จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



122 destination


ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้อ่านหรือได้ฟังว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก มาบ้างนะครับ
โดยเทียบกับเรื่องเต่าตาบอดดำน้ำในมหาสมุทรที่โผล่ศีรษะขึ้นมาลอดห่วงพอดี
ใน “ฉิคคฬสูตรที่ ๑” ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ยาก

(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ได้เล่าว่า
พระพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาไว้ว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก
เปรียบเสมือนว่า ในห้วงมหาสมุทรมีเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ใต้ทะเล
โดยในทุก ๆ ๑๐๐ ปี เต่าตาบอดตัวนี้จะโผล่ศีรษะขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเลครั้งหนึ่ง
และในมหาสมุทรนั้นก็มีห่วงเล็ก ๆ ซึ่งขนาดใหญ่กว่าศีรษะของเต่าตัวนั้นไม่มาก
ลอยอยู่ด้วย ๑ ห่วง ดังนี้ โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ศีรษะขึ้นมาเหนือพื้นผิวทะเล
แล้วศีรษะของเต่าตาบอดนั้นไปลอดเข้าห่วงนั้นได้พอดี
โอกาสนั้นก็ยังจะมีมากกว่าการที่เหล่าสัตว์ทั้งหลายจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์
สำหรับคนพาลที่ไปสู่วินิบาตแล้วแม้คราวเดียว

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=10699&Z=10714&pagebreak=0


ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
อธิบายคำว่า “วินิบาต” หมายถึง โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ
หรือแดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ
โดยอรรถกถาแห่งอิติวุตตกะอธิบายนัยหนึ่งว่าเป็นไวพจน์ของคำว่า “นรก” นั่นเอง
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%D4%B9%D4%BA%D2%B5&original=1


ถามว่าทำไมเราลงไปสู่วินิบาตแค่เพียงคราวเดียว ก็ยากที่จะกลับขึ้นมาเป็นมนุษย์ได้
ในฉิคคฬสูตรที่ ๑ ได้อธิบายว่า เพราะในวินิบาตนี้ ไม่มีการประพฤติธรรม
ไม่มีการประพฤติชอบ ไม่มีการกระทำกุศล ไม่มีการกระทำบุญ
มีแต่เพียงการเคี้ยวกินกันและกัน การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อยกว่า ย่อมเป็นไปในวินิบาตนี้
ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าเราจะมีบุญกุศลพอที่ได้เกิดมามีอัตภาพเป็นมนุษย์ในปัจจุบันนี้ก็ตาม
แต่หากเราเดินทางผิดหลงเป็นคนพาล และได้ลงไปสู่วินิบาตแม้เพียงครั้งเดียวแล้ว
โอกาสที่จะได้กลับมาเป็นมนุษย์อีกนั้นยากแสนยาก
เพราะเราจะได้ไปวนอยู่ในวินิบาตนั้นนานแสนนาน


ในคาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔ (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) ได้สอนว่า
“ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก
การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก
การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก”


โดยในอรรถกถาได้เล่าเรื่องของนาคราช (พระยานาค) ชื่อ “เอรกปัตตะ” ดังต่อไปนี้ว่า
ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลก่อน
นาคราชเกิดเป็นภิกษุหนุ่ม ขึ้นเรือไปในแม่น้ำคงคา และได้ยึดใบตะไคร้น้ำกอหนึ่ง
เมื่อเรือแม้แล่นไปโดยเร็ว ก็ไม่ปล่อย ทำให้ใบตะไคร้น้ำขาดไปแล้ว
ภิกษุหนุ่มนั้นไม่แสดงอาบัติด้วยคิดเสียว่า "นี้เป็นโทษเพียงเล็กน้อย"


ภิกษุหนุ่มนั้นแม้ได้ปฏิบัติสมณธรรมในป่าเป็นระยะเวลาสิ้น ๒ หมื่นปี
ในกาลที่ภิกษุนั้นมรณภาพ เป็นประดุจใบตะไคร้น้ำผูกคอ
แม้อยากจะแสดงอาบัติ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เห็นภิกษุอื่น
ก็เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นว่า "เรามีศีลไม่บริสุทธิ์"
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดเป็นนาคราช ได้ชื่อว่า “เอรกปัตตะ”


เมื่อได้เกิดมาในอัตภาพนั้นแล้ว นาคราชได้แลดูอัตภาพตนเอง
แล้วได้มีความเดือดร้อนใจว่า เราปฏิบัติทำสมณธรรมมาตลอด ๒ หมื่นปี
แต่กลับเป็นผู้บังเกิดในที่มีกบเป็นอาหาร ในกำเนิดแห่งสัตว์เดรัจฉาน
ในกาลต่อมา นาคราชได้มีธิดา และตนเองต้องการทราบถึงอุบัติแห่งพระพุทธเจ้า

จึงได้แผ่พังพานใหญ่บนหลังน้ำในแม่น้ำคงคา วางธิดาไว้บนพังพานนั้น ให้ฟ้อนรำขับร้องเพลงขับ
ด้วยอุบายว่า ผู้ใดนำเพลงขับแก้เพลงขับของเราได้ เราจักให้ธิดาและนาคพิภพอันใหญ่แก่ผู้นั้น

โดยนาคราชได้วางธิดาตนเองนั้นไว้บนพังพาน ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน
ธิดาของนาคราชได้ยืนฟ้อนอยู่บนพังพานนั้น ขับเพลงขับนี้ว่า
“ผู้เป็นใหญ่อย่างไรเล่า ชื่อว่าพระราชา?
อย่างไรเล่า พระราชาชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร?
อย่างไรเล่า ชื่อว่าปราศจากธุลี?
อย่างไรเล่า ท่านจึงเรียกว่าคนพาล?


ชาวชมพูทวีปทั้งหลายพากันมาด้วยหวังว่าจะได้ครอบครองธิดาและนาคพิภพของนาคราช
จึงมาทำเพลงขับแก้ โดยขับไปตามกำลังปัญญาของตน แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ถูกต้อง
ธิดาของนาคราชได้ยืนอยู่บนพังพานทุกกึ่งเดือน และขับเพลงอยู่อย่างนี้
จนกระทั่งระยะเวลาหนึ่งพุทธันดรผ่านไปแล้ว
(“พุทธันดร” หมายถึงช่วงเวลาที่โลกปราศจากพระพุทธศาสนา
กล่าวคือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว

และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังมิได้อุบัติ)


ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก
วันหนึ่งในเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นมาณพชื่อ “อุตตระ”
ได้ทรงเห็นว่า วันนี้เป็นวันที่นาคราชนาม “เอรกปัตตะ” จะนำธิดาไว้บนพังพานแล้วให้ฟ้อน
เมื่ออุตตรมาณพได้เรียนเพลงขับแก้ที่เราสอนให้แล้ว จักเป็นโสดาบัน
และเมื่ออุตตรมาณพเรียนเพลงขับนั้นไปสู่สำนักของนาคราชนั้น
นาคราชนั้นฟังเพลงขับแก้นั้นแล้ว จักทราบว่า “พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว” จักมาสู่สำนักของเรา
เมื่อนาคราชนั้นมาแล้ว เราจักกล่าวคาถาในสมาคมอันใหญ่
ในกาลจบคาถา สัตว์ประมาณ ๘ หมื่น ๔ พันจักตรัสรู้ธรรม


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอุตตรมาณพกำลังไปในที่ไม่ไกล จึงตรัสเรียกว่า "อุตตระ"
อุตตรมาณพได้ยินแล้วกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เธอจงมานี่ก่อน”
อุตตรมาณพได้มาถวายบังคมและนั่งลงแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถามว่า “เธอจะไปไหน?
อุตตรมาณพได้กราบทูลว่า ตนจะไปยังที่ที่ธิดาของเอรกปัตตนาคราชขับเพลง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถามว่า “เธอรู้เพลงขับแก้หรือ?
อุตตรมาณพได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ทราบ พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เธอจงขับเพลงแก้เหล่านั้นให้ดูก่อน”


อุตตรมาณพได้ขับเพลงแก้นั้นตามธรรมดาความรู้ของตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “อุตตระ นั่นไม่ใช่เพลงขับแก้

เราจะสอนเพลงขับแก้ให้แก่เธอ เธอต้องเรียนเพลงขับแก้นั้นให้ได้”
อุตตรมาณพกราบทูลว่า “ดีละ พระเจ้าข้า”
ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“อุตตระ ในกาลที่ธิดานาคราชขับเพลงนั้น เธอพึงขับเพลงแก้นี้ว่า
ผู้เป็นใหญ่ในทวาร ๖ ชื่อว่าเป็นพระราชา
พระราชาผู้กำหนัดอยู่ ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร
ผู้ไม่กำหนัดอยู่ ชื่อว่าปราศจากธุลี
ผู้กำหนัดอยู่ ท่านเรียกว่า คนพาล”


ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทานเพลงขับแก้ให้อุตตรมาณพดังนั้นแล้ว
ได้ตรัสต่อไปว่า "อุตตระ เมื่อเธอขับเพลงขับนี้แล้ว
ธิดานาคราชจักขับเพลงขับแก้เพลงขับของเธออย่างนี้ว่า
คนพาลอันอะไรเอ่ย ย่อมพัดไป?
บัณฑิตย่อมบรรเทาอย่างไร?
อย่างไรจึงเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ?
ท่านผู้อันเราถามแล้ว โปรดบอกข้อนั้นแก่เรา
ทีนั้น ท่านพึงขับเพลงขับแก้นี้แก่นางว่า
คนพาลอันห้วงน้ำ (คือกามโอฆะเป็นต้น) ย่อมพัดไป
บัณฑิตย่อมบรรเทา (โอฆะนั้น) เสียด้วยความเพียร
บัณฑิตผู้ไม่ประกอบด้วยโยคะทั้งปวง ท่านเรียกว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ”


เมื่ออุตตรมาณพกำลังเรียนเพลงขับแก้นั้น เขาได้บรรลุโสดาปัตติผล
เขาเป็นโสดาบันแล้วเรียนเอาคาถานั้นไป แล้วได้ไปขับเพลงแก้ต่อธิดานาคราช
นาคราชได้ฟังเพลงขับแก้แล้ว ทราบว่าพระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว
จึงดีใจว่า "เราไม่เคยฟังชื่อบทเห็นปานนี้ ตลอดหนึ่งพุทธันดร
พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกแล้วหนอ”
นาคราชนั้นจึงเข้าไปหาอุตตรมาณพ แล้วถามว่า "แน่ะท่าน พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน?
อุตตรมาณพตอบว่า “ประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง มหาราช”
นาคราชจึงกล่าวว่า “มาเถิดท่าน พวกเราจะพากันไป”
เมื่อกล่าวแล้วก็ได้พากันไปกับอุตตรมาณพ พร้อมด้วยมหาชนในบริเวณนั้น


เมื่อนาคราชนั้นไปถึง และได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ได้ยืนร้องไห้อยู่
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกับนาคราชนั้นว่า “นี่อะไรกัน มหาบพิตร”
นาคราชได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยพระองค์
ข้าพระองค์ได้ทำสมณธรรมสิ้น ๒ หมื่นปี แม้สมณธรรมนั้นก็ไม่อาจเพื่อจะช่วยข้าพระองค์ได้
ข้าพระองค์อาศัยเหตุเพียงว่าทำให้ใบตะไคร้น้ำขาดไปมีประมาณเล็กน้อย
ได้ถือปฏิสนธิในอเหตุกสัตว์ เกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยอก ย่อมไม่ได้ความเป็นมนุษย์เลย
ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยพระองค์ตลอดหนึ่งพุทธันดร”


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับถ้อยคำของนาคราชนั้นแล้วตรัสว่า
"มหาบพิตร ชื่อว่าความเป็นมนุษย์ หาได้ยากนัก การฟังพระสัทธรรม ก็อย่างนั้น
การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ก็หาได้ยากเหมือนกัน
เพราะว่าทั้ง ๓ อย่างนี้ บุคคลย่อมได้โดยลำบากยากเย็น”
หลังจากนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
“ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก
การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก
การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก”


เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว เหล่าสัตว์ ๘ หมื่น ๔ พันได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว
ฝ่ายนาคราชนั้นควรจะได้โสดาปัตติผลในวันนั้น แต่ก็ไม่บรรลุธรรม
เพราะเหตุที่ตนเป็นสัตว์เดรัจฉาน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=24&p=3


ผมได้อ่านเรื่องนาคราชชื่อเอรกปัตตะนี้แล้ว ส่วนตัวก็ได้ข้อคิด ๒ ข้อนะครับ
ข้อแรกคือ อย่าประมาทในเรื่องผิดศีล แม้เพียงเรื่องเล็กน้อย
เพราะภิกษุหนุ่มประมาทในอาบัติข้อเล็กน้อย ไม่ได้ปลงอาบัติด้วยคิดว่ามีโทษเล็กน้อย
แม้ปฏิบัติสมณธรรมถึง ๒ หมื่นปี ก็ไม่บรรลุธรรม
แถมยังมีผลทำให้ได้ไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเสียด้วย
แม้จะรอถึงหนึ่งพุทธันดรจนได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งก็ตาม

นาคราชก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ทั้งหมดนี้เกิดจากประมาทในอาบัติข้อเล็กน้อยคราวนั้น


ข้อสองคือ สังสารวัฏนี้น่ากลัวมาก มนุษย์เราอยู่ในอัตภาพที่ดีกว่าพระยานาค
เราสามารถเรียนรู้ธรรม ปฏิบัติธรรม และบรรลุธรรมได้ ในขณะที่พระยานาคทำไม่ได้
แต่มนุษย์เรากลับไปมุ่งแก้เพลงขับของธิดานาคราช เพราะอยากได้สมบัตินาคราช
แต่ในขณะที่นาคราชเองไม่สนใจสมบัติ แต่ต้องการได้ฟังธรรม และได้บรรลุธรรม


ในอรรถกถาของทุติยฉิคคฬสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
ได้อธิบายในเรื่องความยากที่จะได้อธิบายอัตภาพมนุษย์
ความยากในการที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น ความยากในการที่จะได้ฟังธรรม
และความยากในการที่จะได้บรรลุธรรมว่า
สมมุติให้พื้นที่ระหว่างขอบจักรวาลนี้เป็นท้องมหาสมุทรมีน้ำทะเล

และมีเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ในท้องมหาสมุทรนั้นเนิ่นนาน
ในทุก ๆ ๑๐๐ ปี เต่าตาบอดตัวนี้จะโผล่ศีรษะขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเลครั้งหนึ่ง
และได้มีบุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันออกได้โยนห่วงเล็ก ๆ ลงไปอันหนึ่ง
การที่จะได้ถึงความเป็นมนุษย์นั้นยากเปรียบเสมือนกับการที่เต่าตาบอดตัวนั้น
จะโผล่ขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเล และศีรษะได้ลอดเข้าไปในห่วงเล็ก ๆ นั้น
และได้เปรียบเทียบต่อไปว่า การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากยิ่งกว่าเปรียบเสมือน

บุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศใต้ได้โยนห่วงอีกอันหนึ่งลงไปในท้องมหาสมุทร
และเต่าตาบอดได้โผล่ขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเล และศีรษะได้ลอดเข้าไปในห่วงเล็ก ๆ ๒ อันนั้น
ในช่วงเวลาที่ห่วงอันที่สองได้ลอยมาซ้อนกับห่วงอันแรกพอดี
และได้เปรียบเทียบต่อไปว่า การแสดงธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศแล้ว
ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดยากยิ่งกว่า โดยเปรียบเสมือน
บุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันตกได้โยนห่วงอีกอันหนึ่งลงไปในท้องมหาสมุทร
และเต่าตาบอดได้โผล่ขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเล และศีรษะได้ลอดเข้าไปในห่วงเล็ก ๆ ๓ อันนั้น
ในช่วงเวลาที่ห่วงทั้ง ๓ อันได้ลอยมาซ้อนกันพอดี
และได้เปรียบเทียบต่อไปว่า การรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นสิ่งที่เกิดยากยิ่งกว่า โดยเปรียบเสมือน
บุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศเหนือได้โยนห่วงอีกอันหนึ่งลงไปในท้องมหาสมุทร
และเต่าตาบอดได้โผล่ขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเล และศีรษะได้ลอดเข้าไปในห่วงเล็ก ๆ ๔ อันนั้น
ในช่วงเวลาที่ห่วงทั้ง ๔ อันได้ลอยมาซ้อนกันพอดี
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1744


เรา ๆ ท่าน ๆ ที่มีอัตภาพเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ย่อมถือว่าอยู่ในโอกาสที่
เต่าตาบอดโผล่ศีรษะขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว และได้สวมศีรษะเข้าไปในห่วง ๓ อัน
ในช่วงเวลาที่ห่วงทั้ง ๓ อันได้ลอยมาซ้อนกันพอดี ซึ่งเป็นโอกาสที่ยากอย่างยิ่ง
จึงเหลือเพียงห่วงอันสุดท้ายอันเดียว คือการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔
ซึ่งเราจะสวมศีรษะเข้าไปในห่วงอันสุดท้ายนี้ได้หรือไม่
ก็ขึ้นอยู่กับเราเองที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมหรือไม่นะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP