จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เทวทูตมาเตือน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



120 destination


เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีอยู่คืนหนึ่งระหว่างที่ผมกำลังกลับบ้านและเข้าซอย
ปรากฏว่าบริเวณปากซอยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมาดูแลอุบัติเหตุ
ผมจึงไปเข้าร่วมกิจกรรมไทยมุงอยู่ห่าง ๆ เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น
โดยที่สำคัญคือดูว่าเพื่อนบ้านหรือเพื่อนร่วมซอยคนไหนเกิดอุบัติเหตุหรือไม่

ไทยมุงที่มาถึงก่อนได้เล่าให้ฟังว่า แท็กซี่ที่ออกมาจากซอยชนกับมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งมาตามถนน
แล้วแท็กซี่ก็ขับหนีไปในทันที ส่วนคนขับมอเตอร์ไซค์ก็ถึงแก่ความตายในทันที
ผมมองไปยังบริเวณที่เจ้าหน้าที่ยืนอยู่กลุ่มใหญ่ ก็มองเห็นมอเตอร์ไซค์ล้มอยู่คันหนึ่ง
ใกล้ ๆ กันนั้นก็มีศพคลุมผ้าศพหนึ่งนอนอยู่บนพื้นถนน
ซึ่งเมื่อมองเห็นศพแล้ว ก็ให้รู้สึกสะท้อนใจนะครับว่า
ชีวิตคนเราก็เท่านี้แหละ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องตายกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้น


ผมถามไทยมุงท่านที่มาก่อนนั้นว่า คนขับมอเตอร์ไซค์เป็นคนในซอยเราหรือเปล่า
เขาบอกว่าไม่น่าจะใช่นะ โดยน่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านมาเฉย ๆ
ผมดูแล้วเห็นว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมซอย และไม่ได้เป็นคนรู้จักแล้ว
หากจะยืนมุงอยู่ต่อไป ก็จะทำให้เกะกะพื้นที่เสียเปล่า ๆ แถมเสียเวลาส่วนตัวผมด้วย
ผมจึงเดินทางกลับมาเข้าบ้าน แล้วก็ทำธุระอื่น ๆ ต่อไป


เวลาที่เราเห็นศพคนตายในลักษณะนี้
บางท่านก็อาจจะรู้สึกไม่ชอบใจ หรือว่ารู้สึกไม่เป็นมงคลนะครับ
อย่างสมัยที่ผมยังเด็ก ๆ นั้น มีญาติบางท่านสอนธรรมเนียมเรื่องหนึ่งแก่ผมว่า
เวลากลับจากงานศพมาถึงบ้านแล้ว ไม่ควรพูดอะไรกับใคร
โดยให้เราใช้น้ำแช่ใบทับทิมล้างหน้าเสียก่อน
ผมถามญาติท่านนั้นว่า เราจะทำเช่นนี้ไปเพื่ออะไร
เขาอธิบายว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะธรรมเนียมโบราณเขาถือกันมาอย่างนี้
โดยเชื่อว่าต้นทับทิมเป็นไม้มงคล ช่วยกันสิ่งไม่ดี รวมถึงภูตผีปีศาจได้


แม้ว่าผมจะถูกญาติบางท่านสอนมาดังนั้นก็ตาม
แต่เมื่อผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผมได้ไปงานศพมารวม ๆ กันเป็นร้อยงานแล้ว
ผมไม่ได้ใช้น้ำแช่ใบทับทิมมาล้างหน้าเลย เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาได้ที่ไหน และที่บ้านก็ไม่มี
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ใช้น้ำแช่ใบทับทิมมาล้างหน้าก็ตาม

ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น หรือพบว่าภูตผีปีศาจมาหาแต่อย่างใดนะครับ
ความเชื่อที่ถูกสอนและแนะนำมาในเรื่องนี้ จึงค่อย ๆ เบาบางลง และก็ไม่เชื่อไปเลย


ในทางกลับกัน ผมกลับเริ่มเห็นมากขึ้น ๆ ว่า
สิ่งไม่ดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตเรานั้น เกิดจากการกระทำของตัวเราเองทั้งสิ้น
ทั้งการกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจของเรา
โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปโทษอะไรคนอื่นเลยครับ
ซึ่งเมื่อได้มีโอกาสมาศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ความรู้ความเข้าใจก็เข้าใจมากขึ้นในเรื่องที่ว่าอะไรเป็นมงคล อะไรไม่เป็นมงคล
อันแตกต่างจากความเชื่อเดิม ๆ ที่ถูกสอนมาอย่างสวนทางเลยทีเดียว



อนึ่ง ผมเคยเขียนเรื่อง “ชีวิตที่โชคดีและเป็นมงคล” ไว้ในตอนหนึ่งในอดีต
ถ้าท่านผู้อ่านพอมีเวลา ก็ขอแนะนำให้ลองย้อนกลับไปอ่านได้นะครับ
http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=552&Itemid=1
ตามพระธรรมคำสอนนั้น เวลาเราพบศพหรือคนตายนั้น ไม่ใช่เรื่องไม่เป็นมงคลนะครับ

แต่กลับเปรียบเสมือนว่าเขาเป็นเทวทูตมาเตือนเราให้เห็นความจริงของชีวิต
โดยเมื่อเราเห็นคนตายแล้ว และเราไม่ประมาท
เราย่อมระลึกได้ว่า แม้เราก็ต้องมีความตายเป็นธรรมดา

ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เช่นนี้แล้ว เราพึงทำความดีทั้งปวงทั้งทาง กาย วาจา และใจ
ละเว้นความชั่วทั้งปวงทั้งทางกาย วาจา และใจ


ใน “ทูตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร)
ได้ทรงสอนเรื่องเทวทูต ๓ จำพวกว่า
บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เขาย่อมถูกนายนิรยบาลฉุดแขนไปแสดงต่อพระยายม (หรือยมบาล) ว่า
ขอเดชะ ชายผู้นี้เป็นคนไม่เกื้อกูลแก่มารดา ไม่เกื้อกูลแก่บิดา ไม่เกื้อกูลแก่สมณะ
ไม่เกื้อกูลแก่พราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล
ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่ชายผู้นี้เถิด
เขาย่อมถูกพระยายมสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่หนึ่งว่า
ท่านไม่ได้พบเทวทูตที่หนึ่งซึ่งปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ?
เขาตอบว่า ไม่พบ พระเจ้าข้า
พระยายมจึงได้ถามเขาต่อไปว่า สตรีหรือบุรุษมีอายุได้ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีก็ดี
อันเป็นคนชรา มีโครงคดเหมือนกลอน หลังโกง ถือไม้เท้า เดินงก ๆ เงิ่น ๆ
ผ่านความเป็นหนุ่มสาวแล้ว ฟันหัก ผมหงอก ศีรษะล้าน หนังเหี่ยว ตัวตกกระ
ท่านไม่ได้พบในพวกมนุษย์บ้างหรือ?
ชายนั้นตอบว่า ได้พบ พระเจ้าข้า
พระยายมจึงถามต่อไปว่า ท่านซึ่งเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้คิดเห็นเช่นนี้บ้างหรือว่า
แม้เราก็จักต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ฉะนั้น เราจักทำความดีทาง กาย วาจา ใจ?
ชายนั้นตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย


พระยายมจึงสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่สองต่อไปว่า
ท่านไม่ได้พบเทวทูตที่สองซึ่งปรากฏในหมู่มนุษย์บ้างหรือ?
เขาได้ตอบว่า ไม่พบ พระเจ้าข้า
พระยายมจึงได้ถามต่อไปว่า สตรีหรือบุรุษที่ป่วย ได้ทุกข์ เป็นไข้หนัก
นอนจมอยู่ในมูตรคูถของตน อันคนอื่นต้องช่วยพยุงลุก ช่วยป้อนอาหาร
ท่านไม่ได้พบในพวกมนุษย์บ้างดอกหรือ?
ชายนั้นได้ตอบว่า ได้พบพระเจ้าข้า
พระยายมจึงถามต่อไปว่า ท่านนั้นซึ่งเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่
ไม่ได้คิดเห็นเช่นนี้บ้างหรือว่า แม้ตัวเราก็จักต้องป่วยไข้เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ ฉะนั้น เราจักทำความดีทางกาย วาจา ใจ
เขาตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย


พระยายมจึงสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่สามต่อไปว่า
ท่านไม่ได้พบเทวทูตที่สามซึ่งปรากฏในพวกมนุษย์บ้างหรือ
เขาตอบว่า ไม่พบ พระเจ้าข้า
พระยายมจึงถามต่อไปว่า สตรีหรือบุรุษที่ตายได้วันหนึ่ง สองวัน หรือสามวันก็ดี
ขึ้นพองเป็นสีเขียว ชุ่มด้วยน้ำเหลือง ท่านไม่ได้พบในพวกมนุษย์บ้างหรือ
ชายนั้นได้ตอบว่า ได้พบ พระเจ้าข้า
พระยายมจึงถามต่อไปว่า ท่านนั้นซึ่งเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่
ไม่ได้คิดเห็นเช่นนี้บ้างหรือว่า แม้เราก็จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ฉะนั้น เราจักทำความดีทางกาย วาจา ใจ

เขาตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย


พระยายมจึงกล่าวว่า ท่านไม่ทำความดีทาง กาย วาจา ใจ เพราะมัวประมาทเสีย
เช่นนี้ ท่านจักถูกทำจนสาสมกับที่ท่านประมาท ก็กรรมชั่วทั้งหลายนั้น
มารดามิได้ทำให้ บิดามิได้ทำให้ พี่ชายน้องชายมิได้ทำให้ พี่สาวน้องสาวมิได้ทำให้
มิตรอำมาตย์มิได้ทำให้ ญาติสาโลหิตมิได้ทำให้ เทพยดามิได้ทำให้ สมณพราหมณ์มิได้ทำให้
ท่านได้ทำของท่านเอง ท่านนั่นแหละจักเสวยวิบากของกรรมชั่วนั้นเอง


หลังจากนั้น เขาผู้นั้นถูกนายนิรยบาลทำกรรมกรณ์ อันมีเครื่องผูก ๕ อย่าง คือ
เอาตาปูเหล็กแดงตอกที่มือ ที่เท้าที่ท่ามกลางอก เขาได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อน
แต่ก็ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น
เขาถูกนายนิรยบาลเอาผึ่งถาก เขาได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อน
แต่ก็ยังไม่ตายตราบเท่าที่กรรมนั้นยังไม่สิ้น
เขาถูกนายนิรยบาลจับเอาเท้าขึ้นเอาหัวลงแล้วเอามีดเฉือน เขาถูกนายนิรยบาลยกขึ้นใส่ในรถ
แล้วพาแล่นไปมาบนภูมิภาคอันไฟติดแดงลุกโชน
เขาถูกนายนิรยบาลไล่ต้อนให้ขึ้นบนภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ซึ่งไฟติดแดงลุกโชนบ้าง
ไล่ต้อนให้ลงจากภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ซึ่งไฟติดแดงลุกโชนบ้าง
เขาถูกนายนิรยบาลจับเอาเท้าขึ้นเอาหัวลง แล้วโยนลงในหม้อเหล็กแดงไฟติดลุกโชน
เขาถูกไฟไหม้เดือดเป็นฟองน้ำอยู่ในหม้อเหล็กแดงนั้น
เมื่อเขาถูกไฟไหม้เดือดเป็นฟองน้ำอยู่ในหม้อเหล็กแดงนั้น ลอยขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง
จมลงภายใต้ครั้งหนึ่งบ้าง ไปตามขวางครั้งหนึ่งบ้าง
เขาได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อนอยู่ในหม้อเหล็กแดงนั้น
แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น
ทั้งนี้ ในมหานรกนั้นมี ๔ มุม ๔ ประตู จัดแบ่งออกเป็นห้อง ๆ มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ
ครอบด้วยฝาเหล็กแดง มีพื้นแล้วด้วยเหล็ก ไฟลุกโชนประกอบด้วยเปลว แผ่ไปไกลร้อยโยชน์โดยรอบ


มาณพเหล่าใดอันเทวทูตทั้งหลายตักเตือนแล้ว ยังมัวเมาประมาท
มาณพเหล่านั้น เป็นคนเข้าถึงหมู่ที่เลวทราม ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน
ส่วนสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว
ย่อมไม่มัวเมาประมาทในอริยธรรมในกาลไหนๆ
เห็นภัยในความถือมั่น อันเป็นแดนเกิดแห่งชาติและมรณะ
ย่อมหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ เพราะไม่ถือมั่น
สัตบุรุษเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีความสุข ดับสนิทในปัจจุบัน
ล่วงพ้นเวรและภัยทั้งปวง ข้ามพ้นทุกข์ทั้งสิ้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3629&Z=3716&pagebreak=0


แม้ว่าเราจะได้เห็นคนตาย ซึ่งเป็นเหมือนเทวทูตมาเตือนเราก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราทุกคนจะได้เห็นภัย และต่างระลึกได้กันทุกคนนะครับ
เพราะบางคนก็ประมาท บางคนก็ไม่ประมาท
บางท่านอาจจะไม่ต้องได้เห็น แต่เพียงแค่ได้ยิน ก็ระลึกได้แล้วก็มี แตกต่างกันไป
ในบรรดาท่านที่ระลึกความจริงของชีวิตนี้ได้ จึงมุ่งทำความดี ละเว้นความชั่ว
เราเรียกว่าบุรุษอาชาไนยครับ
(ส่วนบรรดาที่ระลึกไม่ได้ และทำชั่วไปจนตาย ก็ไม่เรียกว่าบุรุษอาชาไนย)


ใน “ปโตทสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
ได้สอนว่าบุรุษอาชาไนยแบ่งออกเป็น ๔ จำพวกเปรียบเสมือนม้าอาชาไนย ดังต่อไปนี้


ม้าอาชาไนยจำพวกแรก เพียงเห็นเงาของปฏักแล้ว ก็ย่อมสลด ถึงความสังเวชว่า
วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร


ม้าอาชาไนยจำพวกที่สอง เห็นเงาปฏักแล้ว ยังไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช
แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนแล้ว จึงสลด ถึงความสังเวชว่า
วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร


ม้าอาชาไนยจำพวกที่สาม เห็นเงาปฏักแล้ว ยังไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช
แม้ถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขน ก็ยังไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช
แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนัง จึงสลด ถึงความสังเวชว่า
วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร


ม้าอาชาไนยจำพวกที่สี่ เห็นเงาปฏักแล้ว ยังไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช
แม้ถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขน ก็ยังไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช
แม้ถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช
แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักถึงกระดูก จึงสังเวช ถึงความสลดว่า
วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร


ม้าอาชาไนย ๔ จำพวกนี้เปรียบเสมือนบุรุษอาชาไนย ๔ จำพวกในโลกนี้ กล่าวคือ
บุรุษอาชาไนยจำพวกแรก ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น

มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย เขาย่อมสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น
เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้ โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา
เปรียบเสมือนม้าอาชาไนยจำพวกแรก


บุรุษอาชาไนยจำพวกที่สอง ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น
มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย
แต่เขาเห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตายเอง
เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น
เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้ โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา
เปรียบเสมือนม้าอาชาไนยจำพวกที่สอง


บุรุษอาชาไนยจำพวกที่สาม ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น
มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย
และไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตายเอง
แต่ญาติของเขาถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น
เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้ โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา
เปรียบเสมือนม้าอาชาไนยจำพวกที่สาม


บุรุษอาชาไนยจำพวกที่สี่ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น
มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย
และไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตายเอง
และญาติของเขาไม่ได้ถึงความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย
แต่ตัวเขาเองได้รับทุกขเวทนาทางสรีระกล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
ทุกข์จนแทบจะทำให้ถึงตายแล้ว เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น
เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้ โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา
เปรียบเสมือนม้าอาชาไนยจำพวกที่สี่
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=3127&Z=3192


แม้ว่าในชีวิตจริงของเรา เราจะได้พบเห็นเทวทูตทั้งสามอยู่เสมอ ๆ ก็ตาม
แต่ถ้าเรายังประมาทอยู่ เราก็ย่อมจะระลึกถึงความจริงของชีวิตไม่ได้
โดยผลก็คือยังทำกรรมชั่วต่อไป ไม่ได้สนใจมุ่งสร้างกรรมดี
ท้ายที่สุด ก็ทำให้เข้าถึงหมู่ที่เลวทราม และย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน
ซึ่งเราก็คงจะได้เห็นตัวอย่างในชีวิตจริงสำหรับคนที่ประมาทจำนวนมากในโลกใบนี้
ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ประมาท เราย่อมเห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นความจริงของชีวิต

เราย่อมมุ่งสร้างสมกรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว
มุ่งศึกษาและปฏิบัติไปเพื่อความล่วงพ้นเวรและภัยทั้งปวง และข้ามพ้นทุกข์ทั้งสิ้นครับ


ท้ายนี้ ผมก็ขอส่งท้ายปี ๒๕๕๖ กับท่านผู้อ่านทุกท่านในฉบับธรรมะใกล้ตัว Lite นี้นะครับ
และพบกันใหม่ในปี ๒๕๕๗ ในฉบับธรรมะใกล้ตัวครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP