จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เลิกคบเพื่อน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

 


119 destination



ในช่วงบรรยากาศข่าวทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้
ผมได้พบเห็นญาติธรรมบางท่านบอกว่าตนเองต้องเลิกคบเพื่อนบางคน

(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนในระบบโซเชียลมีเดีย)
เพราะมีการถกเถียงในความเห็นแตกต่างและไม่เข้าใจกัน จนสุดท้ายก็เลิกคบกัน

ซึ่งที่พูดคุยไม่เข้าใจกันนี้ บางทีก็ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองนะครับ
บางทีก็เป็นเรื่องธรรมะ เรื่องการใช้ชีวิต หรือเรื่องอื่น ๆ ด้วย
เมื่อเลิกคบกันแล้ว ญาติธรรมบางท่านก็รู้สึกไม่สบายที่ต้องเลิกคบเพื่อนนะครับ


การที่เราและเพื่อนมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ
เพราะการมีความเห็นแตกต่างกันย่อมเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์เรา
จะให้ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันหมดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
ซึ่งโดยที่สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ย่อมดับไปเป็นธรรมดา

ทุกงานเลี้ยงก็ย่อมมีการเลิกรา หรือลาจาก
ฉะนั้น เมื่อมีคบหากัน ก็ย่อมจะมีการพรากจากกัน หรือเลิกคบกันได้เป็นธรรมดา
เพราะสิ่งใด ๆ ในโลกล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง คือล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง และไม่ถาวร


ในเวลาที่เราได้เลิกคบเพื่อนนั้น นอกเหนือจากเราพิจารณาเห็นความเป็นอนิจจังดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่ผมใคร่ขอแนะนำให้เราได้พิจารณาด้วยก็คือว่า เพื่อนที่เราเลิกคบนั้นเป็นอย่างไร
กล่าวคือพิจารณาว่า เพื่อนที่เราเลิกคบนั้นเป็นผู้มีศีล สมาธิ และปัญญาเพียงไร

ในพระธรรมคำสอนนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เราคบทุกคนนะครับ
ท่านทรงสอนว่าเราพึงจะต้องเลือกคบคนด้วย ยกตัวอย่างเช่น
ใน “เสวิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
บุคคล ๓ จำพวกมีปรากฏอยู่ในโลก ได้แก่

๑. บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้า ไปนั่งใกล้
๒. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้

๓. บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้


บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา
บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน



บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นคนเช่นเดียวกับตน โดยศีล สมาธิ ปัญญา
บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้
เพราะการสนทนาปรารภศีล จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยศีล

การสนทนาปรารภสมาธิ จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยสมาธิ
การสนทนา ปรารภปัญญา จักมีแก่เราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยปัญญา
บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้


บุคคลที่จะต้องสักการะ เคารพแล้วจึงเสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นผู้ยิ่งกว่าเราโดยศีล สมาธิ ปัญญา
บุคคลเห็นปานนี้ จักต้องสักการะเคารพแล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้
เพราะการกระทำดังนั้น จักบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์
หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้น ๆ
จักบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
หรือจักอนุเคราะห์สมาธิขันธ์บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ
จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
หรือจักอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ
บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรสักการะเคารพ แล้วเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้


ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ายังได้ตรัสสอนว่า
“บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง
คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหน ๆ
คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้นจึงควรคบคนที่สูงกว่าตน”

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3269&Z=3302&pagebreak=0


ใน “ชิคุจฉสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ได้แก่
คือ ๑. บุคคลที่พึงเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
๒. บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
๓. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้



บุคคลที่พึงเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ
มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล
เน่าในภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ


บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ
เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด
ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ


บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่
บุคคลซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%AA%D4%A4%D8%A8%A9%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1


ใน “อันธสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ได้แก่
๑. คนตาบอด ๒. คนตาเดียว และ ๓. คนสองตา
บุคคลตาบอด ได้แก่ บุคคลซึ่งไม่มีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้

หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น
แต่ไม่มีนัยน์ตาเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
ไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมที่เลวและประณีต

ไม่รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว


บุคคลตาเดียว ได้แก่ บุคคลซึ่งมีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น
แต่ไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
ไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมที่เลวและประณีต
ไม่รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว


บุคคลสองตา ได้แก่ บุคคลซึ่งมีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น
ทั้งยังมีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวหรือประณีต
รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว


โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า บุคคลพึงควรคบกับคนสองตา
และพึงควรเว้นจากคนตาบอดและคนตาเดียวเสียให้ห่างไกล
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3373&Z=3405&pagebreak=0


นอกจากนี้แล้ว ใน “มงคลสูตร” ซึ่งได้สอนเรื่องมงคลชีวิต ๓๘ ประการนั้น
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
ได้กล่าวถึงมงคลชีวิตใน ๒ ข้อแรกคือ ๑. การไม่คบคนพาล และ ๒. การคบบัณฑิต

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=25&A=41


ใน “ภยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ได้สอนว่า
ภัย อันตราย และอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นทั้งสิ้นนั้น
ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล หาเกิดขึ้นแต่บัณฑิตไม่
คนพาลมีภัยเฉพาะหน้า บัณฑิตหาภัยเฉพาะหน้ามิได้
คนพาลมีอันตราย บัณฑิตหาอันตรายมิได้
คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตหาอุปสรรคมิได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=2630&Z=2653&pagebreak=0


เราจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราหลีกห่างไกลจากคนพาล แต่ให้คบหาบัณฑิต
การพิจารณาคนพาลนั้นอาจพิจารณาได้หลัก ๆ จากศีล สมาธิ และปัญญา
(โดยหมายถึงปัญญาในทางธรรมนะครับ ไม่ได้หมายถึงความฉลาดในทางโลก ๆ)
ฉะนั้นแล้ว หากเพื่อนที่เราเลิกคบนั้นมีลักษณะที่เป็นคนพาลแล้ว

การเลิกคบกับเขา ก็เป็นสิ่งที่สมควรทำ
โดยอันที่จริงแล้ว เราก็ไม่ควรคบกับเขาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราพึงหลีกเสียให้ห่างไกล
แต่ถ้าเพื่อนที่เราเลิกคบมีลักษณะเป็นบัณฑิต และเราเองมีลักษณะเป็นคนพาลแล้ว
ก็พึงเข้าใจว่าเราพลาดเสียแล้วที่ได้เลิกคบกับบัณฑิต
และหากเป็นไปได้ เราก็ควรจะหาหนทางปรับความเข้าใจ หรือขออภัยเขา เพื่อจะคบกันต่อไป



บางท่านอาจจะสงสัยว่า จะดูอย่างไรว่าเพื่อนเรามีศีล สมาธิ และปัญญาหรือเปล่า
ตอบว่า ถ้าเราคบหากับเพื่อนเราไปสักระยะหนึ่ง ได้สนทนากับเขาสักระยะหนึ่ง

ได้เห็นและรับทราบพฤติกรรมของเขาไปสักระยะหนึ่ง ก็น่าจะพิจารณาพอทราบได้นะครับ
โดยพิจารณาว่าความคิดความอ่านของเขา คำพูดและวาจาของเขา
และพฤติกรรมของเขาว่าสอดคล้องไปในทางศีล สมาธิ และปัญญาแค่ไหน เพียงไร

ถ้าไม่ไปในทางศีล สมาธิ และปัญญาเลย ก็พึงจัดไว้ในกลุ่มคนพาล
แต่ถ้าไปในทางศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ก็พึงจัดไว้ในกลุ่มบัณฑิต


อนึ่ง ใน “เสวิสูตร” ได้สอนว่า เราไม่พึงคบหาบุคคลซึ่งเป็นคนเลว โดยศีล สมาธิ ปัญญา
เว้นแต่ว่าเราจะมุ่งเอ็นดูอนุเคราะห์ กล่าวคือเว้นแต่เรามุ่งจะช่วยเหลือสอนเขาได้

แต่ถ้าเราไม่สามารถสอนเขาได้แล้ว เช่น เขาไม่เปิดใจรับฟังใครเลย เขาไม่ฟังเราสอน
เราไม่สามารถจะสอนเขาได้ หรือเราไม่มีเวลาพอที่จะไปสอนเขา เป็นต้น

เราก็พึงหลีกห่างไกลเขาครับ แต่พึงเอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่า
เพราะเราทุกคนก็มีภาระสำคัญในชีวิตมากมายหลายอย่าง
และก็มีหน้าที่ต้องพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญาของตนเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


หากการจะอนุเคราะห์ใครสักคนจะต้องใช้เวลาชีวิตหรือพลังมากเกินสมควรแล้ว
เราก็พึงประหยัดเวลาและพลังมาใช้เพื่อภาระสำคัญในชีวิตเราจะสมควรกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเองก็ไม่ทราบว่าเราจะอนุเคราะห์เขาได้สำเร็จหรือไม่
ถ้าเราจะพึงอนุเคราะห์เขา เราก็พึงแนะนำเพียงเท่าที่ใช้เวลาไม่เกินสมควรครับ

นอกเหนือจากนั้นแล้ว เราก็ต้องถืออุเบกขาเช่นกัน โดยก็รอให้บัณฑิตท่านอื่นไปสอนเขาแทน
หรือรอให้เขามีพื้นฐานทางศีล สมาธิ และปัญญามากขึ้นกว่านี้ เพียงพอที่จะเรียนรู้ได้ต่อไป


เราพึงระวังว่า ถ้าเราไปใช้เวลาหรือพลังมากเกินสมควรกับบุคคล ซึ่งเป็นคนพาลแล้ว
แทนที่เราจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือเขา โดยเราลากเขาขึ้นมาหรือไปสุคติภูมิแล้ว
เขาอาจจะลากเราลงต่ำ โดยลากเราไปอบายภูมิแทนก็ได้

เปรียบเสมือนว่าเขากำลังจมน้ำอยู่ และเรากระโดดลงไปช่วยเขา
ถ้าเราว่ายน้ำแข็งแรงแล้ว เราอาจจะช่วยเขาขึ้นฝั่งมาได้
แต่ถ้าเขาไม่ยอมขึ้นฝั่งมา เราก็ยังสะบัดเขาหลุดได้ และเราสามารถกลับขึ้นฝั่งมาได้
ถ้าเราว่ายน้ำไม่แข็งแรงแล้ว เราอาจจะโดนเขาลากจมน้ำลงไปด้วยกันก็ได้
(หรือบางกรณีที่คนที่ไปช่วยจมน้ำตาย และคนที่ถูกช่วยกลับรอดขึ้นฝั่งมาได้ก็มี)
สรุปแล้วก็ต้องดูตัวเราเอง และดูเพื่อนเราให้ดีนะครับว่าใครจะลากใครกันแน่

อย่าประมาทคิดว่าเราจะลากเขาได้เสมอไป เขาอาจจะเป็นฝ่ายลากเราก็ได้ครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP