จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เศรษฐกิจพอเพียง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



123 destination



เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้อ่านบทความเรื่องหนึ่งกล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งคนเขียนบทความนั้นไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
โดยได้วิจารณ์ไปผิดทิศผิดทางในลักษณะที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้


ในบทความนั้นเล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนทำงาน
โดยเธอต้องตื่นแต่เช้า นั่งมอเตอร์ไซด์ออกมาเพื่อต่อเรือ
จากนั้น ก็ต่อรถเมล์อีก ๒ ต่อ กว่าจะถึงที่ทำงานทุกวัน
เธอบอกว่า สมมุติให้อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
ต้องมาใช้ชีวิตอย่างเธอบ้าง กล่าวคือให้นั่งมอเตอร์ไซด์ไปต่อเรือ แล้วต้องไปต่อรถเมล์
พอถึงทำเนียบรัฐบาลแล้ว ก็ให้เปิดพัดลมและอย่าเปิดแอร์
เขาจะได้รู้เสียบ้างว่า ชีวิตนี้มันยังพอเพียงไม่ได้
มันต้องดิ้นรนให้ชีวิตดีขึ้น จะได้สบายตามสมควร
ในบทความเขาเล่าทำนองนี้นะครับ


นอกจากในบทความนี้แล้ว ผมยังเคยได้ฟังบางท่านกล่าวว่า
เศรษฐกิจพอเพียงนั้นสอนให้ยากจนว่าความยากจนเป็นสิ่งที่ดี โดยไม่ได้สอนให้รวย
ท่านที่กล่าวในลักษณะนี้ก็คือไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเหมือนกันครับ


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเราจะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ดี
ถ้าหากเรามีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในทางธรรม
แต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในทางธรรม
และเราไหลไปตามกระแสโลก และทุนนิยมไปอย่างเต็มตัวแล้ว
ก็ยอมจะเป็นการยากที่จะเข้าใจหรือยอมรับในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


อนึ่ง เราพึงทราบว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นี้
ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ
ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย และนานาประเทศ
และองค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกนำมาเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


ถ้าเราใช้เวลาศึกษาอ่านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ เช่น
อ่านข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย (สารานุกรมเสรี) ก็ดี
http://th.wikipedia.org/wiki/เศรษฐกิจพอเพียง
หรือข้อมูลจากเว็บไซต์ของโครงการการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ก็ดี
http://www.sufficiencyeconomy.org/images/suff/suff-econ-.pdf
หรือเว็บไซต์อื่น ๆ ที่มีข้อมูลเพียงพอ และน่าเชื่อถือนะครับ
เราจะพบว่าภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น
“ความพอเพียง” มีคุณลักษณะ ๓ ประการและอยู่บนเงื่อนไข ๒ ประการ
โดยคุณลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่
๑. “ความพอประมาณ” หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป

โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. “ความมีเหตุผล” หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น
จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
๓. “การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว” หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ
และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ
ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล


ในส่วนเงื่อนไข ๒ ประการนั้น ได้แก่
๑. “เงื่อนไขความรู้” ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน
และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
๒. “เงื่อนไขคุณธรรม” ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต
มีความอดทน มีความเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต


เราจึงจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีรายละเอียดที่จะต้องทำความเข้าใจอยู่มากพอสมควร
ไม่ใช่ว่าฟังแค่ชื่อผ่าน ๆ แล้วก็บอกว่า เข้าใจแล้ว
โดยเข้าใจว่าหมายถึง มีเท่าไรก็พอใจแค่นั้น ไม่ต้องไปทำอะไรมากมาย
ปล่อยให้ตัวเองจนและลำบากไปเรื่อย แล้วก็บอกว่าพอแล้ว
อย่างนั้นย่อมเป็นการเข้าใจผิดนะครับ



ยกตัวอย่างถึงเรื่องในบทความที่กล่าวในตอนต้นนะครับ
อย่างผู้หญิงคนนั้นต้องไปทำงานอย่างลำบาก ต้องตื่นแต่เช้า
นั่งมอเตอร์ไซด์ออกมาเพื่อต่อเรือ แล้วต่อรถเมล์อีก ๒ ต่อ เพื่อจะไปที่ทำงานทุกวัน
ถ้าเราจะให้นายกรัฐมนตรีของประเทศไปทำงาน โดยต้องนั่งมอเตอร์ไซด์ไปต่อเรือ
แล้วต้องไปต่อรถเมล์อีกสองต่อ เพื่อจะไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว
นั่นย่อมไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงครับ เพราะมันไม่พอประมาณ และไม่สมเหตุสมผล


บางท่านหลงเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือจะต้องอยู่อย่างยากจน
ต้องอยู่อย่างอดอยากหรือยากลำบากยากแค้น
จะต้องใช้ของถูก ๆ แล้วก็ทนรับสภาพไปอย่างนั้น
ขอเรียนว่าไม่ใช่เช่นนั้นนะครับ
โดยเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่ขาดแคลน และก็ไม่ใช่ฟุ้งเฟ้อครับ
คือมีความพอประมาณ และสมเหตุสมผลนั่นเอง


นอกจากนี้ เศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่ได้สอนให้คนขี้เกียจ หรืออยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร
ในทางกลับกัน ในเงื่อนไขคุณธรรมนั้นสอนว่าเราจะต้องมีความตระหนักในคุณธรรม
มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
โดยให้สังเกตว่าคำว่า “พอเพียง” ในที่นี้ เป็นความหมายเฉพาะซึ่งมี ๓ คุณลักษณะ
โดยตั้งอยู่บน ๒ เงื่อนไขดังที่กล่าวอธิบายแล้วข้างต้น

“พอเพียง” ในที่นี้จึงไม่ได้แปลว่า “พอแล้ว” และอยู่เฉย ๆ ขี้เกียจไปวัน ๆ โดยไม่ทำอะไร


ตรงที่บทความบอกว่า “ชีวิตนี้มันยังพอเพียงไม่ได้ มันต้องดิ้นรนให้ชีวิตดีขึ้น”
ซึ่งความเข้าใจตรงนี้ก็เป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ
เพราะในระหว่างที่เราขยันและสร้างชีวิตให้ดีขึ้นนั้น เราสามารถพอเพียงได้
และในอันที่จริงแล้ว เราจำเป็นต้องพอเพียงด้วยครับ
เพราะถ้าเราไม่อาศัยพอเพียง (๓ ลักษณะ ๒ เงื่อนไขข้างต้น) ในระหว่างที่พัฒนาตนเองนั้น

เราก็อาจจะโลภมากเกิน ไปเล่นพนัน หวังรวยทางลัด ไปเล่นหุ้นทั้งที่ไม่มีความรู้
ตกเป็นแมลงเม่า ไปฟุ้งเฟ้อใช้จ่ายเกินตัว แล้วก็ทำให้ชีวิตตนเองไปสู่ความฉิบหายก็ได้
ความพอเพียงจึงเป็นรากฐานของการขยัน และสร้างชีวิตเราให้เจริญอย่างถูกทางครับ
(คำว่า “พอเพียง” ในที่นี้ คือ๓ ลักษณะ ๒ เงื่อนไขข้างต้น ซึ่งไม่ได้แปลว่า “พอแล้ว” ครับ)


ในส่วนที่ในบทความบอกว่า “จะได้สบายตามสมควร” นั้น
“ความสบาย” จะต้องประกอบด้วยความพอประมาณ และความมีเหตุผล
ไม่ใช่ว่าจะต้องให้ทุกคนมานั่งเรือต่อรถเมล์เหมือนกันทุกคน
อย่างถ้าบางคนบ้านอยู่ใกล้มาก เดินไปทำงานได้ ก็เดินไป ก็เหมาะสม
หรือบางคนไม่ได้อยู่ใกล้ท่าเรือ จะให้ต้องไปนั่งเรือ มันก็ไม่เหมาะสม
หรือจะต้องให้ทุกคนต้องขับรถแพง ๆ เหมือนกันทุกคน มันก็ไม่เหมาะสม
แต่ควรจะต้องพอเพียงเหมาะสมตามปัจจัยต่าง ๆ ของแต่ละคนครับ
กล่าวคือ ไม่ขาดแคลน ไม่ฟุ้งเฟ้อ โดยเหมาะสมและสมเหตุสมผลกับคนนั้น ๆ


ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุ ๓ เดือน กินกล้วยใบเดียวก็อิ่มแล้ว ก็คือพอประมาณตามสภาพของเขา
ส่วนนักกีฬาอายุ ๒๕ ปี จะให้เขามากินกล้วยเหมือนเด็กอายุ ๓ เดือนนั้นไม่ได้
มันขาดแคลน และไม่พอประมาณแล้ว
แต่ในทางกลับกัน จะให้เด็กอายุ ๓ เดือนมากินอาหารแบบนักกีฬาอายุ ๒๕ ปี
มันก็มากเกินไป เกินสมควร ไม่พอประมาณและไม่สมเหตุสมผลครับ
โดยสรุปแล้ว เขาพึงกินตามที่พอประมาณสำหรับตัวเขา และสมเหตุสมผล
ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน


เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้สอนว่าเราต้องยากจน และไม่ได้สอนว่า อะไรเราก็ยอมรับได้
แต่สอนให้เราขยัน และสร้างชีวิตตนเองให้พร้อมอย่างพอเพียง
ไม่ใช่ว่าอดอยาก และไม่มีจะกินกันทั้งบ้านแล้ว แต่เราบอกว่า “โอเค เราพอเพียงนะ”
อย่างนี้เรียกว่าไม่เข้าใจแล้วครับ กล่าวคือในเมื่อมันขาดแคลนโดยสภาพ
แล้วเราอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร แล้วจะมาอ้างว่าพอเพียงย่อมไม่ได้ครับ
อย่างนี้ควรเรียกว่า “ขี้เกียจ” หรือ “ขาดแคลน” ครับ ไม่ใช่พอเพียง


ในระหว่างที่เรากำลังขาดแคลน และขยันมุ่งพัฒนาสร้างชีวิตตนเองให้พร้อมนั้น
เราย่อมสามารถพอเพียงได้ครับ กล่าวคือทำไปตามที่พอประมาณ และมีเหตุผล
ไม่ใช่ว่าชีวิตขาดแคลนแล้ว ก็ไปเล่นหวย แล้วก็อ้างว่าต้องพยายามมีให้พร้อม
อย่างนั้นเรียกว่า โลภหรือ เล่นอบายมุขครับ ไม่ใช่พอเพียง


ขอยกตัวอย่างกรณีเราพอเพียงในระหว่างพัฒนาสร้างชีวิตเรานะครับ
สมมุติว่าเราขี่จักรยานจากที่ทำงานกลับบ้าน ได้ในความเร็ว ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซึ่งเป็นความเร็ว โดยมาตรฐานของกำลังเรา เราก็ขยันถีบไปในความเร็วนี้ได้อย่างปลอดภัย
แล้วเราก็สบายใจสบายกายของเรา อย่างนี้คือพอเพียงครับ
แต่ถ้าเราไปถีบช้าเหมือนคนเดิน หรือพยายามถีบให้เร็วเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์
หรือพยายามถีบเร็วเกินกำลังเรา หรือถีบเร็วเกินจนอาจจะทำให้เป็นอันตราย
หรือจอดจักรยานไว้เฉย ๆ ไม่ขี่กลับบ้าน ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่พอเพียงครับ
หากเข้าใจเรื่องถีบจักรยานนี้แล้ว ในเรื่องของการพัฒนาสร้างชีวิตเราก็เป็นทำนองเดียวกัน
คือเราทำไปตามกำลังที่เหมาะสมกับชีวิตเราได้อย่างปลอดภัย ขยัน ไม่ขี้เกียจ
และไม่ทุ่มเกินกำลัง ทุกอย่างจะไปอย่างสมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกัน และสมดุล
ในขณะที่เราเองก็มีความสุขในระหว่างที่เราขี่จักรยานกลับบ้าน หรือกำลังพัฒนาชีวิต
เพราะเราทำสิ่งที่เหมาะสมกับตัว และไม่ได้ไปมุ่งอยากได้อะไรเกินกำลังตนเอง


ผมเคยฟังครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งเทศน์ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น
ประกอบด้วยธรรมะในพุทธศาสนาข้อหนึ่งที่ชื่อว่า “สมชีวิตา” ซึ่งหมายถึง
มีความเป็นอยู่พอเหมาะพอดี กล่าวคือ
เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ฝืดเคืองนัก ไม่ฟูมฟายนัก
“สมชีวิตา” เป็นธรรมข้อที่สี่ใน “ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔
ซึ่ง “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” หมายถึง ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้
ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา ๓. กัลยาณมิตตตา และ ๔. สมชีวิตา
ซึ่งบางท่านอาจจะเรียกย่อ ๆ ว่า “อุ อะ กา สะ” แล้วก็ตั้งชื่อว่าเป็น “หัวใจเศรษฐี”
โดยบางท่านก็นำถ้อยคำเหล่านี้ไปสวด เพื่อหวังว่าจะได้เป็นเศรษฐี


ธรรม ๔ ประการนี้มาจากพระสูตรที่ชื่อว่า “ทีฆชาณุสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) ซึ่งเล่าว่า
ในสมัยพุทธกาล มีชายคนหนึ่งชื่อ “ทีฆชาณุ” ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
และได้กราบทูลถามว่า ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน
นอนเบียดบุตร ยังใช้ดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์
อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน และ
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าด้วยเถิด


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ธรรม ๔ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร
ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ และสมชีวิตา ๑


อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน?
กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือกสิกรรม
พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน
หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น
ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้
นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา


อารักขสัมปทาเป็นไฉน?
กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม
เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า
ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้
น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา


กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน?
กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา
สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี
เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา


สมชีวิตเป็นไฉน?
กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง
ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด
กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น
ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา
แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ นี้เรียกว่าสมชีวิตา”


เราจะเห็นได้ว่า ธรรม ๔ ประการคือ “อุ อะ กา สะ” นี้
โดยอันที่จริงแล้วไม่ใช่ธรรมที่จะให้ประโยชน์คือทำให้เป็นเศรษฐีนะครับ
แต่ให้คุณประโยชน์สูงยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ
เป็นไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขในปัจจุบัน
การที่เป็นเศรษฐีนั้น เราอาจจะไม่มีความสุข และไม่เป็นประโยชน์แก่เราก็ได้
แต่ว่าธรรม ๔ ประการนี้ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขในปัจจุบัน
จึงเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากกว่าการได้เป็นเศรษฐีเสียอีก


แต่แม้บางท่านจะถือว่าธรรมเหล่านี้จะช่วยให้มีฐานะเป็นเศรษฐีได้ก็ตาม
การที่เพียงแต่กล่าวท่องหรือสวดธรรมเหล่านี้
ย่อมไม่ได้มีผลในการพัฒนาชีวิตหรือฐานะของตนเองได้แต่อย่างใด
แต่ย่อมขึ้นอยู่กับการที่เรานำธรรมเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติจริงในชีวิตเรา


“สมชีวิตา” เป็นการที่เราใช้ชีวิตอย่างสมดุล เลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป และไม่ฝืดเคืองเกินไป
มีภูมิคุ้มกันด้วยการรักษารายได้ให้สูงกว่ารายจ่าย ไม่ให้รายจ่ายสูงกว่ารายได้
ถ้าเราใช้จ่ายเงินเกินตัว ก็ย่อมจะทำให้เราลำบากได้
ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้จ่ายเงินอย่างตระหนี่เกินไป ก็ทำให้เราลำบากได้เช่นกัน

หลักการในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ประกอบด้วยหลักในทำนองเดียวกัน
โดยคำนึงถึงความพอประมาณ และความสมเหตุสมผลครับ


ถ้าเรามีความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง
และสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตเราได้แล้ว
ผลที่จะได้รับก็คือ เราจะมีการพัฒนาชีวิตที่สมดุลและยั่งยืน
พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน
ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
และชีวิตเราก็จะพัฒนาได้อย่างไม่ลำบากเกินไป มีความพอประมาณ ความสมเหตุผล
มีภูมิคุ้มกัน มีความสุจริต ไม่เบียดเบียนใคร และมีความสุขครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP