สารส่องใจ Enlightenment

ใจเป็นบ่อเกิดของทาน ศีล ภาวนา



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




เทศนาให้ฟังมามากมาย บางคนอาจจะเข้าใจว่าไม่ได้เทศนาให้ตนฟังก็ได้
คนที่ฟังเทศน์เป็น ฟังเทศน์ถูก จะต้องเข้าใจว่าท่านเทศนาให้เราฟังโดยเฉพาะ
ถ้าหากว่าเข้าใจอย่างนั้นแล้ว ก็จะได้ความ
ที่ท่านเทศน์ไม่ได้เทศน์ให้คนอื่นฟัง เทศน์ให้เราฟังคนเดียว เฉพาะเราคนเดียว
เพราะการเทศน์มุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจ ผู้ฟังจะต้องฟังให้เข้าใจทุกคน
ถ้าหากว่าเข้าใจว่าท่านเทศน์ให้คนอื่นฟังแล้ว เราเลยไม่ตั้งใจฟัง เอาใจส่งไปทางอื่นเสีย
สอนให้หัดภาวนา ก็เลยเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ไม่ได้สอนให้เราภาวนา สอนให้คนอื่นต่างหาก



ภาวนากัมมัฏฐานมันมีอยู่แล้วทุกคน ที่ภาวนากัมมัฏฐานมีอยู่เฉพาะตัวของเราทุกๆ คน
จึงสอนให้ตั้งใจภาวนา สิ่งอื่นๆ ที่สอนไปมากมาย ก็สอนให้รวมจิตรวมใจอันเดียวกันนั่น
คือสอนเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา
เรื่องอะไรทั้งปวงหมด ให้เอาใจตัวเดียวเป็นที่ตั้ง
เพราะใจเป็นบ่อเกิดของทาน ของศีล ของภาวนา เกิดขึ้นที่ใจอันเดียว
หากคนไม่มีใจเสียแล้ว คือคนตายแล้ว ไม่ทำบุญทำทานอะไรทั้งหมด รักษาศีลก็ไม่ได้
เพราะใจมันมีนั่นแหละ จึงคิดจึงนึกส่งส่าย แสวงหาบุญหากุศล
รักษาศีลเมตตาภาวนา เพราะใจเท่านั้นมันมีอยู่



การรักษาพระพุทธศาสนา คือการทำบุญสุนทาน หวังดีหวังชอบ
ก็ใจนั่นแหละหวังดี ถ้าหากไม่มีใจแล้ว ไม่ทำดีทำชอบ
คือไม่เห็นใจของตนคิดชั่วทำชั่ว คิดร้ายกาจอำมหิตโหดร้ายด้วยประการต่างๆ
นั่นเรียกว่าใจทำชั่ว เราไม่รู้ตัวจึงรักษาใจไม่ได้
ทำชั่วทำทุจริต ประพฤติผิดด้วยประการต่างๆ
ใจมันพาเราไป เพราะไม่มีสติ
พอตั้งสติรักษาใจแล้ว รู้จักว่าจิตคิดชั่วคิดไม่ดี ก็รู้จักรักษาตัว



เพราะคนเราทุกคนนั้น ปรารถนาความดีด้วยกันทั้งนั้น
ไม่มีใครหรอกที่ปรารถนาความชั่ว
แต่ว่าไม่มีสติ มันจึงจะไปทางชั่ว คิดชั่ว ทำทางชั่ว
เพราะนิสัยคนเรามันชั่วมาแล้วแต่ก่อน คือไม่มีสตินั่นเอง
ครั้นเมื่อมีสติควบคุมจิต ก็ต้านทานความชั่วไว้ได้ ไม่ให้ดึงไปในทางที่ชั่ว
ความขี้เมา คนเมาเหล้ามันไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติมันก็ไปทางชั่ว
เหตุนั้นจึงว่าสติ ตัวนี้ควบคุมจิตให้อยู่ในทางที่ชอบ
สติคุมจิตไม่อยู่แล้ว ก็เหลวไหลเลอะเทอะ ทำชั่วด้วยประการต่างๆ
จนถึงที่สุดเปลือยกายนอนที่ถนน อุจจาระปัสสาวะรดตนรดตัว ก็ไม่รู้จัก
ในผลที่สุดเป็นผลดีแก่สุนัขมาเลียก้นหมดนั่น นั่นแหละสติไม่มี
คนสติไม่มีมันเป็นอย่างนั้นแหละ มันทำชั่ว
อันคนมีสติดีแล้ว มันระวังรักษาตัว ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้
สุราท่านจึงบอกว่าเป็นเหตุให้เกิดความประมาท ดีๆ อยู่ก็ทำให้ทำความชั่วได้
หากไม่ดื่มสุราก็ไม่ทำชั่วถึงขนาดนั้น พอดื่มสุราเข้าไปก็ทำชั่วเลย
ทำเหลวไหลได้ทุกอย่าง พูดจาปะรำปะระไปทุกสิ่งทุกประการ
นี่เป็นตัวอย่าง ไม่มีสติมันเป็นอย่างนี้แหละ



จึงให้รักษาสติตัวนี้เอาไว้ ควบคุมจิตให้ดี
ถ้าหากว่าเราควบคุมจิตอยู่ อย่างน้อยที่สุดก็รู้ตัวว่าผิดหรือถูก
ยังทำยังละผิดไม่ได้ แต่ก็ยังรู้ตัวอยู่ ก็นับว่าดีขึ้น

รู้ตัวแล้วมันอาย ละอายบาปละอายความชั่ว
มันก็สามารถที่จะละชั่วได้ ค่อยกลายเป็นคนดีขึ้นมาโดยลำดับ
การรักษาสติจึงว่าเป็นของนำมาซึ่งความดี
ทุกคนมีแล้วสติแต่ไม่รักษา ทุกคนมีจิตแล้ว แต่ไม่รักษา


ใครเป็นคนรักษาสติ เป็นคนรักษาจิต
สติ
คือความระลึกได้ พอระลึกได้ สติ ก็เกิดขึ้นมาในที่นั้น

คือระลึกความชั่วความดีได้นั่นแหละ มันเกิดมาขึ้นมาในที่นั้น
จิตมันคิดมันก็รู้จัก เพราะความระลึกได้รู้ได้ ในเมื่อมันรู้ได้
เวลามันคิดมันนึก มันปรุงแต่งไปในทางที่ชั่ว ก็รู้ได้ว่าตัวจิตนั่นมันคิดไปทางชั่ว
คนเรามันปรุงมันแต่งในทางที่ออกจากตัวเป็นธรรมดา ส่งไปข้างหน้าข้างหลัง ไม่อยู่คงที่
ถ้าหากสติไม่คุมไว้ยิ่งไปใหญ่ สติคุมแล้วอยู่ในปัจจุบัน นั่นแหละค่อยดีขึ้นมา



จึงว่าฝึกหัดอบรมกัมมัฏฐาน นั่นคืออบรม “สติ” ตัวเดียว รักษาจิตตัวเดียว
จะหัดวิธีใดทั้งหมด ต้องลงไปใน สติ ตัวเดียว
ที่เราได้มาหัดกัมมัฏฐาน หัดภาวนา มีครูบาอาจารย์สอนก็รีบทำเสีย
หัดทำเสียในเวลานี้ โอกาสมีเวลานี้ หากนานไป ไม่มีใครสอนใครอบรม
หรือหากมีอุปสรรคขัดข้อง มีธุระการงาน
หรือเราแก่เฒ่าชรา หรือเราล้มเราตาย เราเจ็บเราป่วย ก็จะไม่มีโอกาส
เวลานี้จึงนับว่าโอกาสดีนักหนา จงตั้งใจทำกัมมัฏฐาน
เมื่อได้พื้นฐานหลักฐานไว้มั่นคงแล้ว ไปอยู่ไหนก็ทำได้
จึงสอนให้ได้หลักฐาน ให้เราทำกัมมัฏฐานได้
ถึงหากภาระการงานมีมากสักเท่าไร แต่เรายังใฝ่ใจอยู่เสมอ นึกถึงกัมมัฏฐานอยู่เสมอ
ถ้าหากมีโอกาสจะทำได้สักวันหนึ่งทีเดียว
เหตุนั้น จงตั้งใจศึกษา อบรม ฝึกหัดกัมมัฏฐาน เพราะสติก็มีอยู่ ใจก็มีอยู่แล้ว
ทำให้มันเกิดให้มีขึ้น เรียกว่าภาวนา ภาวนาคือทำให้เกิด ให้มีขึ้นนั่นเอง




นั่งสมาธิ
(พระอาจารย์อบรมนำก่อน)



ตั้งใจทำความสงบ อบรมสติให้แน่วแน่ ก่อนที่จะทำสมาธิ
ทำใจให้สบายๆ ทำใจให้มันเป็นกลางๆ ไม่เอนเอียงไปข้างหน้า ข้างหลัง
อยู่เป็นกลาง จุดตรงกลางนี่แหละ มันเป็นของสำคัญ
ถ้าหากตั้งมั่นในศูนย์กลางแล้วเท่านั้น ก็จะเป็นสมาธิ
อุบายแยบคายที่จะทำให้เป็น “กลาง” นั่นเป็นของสำคัญ
เป็น “กลาง” ในที่นี้หมายถึง ในปัจจุบัน
ลงปัจจุบันไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่ส่งส่ายไปในอายตนะทั้งปวงหมด
เวลานี้เรากำลังทำภาวนา เราต้องการภาวนา เราจึงมานั่งสมาธิภาวนาทำความสงบ
เราไม่ต้องการส่งส่าย ไม่ต้องคิดนึกอะไรมาก การคิดนึกอะไรต่างๆ
เอาไว้ส่วนอื่นเวลาออกจากภาวนาจึงค่อยคิดค่อยนึก



ทำจิตให้กลางๆ เฉยๆ ลงไป ทำใจให้สงบเยือกเย็นลงไป
เราก็จะได้เห็นอานิสงส์ของสมาธิภาวนา
ที่จิตใจกลางๆ ตรงนั้นแหละ วางได้เป็นกลางแล้วจะได้ความสุขสงบ
แต่ก่อนเก่าแต่ไหนแต่ไรมา เราไม่เป็นกลางสักที ส่งไปส่งมาหน้าหลังอยู่อย่างนั้นแหละ
ไม่อยู่เป็นกลาง จึงไม่ได้ความสุขสงบพอ คราวนี้ทำใจให้กลางไว้ ให้มันเย็นสบาย
จะเห็นอานิสงส์ของสมาธิภาวนาตรงนั้นแหละ
เมื่อมันจะคิดจะนึก มันก็ออกไปจากกลางนั่นแหละ คิดอะไรก็ออกไปจากกลางนั่น



ถ้ามันจะคิดจะนึก ก็ให้มันคิดมันนึกในทางธรรม ไม่ส่งส่ายไปทางนอก
เพราะเรามาฝึกหัดธรรม คือการพิจารณากาย ค้นคว้าภายในกายในตัวตนของเรานี่
พิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯ เราพิจารณาเพียงอันเดียวก็ได้
คำว่า “พิจารณา” ในที่นี้ให้ดูให้เห็น จิตเพ่งเข้าไปดูเข้าไปเห็น
พิจารณากระดูกอันที่มันเป็นแก่นสารของสังขารร่างกาย
กระดูกนั้นแม้เนื้อหนังหลุดไปก็ตาม เปื่อยเน่าไปก็ช่าง อวัยวะทุกชิ้นทุกส่วนเปื่อยไป
แต่กระดูกมันเป็นของถาวร ตั้งร้อยๆ ปีพันปีมันก็อยู่ได้
เอาโครงกระดูกนั้นแหละมาพิจารณา
เมื่อมันตายแล้วมันก็เหลือแต่กระดูกนั่นนะซี กระดูกมันเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่
พิจารณาไล่ไปให้จิตมันต่อกระดูก ต่ออย่างไร มันอยู่อย่างไร ต่อกันอย่างไร
ไล่ไปหมดทุกอย่าง พิจารณามันอยู่อย่างนี้แหละ



ครั้นมันอยู่อย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ให้มันชัดลงไป เห็นแจ้งลงไปๆ
แล้วมันจะวางกระดูก มันทิ้งกระดูกนั่น
รวมลงไปอยู่อันเดียวของมันต่างหาก เป็นจิตอันเดียวเท่านั้น
ถ้ามันออกมาก็อย่าให้มันส่งออกไปข้างนอก อย่าให้มันส่งไปเรื่องอื่น
ให้มันพิจารณากระดูกนี่แหละ เรื่องอื่นๆ เอาไว้ตอนหนึ่งต่างหาก
เวลาเราภาวนาต้องอยู่ตรงนี้ ให้แน่วแน่อยู่ตรงนี้ นี่แหละเรียกว่าภาวนา


เอ้า พากันทำ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จาก พระธรรมเทศนา ใจเป็นบ่อเกิดของทาน ศีล ภาวนา
ใน พระธรรมเทศนาของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี)
บุญศิริการพิมพ์.
,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓.






แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP