จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ฆ่าอะไรแล้วดี


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


121 destination




การฆ่าไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดีเสมอไปนะครับ
การฆ่าที่เป็นเรื่องที่ดีก็มีอยู่เหมือนกัน
ในสมัยพุทธกาลนั้น ได้มีเทวดามาทูลถามพระพุทธเจ้าในเรื่องดังกล่าว
โดยใน “ฆัตวาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) ได้เล่าว่า
มีเทวดาองค์หนึ่งได้ไปเข้าเฝ้า และทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก
ข้าแต่พระโคดม พระองค์ชอบฆ่าอะไร ซึ่งเป็นธรรมอันเดียว?


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า
“ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียจึงไม่เศร้าโศก
แน่ะ เทวดา พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=15&A=1252


ใน “ฆัตวาสูตร” อีกสูตรหนึ่ง (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
โดยชื่อเหมือนกับพระสูตรแรกข้างต้นเลยนะครับ ได้เล่าว่า
ท้าวสักกะซึ่งเป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ได้เสร็จไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าในคำถามเดียวกัน
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบอย่างเดียวกันกับในฆัตวาสูตรแรกข้างต้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=7660&Z=7676&pagebreak=0


ถามว่าเราจะฆ่าความโกรธได้อย่างไร?
ตอบว่ามีหลายวิธีนะครับ หลายท่านอาจจะเคยอ่านเรื่องวิธีกำจัดความโกรธมาบ้าง
ซึ่งก็ย่อมมีแนะนำอยู่หลายวิธี แต่ในที่นี้ผมจะขอแนะนำ ๒ วิธีนะครับ



วิธีแรกคือ “การให้อภัย” ซึ่งโดยปกติแล้ว เราก็พูดง่ายนะครับว่าให้อภัยเขาไปเถิด
แต่การทำนั้นไม่ง่ายดังที่พูดใช่ไหมครับ ถามว่าทำไมใจเราจึงให้อภัยยาก?
ตอบว่าที่ให้อภัยยาก เพราะใจเราไม่คุ้นเคยกับการให้อภัย
ถามต่อไปว่าทำอย่างไร ใจเราจึงจะคุ้นเคยกับการให้อภัย
?
ตอบว่า พึงหมั่นเจริญเมตตาบ่อย ๆ จนคุ้นเคย
เมื่อใจเรามีเมตตามาก และคุ้นเคยกับเมตตาแล้ว ก็ย่อมจะให้อภัยได้ง่าย


การฝึกฝนจิตใจในทางอื่น ๆ ก็มีส่วนช่วยที่จะให้อภัยได้ง่ายเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น หมั่นเห็นโทษภัยของความโกรธ
โดยเห็นว่าความโกรธเป็นเสมือนไฟที่มาเผาใจเรา
เมื่อเราแบกความโกรธไว้ในใจก็มีแต่จะทำให้เราเกิดความทุกข์ในใจ

ซึ่งเมื่อเราเห็นเช่นนี้บ่อย ๆ แล้ว เราก็ไม่อยากจะแบกความโกรธเอาไว้
และเราก็ย่อมจะปล่อยวางความโกรธได้ง่ายขึ้น
โดยการปล่อยวางความโกรธก็คือการให้อภัยนั่นเอง


การหมั่นตั้งใจรักษาศีล คือตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร ก็เป็นการฝึกให้อภัยเช่นกัน
โดยเราอาจจะเคยได้ยินว่า “ศีล” นั้นเป็น “มหาทาน” นะครับ
ใน “ปุญญาภิสันทสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)

ได้สอนว่า ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน
เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด
ทาน ๕ ประการคือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต
นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทาน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน
นี้เป็นทานประการที่ ๒ ที่เป็นมหาทาน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
นี้เป็นทานประการที่ ๓ ที่เป็นมหาทาน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท
นี้เป็นทานประการที่ ๔ ที่เป็นมหาทาน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือดื่มสุราเมรัย
เป็นผู้เว้นขาดแล้วจากฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือดื่มสุราเมรัย
นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=5079&Z=5126


ที่กล่าวว่าการงดเว้นดังกล่าวเป็นมหาทานนั้น เพราะอริยสาวกผู้งดเว้นสิ่งดังกล่าว
ย่อมได้ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้นั้น
อย่างเช่น เวลาเราไปปล่อยปลา ๑๐ ตัว หรือปล่อยโค ๑๐ ตัวก็ดี
เราย่อมได้ชื่อว่าให้ทาน คือให้ชีวิตแก่ปลา ๑๐ ตัว หรือปล่อยโค ๑๐ ตัวนั้น ๆ
แต่หากเรารักษาศีล โดยงดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว

เราย่อมได้ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้
ดังนี้จึงเรียกว่าศีลเป็นมหาทาน


นอกจากนี้ใน “ทานกถา” (พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์) ได้สอนว่า
อริยสาวกผู้เว้นขาดแล้วจากปาณาติบาต ได้ชื่อว่า ให้อภัย ให้ความเป็นผู้ไม่มีเวร
ให้ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ซึ่งการเว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท และ
เว้นจากฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือดื่มสุราเมรัย ก็เป็นทำนองเดียวกันคือ
ได้ชื่อว่าให้อภัย ให้ความเป็นผู้ไม่มีเวร
ให้ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=37&A=11126&Z=11233


เราจึงถือได้ว่าการรักษาศีลนั้น ถือเป็นการให้อภัย ให้ความเป็นผู้ไม่มีเวร
ให้ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
อันย่อมมีส่วนช่วยให้เราให้อภัยแก่คนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
ซึ่งเมื่อเราสามารถให้อภัยได้แล้ว ก็เท่ากับว่ากำจัดความโกรธไปได้



ผมเคยอ่านข้อเขียนหนึ่งว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่เราโกรธนั้นหายไปจากโลกใบนี้
ซึ่งอ่านชื่อเรื่องแล้วอาจจะทำให้เข้าใจว่า
จะมีคาถาเสกทำให้คนที่เราโกรธนั้นหายตัวไปจากโลกนี้หรืออย่างไร
แต่ว่าเมื่อได้ลองอ่านในเนื้อหาข้อเขียนแล้ว
วิธีการก็คือ กำจัดความโกรธในใจเรา โดยการ “ให้อภัย” นั่นเอง
เพราะเมื่อเราให้อภัยแก่คนที่เราโกรธแล้ว หรือเราไม่ได้โกรธคน ๆ นั้นแล้ว
ย่อมถือได้ว่าคนที่เราโกรธนั้นได้หายไปจากโลกใบนี้แล้ว
โดยเหลือแต่คนที่เราไม่โกรธนั่นเอง


วิธีที่สองที่แนะนำคือการเจริญวิปัสสนา
โดยการมีสติเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของความโกรธนั้น
กล่าวคือมีสติเห็นว่าความโกรธไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตนที่ยึดถือเอาได้
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยไม่ว่าเราจะไปหาวิธีมากำจัดความโกรธหรือไม่ก็ตาม
ความโกรธนั้นย่อมจะดับไปได้เอง เพราะว่าความโกรธนั้นไม่เที่ยง
และทนอยู่ไม่ได้โดยสภาพของเขาเองเป็นธรรมดา


ในวิธีการเจริญวิปัสสนานี้ เราไม่จำเป็นต้องไปกำจัดความโกรธเลย
เพราะว่าความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว เขาก็ดับไปเองของเขาอยู่แล้ว
เราเพียงแต่ตามดูเขาแสดงการเกิดดับ (ไม่เที่ยง) การทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง)
และการเป็นไปตามเหตุและปัจจัย โดยที่ไม่ใช่ตัวตนที่เราจะสั่งเขาได้ (อนัตตา)
ซึ่งเมื่อเราดูเขาตามความเป็นจริง โดยไม่ได้ไหลตามเขาไปแล้ว

เราจะเห็นได้ว่าเขาก็ดับไปของเขาเองตามเหตุและปัจจัย


ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเคยได้ฟังครูบาอาจารย์ก็คือ
สมมุติว่าเรากำลังอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วมีคนมาทำให้เราโกรธมาก
ขณะที่เรากำลังโกรธนั้นเอง เราเกิดปวดอุจจาระอย่างรุนแรงและต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วนมาก
ในขณะที่มองไปรอบ ๆ เราก็ยังหาป้ายชี้ทางไปห้องน้ำไม่เจอเลย
ถามว่าในขณะนั้น ความโกรธในใจเราจะยังอยู่ไหม

หรือว่าความโกรธได้หายไปแล้ว แต่ความอยากจะเข้าห้องน้ำได้เกิดขึ้นในใจ เป็นต้น


โดยสรุปแล้ว หากเราฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมเป็นสุข
ในทางกลับกัน หากเราแบกความโกรธเอาไว้ ย่อมเป็นทุกข์

เราทุกคนย่อมมีทางเลือกในชีวิตเราเองว่า เราจะเลือกเป็นสุข หรือเลือกเป็นทุกข์
บางคนมองว่าการให้อภัยแก่คนที่มาทำเราโกรธนั้น เท่ากับว่าเราเสียเปรียบเขา
แต่ถามว่าในขณะที่เราโกรธนั้น ใครเป็นคนทุกข์ครับ? ตอบว่าเราเองเป็นคนทุกข์
ในเมื่อเราเองเป็นคนทุกข์ และหากเราให้อภัยเขาได้ เราก็พ้นจากทุกข์เช่นนี้แล้ว
ฉะนั้น การให้อภัยแก่คนอื่นได้ ย่อมได้ชื่อว่าช่วยให้ตัวเราเองพ้นทุกข์
จึงไม่เป็นการเสียเปรียบหรอกครับ เพราะว่าเราพ้นทุกข์นี่นา
แต่หากเราแบกความโกรธไว้ต่อไปและต้องทุกข์ต่อไปเรื่อย ๆ สิครับจึงจะเสียเปรียบ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP