สารส่องใจ Enlightenment

เห็นตามความเป็นจริง



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย



จะเทศน์ให้ฟังถึงเรื่อง "คนแก่กับเด็ก" ซึ่งมันอยู่ห่างไกลกันนัก
คนแก่ทำอย่างไรจึงเรียกว่าคนแก่ เด็กทำอย่างไรจึงเรียกว่าเด็ก
แล้วมันวิเศษกว่ากันอย่างไร จะเทศน์ให้ฟังตอนนี้
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า
โย จ วสฺสสตํ อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ

คนแก่คือคนไม่พิจารณาถึงเรื่องความสิ้นความเสื่อมของชีวิตตน
มีอายุตั้งร้อยปี ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
สู้เด็กที่เกิดวันนั้น แต่หากมีความคิดความอ่าน
พิจารณาเห็นความเสื่อมความสิ้นไปของสังขารร่างกายไม่ได้
อันนั้นประเสริฐกว่า
ท่านว่าอย่างนั้น ท่านเปรียบเฉยๆ ไม่ใช่ความจริง
เด็กที่เกิดวันนั้นมันจะรู้จักพิจารณาอะไร ท่านเปรียบคนแก่กับเด็กเท่านั้น



คนแก่ที่ไม่รู้เดียงสาอะไร เฒ่าเสียดาย ตายเสียเปล่า ท่านว่าอย่างนั้น
เฒ่าแดดเฒ่าฝน ไม่คิดถึงชีวิตของตน ไม่เป็นผลอะไรแก่ตนเลย
มัวเมาประมาทไปกับลูกกับหลาน มัวเมาประมาทไปกับสิ่งของ
เก็บโน่นเก็บนี่ สะสมอะไรต่ออะไรต่างๆ มากมาย
กลัวแต่ลูกหลานจะไม่ได้อยู่ได้กิน กลัวแต่ลูกหลานจะไม่มี กลัวจะจน
อันเราจนไม่รู้ตัว คนแก่ของเรามักเป็นอย่างนั้น
อาตมาก็คนแก่คนหนึ่งเหมือนกันละ มันต้องเป็นอย่างนั้น



ท่านจึงสอนให้คนแก่รู้จักตัว คนแก่ควรจะทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนหนุ่ม ให้กับเด็ก
ตัวอย่างในทางที่ดี รู้จักสุภาพเรียบร้อย รู้จักพูดอ่อนหวาน
ไม่พูดกระโชกโฮกฮาก ไม่พูดเหยียดหยามคนอื่น ไม่ทำอะไรวุ่นวี่วุ่นวายวู่วาม
รู้จักมัธยัสถ์รักษาตัว ให้เป็นแบบอย่างของเด็ก
เรื่องคนแก่ที่ไม่หยุด ยังไม่เพียงพอ เราต้องรู้ดีทุกๆ คน
เราแก่มาแล้วเราต้องรู้ทุกๆ คน รู้อยู่ แต่ว่ายับยั้งไม่ได้
พูดอะไรต่างๆ กระโชกกระชาก พูดโฮกฮาก สิ่งที่ไม่ควรพูดก็พูด
เอาแต่ใจตน ไม่ได้อะไรตามใจตนแล้วก็เกิดโทสะมานะ
อันนั้นแหละเป็นเหตุเป็นครูเป็นแบบอย่างแก่เด็กๆ
เป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ควรที่จะนำเด็กในทางที่ชั่ว
อันเมื่อเด็กชั่ว ก็เชื่อว่ามันชั่วยิ่ง ด่าว่าด้วยประการต่างๆ มันชั่วมันเลวยิ่งกว่าเลว
เราเลวกว่าแล้วไม่ว่า ไม่รู้ตัวเอง



อย่างเช่นความโกรธ เกิดโกรธขึ้นมาก็พูดกระโชกโฮกฮากเสียงดัง
อันแท้ที่จริงนั่น เรามันเสียงดังกว่าเขาเสียอีก เขาเสียงดังไม่เท่าเรา ของเรามันดังยิ่งกว่าเขา
อันนั้นเรียกว่า เราเลวกว่าเขา อย่าเข้าใจว่าเราดีกว่าเขา นี่พูดถึงเรื่องเด็กกับผู้ใหญ่
ผู้เฒ่าผู้แก่อย่าเข้าใจว่าดีทั้งหมด อย่างที่ท่านเทศน์ไว้ว่า
คนแก่คนเฒ่าไม่รู้จักพิจารณาถึงชีวิตสังขารของตน
ว่าแก่เฒ่าชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว มีอายุตั้งร้อยปี ก็ไม่ประเสริฐอะไรเลย

ยิ่งอยู่ไปนานเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเครื่องรกโลก คนไม่ดีอยู่นานปีเท่าไหร่ ยิ่งรกโลก
อันนั้นเป็นคนแก่ในทางไม่ดี



แก่ของคนไม่เหมือนกับต้นไม้ ต้นไม้แก่เท่าไร มันยิ่งมีแก่นแข็งแรงขึ้นทุกที
แก่ของคนไม่เหมือนแก่ลูกผลไม้ ลูกไม้แก่เท่าไหร่ยิ่งสุก ยิ่งหวาน
แก่เหมือนมะพร้าวค่อยยังชั่วหน่อย แก่เท่าไรยิ่งมัน อันนั้นยิ่งดี
ความแก่ของคนนั้น อย่าพูดเรื่องผมหงอกผมขาว แล้วจึงเรียกว่าแก่
แท้ที่จริงมันแก่มาตั้งแต่เกิด มันเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ มันแก่มาโดยลำดับ
แต่ไม่พิจารณาถึงเรื่องความแก่ของเรา ก็ไม่รู้เรื่องคนแก่
อยู่ด้วยความเพลิดเพลินด้วยความมัวเมา
มัวเมาโดยเข้าใจว่าเราจะไม่แก่ แท้ที่จริงแก่ทุกวี่ทุกวัน
เข้าใจว่าเราจะไม่เจ็บ มัวเมาประมาท แต่แท้ที่จริงมันก็เจ็บอยู่ทุกวัน
เจ็บไข้นั้นเข้าใจว่าล้มหมอนนอนเสื่อ จึงเรียกว่าไข้ ไม่ใช่อย่างนั้น
คำว่า "ไข้" ว่า "อาพาธ" ในที่นี้หมายถึง ความเมื่อย ความหิวกระหาย
ความหิวโหย อยากกินนั่นอยากกินนี่ด้วย
มันป่วยไข้ด้วยกันทั้งนั้น ตายก็เข้าใจว่าเราจะไม่ตาย



ความประมาทมัวเมาเหล่านี้ เป็นเหตุปกปิดเคลือบคลุมอยู่
ความประมาทเหล่านี้แหละเรียกว่า
โมหะ อวิชชา
คือ ไม่รู้ตามเป็นจริง ความเป็นจริงมันเจ็บทุกวัน มันแก่ทุกวัน
ถ้าหากเห็นอย่างนี้อยู่ทุกวัน เรียกว่าความไม่ประมาท
คนที่ไม่ประมาทนั้น ท่านเปรียบว่า
เกิดในวันนั้น แต่หากรู้จักความเสื่อมความสิ้นไปของสังขารร่างกาย
ก็ประเสริฐกว่าคนแก่นั้นเสียอีก
คนเราเกิดมานั้นมันเป็นเอง อย่างที่โบราณท่านว่า
"หนามมันคมตั้งแต่ออกมาทีแรก" ธรรมดาหนามนั้นมันคมตั้งแต่ผลิออกมาทีแรก
คนที่จะมีสติปัญญาเฉียบแหลม มันต้องคมมาตั้งแต่เบื้องต้นเหมือนกัน



คมคืออะไร? ความคิดความอ่านมันต้องแปลกไปจากเพื่อน มันไม่เหมือนเพื่อน
คิดอย่างเพื่อนแต่มันไม่เหมือนเขา
อาตมายังจำคำโบราณท่านว่า
"คิดอย่างเขา แต่อย่าให้คิดอย่างเขา แต่ให้คิดอย่างเขา"
คือคิดอย่างเขานั่นแหละ แต่ไม่เหมือนเขา มันแปลกเขา มันมีแวววาวในตัว
เช่น ธรรมดาเกิดมาต้องรู้จักตัวเราดีทุกคน
แต่เด็กบางคนที่ผิดแปลกมันจำไม่ลืมเลย ตั้งแต่เกิดจำไม่ลืม
มันผิดแปลกเพื่อนแล้วนั่น มันให้เห็นแตกต่างอยู่ในนั่นแหละ
บางคนเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใสที่จะบวชในศาสนา มันเป็นอย่างนั้น



บางคนเกิดมาแล้ว มาคิดถึงชีวิตร่างกายของตน หรือคนทั่วไปหมดทั้งโลก
ทำไมหนอคนเราถึงต้องเกิดขึ้นมา ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
?
อย่างนั้นแหละมันให้มีอยู่ในนั้น
ทำไมคนเราเกิดขึ้นมาแล้วถึงต้องมาเบียดเบียนกันและกัน
?
มันให้มีอยู่ในใจของเขา ทุกคนมันมีอยู่คนละอย่างไม่เหมือนกัน
อันนั้นเรียกว่าแหลมคมมาตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่เกิดมาทีแรก
ครั้นเมื่อเติบโตได้ศึกษาเล่าเรียน เกิดความรู้ความฉลาดก็ได้จากอันนั้น
จนกระทั่งตั้งตัวตั้งตนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ได้
ก็ดำเนินตามแนวความคิดความฉลาดแหลมคมของตน ที่เป็นมานั่น
อย่างนี้จะเป็นวาสนาบารมีก็ใช่
หรือบางคนไม่คิดไม่นึกอะไรเลย เฉยๆ เรื่อยๆ
เป็นไปตามบ้านตามเมืองตามหมู่ตามเพื่อน
เขาจะทำอะไรก็ทำอันนั้น เขาคิดอะไรก็ไปตามเรื่องตามราวกับของเขา
นี่จะเรียกว่าวาสนาก็ใช่



แต่ว่านิสัยวาสนานั่นเราต้องช่วย
วาสนาส่งเสริมมาให้เราเป็นผู้เป็นคน ให้เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด
นั่นเรียกว่า วาสนาช่วยเหลือให้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่
แต่เราต้องช่วยวาสนาอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะให้แต่วาสนาช่วยเราอย่างเดียว

เมื่อเราไม่เป็น เช่น ภาวนาไม่เป็น บุญวาสนาก็ไม่มี
เราต้องหัดต้องทำ ต้องอบรม นี่เรียกว่าช่วยวาสนา
บุญบารมีของเราไม่มี เราทำไม่เป็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ
เราต้องพิจารณา ต้องคิดต้องนึก ต้องจำ ต้องตั้งสติ
พิจารณาให้รอบคอบรอบรู้ เรียกว่าเราช่วยวาสนา
จะไปให้แต่วาสนาส่งเสริม อยากจะเป็นอยากจะได้
คอยท่าวาสนาส่งเสริม อย่างนั้นไม่ได้



การเกิดเรียกว่ามาสร้างบารมี มาสร้างวาสนา
การกระทำนั่นแหละเป็นการสร้างบารมี สร้างวาสนา
ทำให้มันเคยชินจนชำนาญ จนติดเป็นนิสัย
ตั้งสติกำหนดพิจารณาอันใด ก็ให้มันแน่วแน่เต็มที่
เมื่อเรายังไม่เคยปฏิบัติ สติก็ยังไม่แน่วแน่ ฟุ้งซ่านส่งส่าย คือสติไม่มี
เมื่อเรามาหัดสติเข้า แล้วควบคุมจิตอยู่ ให้แน่วแน่อยู่กับที่
เมื่อเราหัดได้แล้ว เรียกว่าช่วยวาสนาให้เจริญขึ้น ดีกว่าแต่ก่อน ดีกว่าไม่ได้หัด
เมื่อทำให้มันดีอย่างนั้นแล้ว จะเอาอะไรกันอีกล่ะคราวนี้
เมื่อเราอบรมฝึกฝนเห็นตัวของเรา มันเป็นไปอย่างนั้นแล้ว ก็ดีขึ้นแล้ว



อย่างเช่น เราละชั่ว แต่ก่อนไม่เคยละ หรือไม่พิจารณาเรื่องความชั่ว
ความชั่วคืออะไร
? มันผิดตรงไหนบ้างจึงเรียกว่าความชั่ว
คราวนี้เรามารักษาศีล มาอบรมจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล
ก็รู้จักว่า อ้อ ! มันผิดข้อนั้นๆ ตรงนั้นๆ เราก็ระมัดระวัง
เราก็ตั้งใจรักษาความดี ตั้งสติมั่นอยู่ตลอดเวลา
นั่นเป็นการช่วยเหลือนิสัยวาสนาของเรา มันก็ดีขึ้นแล้ว



นี่พอภาวนาเข้านิดๆ หน่อยๆ ก็อยากจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
โอย! มรรคผลนิพพานเอาไว้ก่อนเถิด เอาเท่านี้เสียก่อน
รักษาสติควบคุมจิตให้มันตั้งมั่นอยู่ ให้มันแน่วแน่เสียก่อน

มรรคผลนิพพานเอาไว้ต่างหาก
มรรคผลนิพพานไม่ใช่ใครจะยื่นมาให้ ไม่มีใครหยิบยื่นให้หรอก
หยิบยื่นให้ได้แต่เพียงแค่หัดสติ ทำสมาธิแน่วแน่เท่านั้น
หยิบยื่นให้ได้เพียงแค่นั้น ถ้าเอา มันก็ได้ ถ้าไม่เอา มันก็ไม่ได้
ถ้าทำอันนี้แก่กล้าแล้ว มรรคผลนิพพานมันก็ค่อยเป็นค่อยไปเอง มันไหลมาเอง



นี่เราพูดถึงเรื่อง "คนแก่กับเด็ก"
เมื่อคนแก่ไม่ทำประโยชน์อะไร เกิดมาก็ไม่มีประโยชน์เลย
อายุมากเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ สู้เด็กๆ ไม่ได้
เด็กมีอายุวันเดียว แต่หากมันช่างคิดช่างนึก
ช่างพิจารณาถึงความเสื่อมความสิ้นของสังขารร่างกาย
ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ดีกว่าคนแก่
นี่เปรียบเทียบกับเด็ก



เอาละ



นั่งสมาธิ
(พระอาจารย์อบรมนำก่อน)



อธิบายแล้ว คนแก่สู้เด็กไม่ได้ คราวนี้เราจะให้ดีกว่าเด็ก
เด็กเกิดวันนั้นมันพิจารณาอย่างไร มันจึงดีกว่าคนแก่



เราต้องเอาตัวของเรา พิจารณาตัวของเราคนแก่นี่แหละว่า
เรานี้แก่แล้ว ความแก่เรามีอยู่ประจำตัว เอาความแก่เป็นอารมณ์
ตรงนั้นก็แก่ ตรงนี้ก็แก่ เนื้อหนังมังสา รูปร่าง อัตภาพ ผิวพรรณ
ทุกสิ่งทุกอย่างแก่หมด ซูบซีดไปทุกสิ่งทุกอย่างเหี่ยวแห้งไปหมด
เนื้อหนังมังสะหายไปไหน มันจึงเหี่ยวแห้งค่อยหมดสิ้นไป มันหายไปไหน
?
พิจารณาตรงนั้นแหละ แล้วมันจะดำเนินไปยิ่งกว่านั้นอีก
มันจะเป็นอย่างไรอีก
? มันเหี่ยวแห้งเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก
จนกระทั่งหลุดออกจากกระดูก เหลือแต่กระดูก
แล้วกระดูกจะเป็นอย่างไร มันก็ต้องกองอยู่ที่ดิน
จะให้อยู่ยาวนานก็ไม่ได้ เมื่ออาศัยไม่ได้มันก็หนี
ตกลงเขาเรียกว่าอสุภะซากอสุภะ ยังเหลือแต่ซาก ตัวมันหนีไปแล้ว



แล้วเราจะยึดถืออะไร? ไม่มีเครื่องยึด พิจารณาลงอย่างนั้น
เอาเฉพาะกายนี่แหละ เราพิจารณาอย่างนี้ก็จะชนะเด็ก
การพิจารณาความเสื่อมความสิ้น ก็พิจารณาอันนี้แหละ
ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา พิจารณาอยู่ทุกเมื่อ
มันจะเห็นคุณค่าภายหลัง เมื่อเจ็บเมื่อป่วยตอนโน้นมันจึงค่อยเห็น

พิจารณาตามเป็นจริงเสียในเวลานี้ เมื่อถึงคราวเป็นจริงขึ้นมา
จิตใจจะได้ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย มีแต่ความสงบเยือกเย็น



พิจารณาเอาไว้ให้มากๆ ให้สมกับที่ว่าเป็นนักกัมมัฏฐาน นักภาวนา
นักกัมมัฏฐานมันต้องเก่ง จึงจะเรียกว่า "นัก"
ให้มันชำนาญเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อแก่เฒ่าชรามาก ถึงคราวนั้นจะได้อาศัย
ถ้ารอไว้จวนจะตายเสียก่อนค่อยพิจารณา จวนจะตายเสียก่อนจึงค่อยให้มันเห็น
โอย! ถึงเวลานั้นมันไม่ได้หรอก



ต้องพิจารณาเวลานี้แหละ ให้มันชำนิชำนาญ
มันจะเห็นคุณประโยชน์ในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย จะเห็นตามความเป็นจริง

คือเราหัดพิจารณาของที่จริงเหล่านั้นแล้ว
คราวนี้เราป่วยไข้ก็จะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นจริงเหมือนดังที่เราภาวนา
ดังที่เรารู้เห็นอยู่นั้น มันก็ปลงลงไปได้ มรณานุสติก็อยู่ในนั้น



คนเรามีการสิ้นสุดในขณะนั้นแหละ ทำอะไรๆ ทั้งหมดมันสิ้นสุดลงในขณะนั้นทั้งนั้น
ทำดีก็ได้ในขณะนั้น ทำชั่วก็เห็นในขณะนั้น (อย่างที่อธิบายมาแล้วเรื่อง) "กรรมนิมิต-คตินิมิต"
ที่เราทำอยู่นั้นเรียก "กรรมนิมิต" ทำดีอยู่เสมอๆ มันก็เห็นชัดอย่างนั้น
เมื่อเราพิจารณาอย่างนั้นอยู่ เวลามันจะเกิดกรรมนิมิต มันก็เห็นอย่างนั้น
เวลามันจะแตกจะดับก็ชัดอยู่อย่างนั้น
"คตินิมิต" คือที่ที่จะไปเกิดในภูมิอะไรต่างๆ ก็ปรากฏให้เห็นให้รู้ เราไม่ได้แต่งเอาหรอก



นี่แหละสิ่งที่ต้องช่วยตนเอง ไม่มีใครไปช่วยได้
หมู่เพื่อนก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ไม่มีใครไปช่วยได้ เราช่วยตัวเองทั้งนั้นแหละ
เวลาเราจะตาย ไม่ทราบว่าจะตายตรงไหน
ตายในป่ารก รถคว่ำตายก็มี ตกน้ำตายก็มี
ใครจะไปแนะนำพร่ำสอนกัน ก็ต้องพึ่งตนเองนะซี



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา คนแก่กับเด็ก
ใน พระธรรมเทศนาของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี)
บุญศิริการพิมพ์.
,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP