญ่เท่านั้น
แต่ก็สามารถนำมาทำเป็นข้าวผัดให้ได้เช่นกัน
ผมได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงถามว่า “มีไก่ไหม? ขอสั่งผัดกระเพราไก่”
(พนักงานก็ทำหน้าฉงนนะครับว่า ผมมาร้านแถวชายทะเล แต่อยากจะกินผัดกระเพราไก่)
พนักงานก็ตอบว่า “ไม่มีไก่คะ มีแต่หมู”
ผมก็บอกว่า “ใช้ได้ ขอผัดกระเพราหมู และผัดผักบุ้งมาด้วย”
โดยในวันนั้นครอบครัวญาติและคนอื่น ๆ ก็ทานอาหารทะเลกัน
ส่วนผมก็ทานผัดกระเพราหมู และผัดผักบุ้ง ทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่ที่ร้านอาหารแถวชายทะเล


สำหรับบางท่านที่อาจจะสงสัยว่า ทำไมเราจึงไม่ควรทานอาหารทะเลเป็น ๆ?
ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปฆ่าสัตว์นั้น ๆ จึงไม่น่าจะถือว่าเราทำผิดศีลอะไรหรือเปล่า
ในประเด็นนี้ ผมก็ขอเรียนว่า ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ท่านได้ทรงห้ามทานเนื้อสัตว์ใน ๓ จำพวกคือ
เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน และเนื้อที่ตนรังเกียจ
กล่าวคือได้เห็น หรือได้ยิน (ทราบ) หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเรา
โดยคำสอนนี้อยู่ใน “ชีวกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) ซึ่งเล่าว่า

ในสมัยหนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ไปเข้าเฝ้าและกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมาว่า
ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม
พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ แต่ก็ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน
ดังนี้ ถือว่าเป็นการกล่าวโดยชอบธรรมหรือไม่?


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตอบว่า ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่
ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน
ดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้
แต่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง


ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ
คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ
ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล


ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=13&A=950


ในอรรถกถาของ “ชีวกสูตร” ได้อธิบายเพิ่มเติมดังนี้ว่า
ภิกษุเห็นคนทั้งหลายถือตาข่ายและแห เป็นต้น ออกไปจากบ้านหรือกำลังเที่ยวอยู่ในป่า
ในวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น
คนเหล่านั้นก็นำอาหารที่มีเนื้อปลามาถวาย
ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยโดยการเห็นนั้นว่า
เนื้อปลาเขาทำมาเพื่อประโยชน์แก่ (คือฆ่าสัตว์เพื่อ) ภิกษุทั้งหลายหรือ
กรณีนี้ย่อมชื่อว่าสงสัย (หรือรังเกียจ) โดยการเห็น การรับอาหารนั้น ย่อมไม่ควร
อาหารใดที่ภิกษุไม่ได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร


อีกกรณีหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายไม่ได้เห็นดังนั้นเลย
แต่ได้ยินมาว่า คนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น ออกไปจากบ้านหรือเที่ยวไปในป่า
ในวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น
คนเหล่านั้นก็นำอาหารที่มีเนื้อปลามาถวาย
ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยโดยการได้ยินนั้นว่า
เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ (คือฆ่าสัตว์เพื่อ) ภิกษุทั้งหลายหรือ
กรณีนี้ชื่อว่าสงสัย (หรือรังเกียจ) โดยการได้ยินมา การรับอาหารนั้น ย่อมไม่ควร
อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้น การรับอาหารนั้นก็ควร


อีกกรณีหนึ่ง ภิกษุไม่เห็น ไม่ได้ยินมา แต่เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น
คนทั้งหลายรับบาตรเอาไปใส่อาหารที่มีเนื้อปลานำไปถวาย
ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ (คือฆ่าสัตว์เพื่อ) ภิกษุทั้งหลายหรือ
กรณีนี้ชื่อว่าสงสัย (หรือรังเกียจ) นอกไปจากทั้ง ๒ อย่างนั้น การรับอาหารนั้น ก็ไม่ควร
อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้น การรับอาหารนั้นก็ควร


ในทั้ง ๓ กรณีข้างต้น ถ้าหากคนเหล่านั้นถามว่า เหตุใด พระคุณเจ้าจึงไม่รับอาหาร
เมื่อฟังคำตอบของพวกภิกษุแล้ว คนเหล่านั้นได้กล่าวว่า
อาหารนี้พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ (คือฆ่าสัตว์เพื่อ) ภิกษุทั้งหลาย
แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการ เป็นต้น ต่างหาก
หรือว่าพวกเราได้ “ปวัตตมังสะ” (เนื้อที่เขามีอยู่แล้ว) เป็นของกัปปิยะ (ควร) ทั้งนั้น
จึงตกแต่งเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย การรับอาหารนั้นก็ควร
ในกรณีของอาหารที่เขาทำเพื่อประโยชน์เป็นเปตกิจ (อุทิศ) สำหรับคนที่ตายไปแล้ว
หรือเพื่อประโยชน์แก่การมงคลเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน
โดยอาหารใด ๆ ที่เขามิได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่ (คือฆ่าสัตว์เพื่อ) ภิกษุทั้งหลาย
และภิกษุทั้งหลายก็มิได้เคลือบแคลง สงสัยในอาหารนั้น การรับอาหารนั้นทุกอย่างก็ควร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=56


บางท่านอาจจะมองว่าอย่างนี้ เราก็ทานอาหารเป็น ๆ ไม่ได้น่ะสิ
เพราะว่าเราเป็นคนสั่ง หรือคนอื่นเป็นคนสั่งก็ดี
เราก็ย่อมจะทราบดีว่าคนอื่นได้ฆ่าสัตว์นั้น ๆ เพื่อเรา
ผมก็ขอตอบว่า “ถูกต้องแล้วครับ”
ถ้าเราจะมุ่งเน้นรักษาศีลแล้ว เวลาไปทานอาหารทะเลที่ร้านไหนก็ตาม
เราก็พึงสังเกตให้ดีหรือสอบถามให้ชัดเจนว่าเป็นอาหารทะเลเป็น ๆ หรือไม่


บางท่านอาจจะบอกว่า อย่างนี้เราไปร้านอาหารชายทะเลทั้งทีแล้ว
แต่เราก็ทานอาหารไม่อร่อย หรืออาจจะทานไม่อิ่มน่ะสิ เพราะทานอาหารเป็นไม่ได้
ในส่วนนี้ ผมก็ขอเรียนว่า เราก็ทานอิ่มนะครับ แต่ว่าอิ่มกันไปคนละแบบ
ถ้าได้ทานอาหารทะเลเป็น ๆ บางท่านก็อาจจะรู้สึกว่า “อิ่มอร่อย”
ส่วนเราทานอาหารอื่น ๆ นั้น อาจจะไม่ได้อิ่มอร่อยเหมือนกัน
แต่ว่าเรา “อิ่มใจ” นะครับว่า เราได้รักษาศีลของเราไม่ให้ด่างพร้อย
ซึ่งเป็นความอิ่มที่เหนือกว่า และอิ่มได้นานกว่าครับ


ถามว่าเหนือกว่าอย่างไร นานกว่าอย่างไร?
ขออธิบายว่า ความอิ่มอร่อยของรสชาติอาหารนั้น อยู่ได้ไม่นาน
เราทานเข้าไปในปากแต่ละคำ เพียงไม่นาน ความอร่อยนั้นก็หายไปแล้ว
และเราก็ต้องตักคำใหม่ใส่ปากเรา เพื่อที่จะทานให้อร่อยใหม่อีก
พอเราทานอิ่มในมื้อนั้นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป เราก็หิวอีก และก็ต้องทานมื้อต่อไปอีก
ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ระลึกถึงอาหารอร่อยมื้อพิเศษนั้นทีไร

ก็ทำให้เราเกิดความอยากหรือเกิดความโลภที่อยากจะต้องได้ทานอร่อยอีก
หรือทานอย่างอื่นที่รสชาติอร่อยกว่านั้น หรือมีรสชาติแตกต่างจากนั้น


ในส่วนของความอิ่มใจในการที่ได้รักษาศีลนั้น ไม่ได้ทำให้เราหิวนะครับ
และเมื่อไรก็ตามที่เราระลึกถึงศีลที่เราได้รักษาไว้ดีแล้ว (หรือที่เรียกว่า “สีลานุสติ”)
เราก็ย่อมจะมีปีติ อิ่มอกอิ่มใจ โดยไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาอะไรมาสนองความอยาก
และเมื่อเราได้ระลึกเมื่อใด เราก็มีความปีติใจเมื่อนั้น แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงไร
เช่นนี้แล้ว เราจึงบอกได้ว่าแม้เราจะไม่ได้ทานอาหารเป็น ๆ เหล่านั้นก็ตาม
แต่เราก็อิ่มเหนือกว่า และอิ่มนานกว่าการได้ทานอาหารเป็น ๆ นั้น ๆ เสียอีกครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP