จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ให้เกมเลี้ยงลูก


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


117 destination



เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปต่างประเทศ
โดยในคณะที่เดินทางไปด้วยกันนั้น มีเด็กคนหนึ่งเดินทางไปด้วย
ซึ่งระหว่างเดินทางนั้น น้องเขาก็มักจะเล่นเกมในแท็บเล็ต
ผมเองก็ไม่ได้ค่อยได้คุยกับน้องเขาเท่าไรนักในวันแรก
พอผ่านเข้าวันที่สองและวันที่สาม ก็มีโอกาสได้พบกันและคุยกันมากขึ้น
จึงได้มีโอกาสดูว่าน้องเขาเล่นเกมอะไรในแท็บเล็ต
ก็พบว่าน้องเขาชอบเล่นเกมปลาฉลาม (ผมไม่ทราบว่าชื่อเกมอะไรนะครับ)
โดยเล่นเป็นตัวปลาฉลามว่ายน้ำไปมาในท้องทะเล แล้วก็กินปลาตัวอื่น ๆ

บางช่วงก็ไล่กินมนุษย์นักประดาน้ำ หรือบางช่วงก็กระโดดไปไล่งับกินมนุษย์บนเรือ
ซึ่งเวลาที่กินปลาอื่น ๆ หรือกินมนุษย์นั้น ก็จะมีเลือดกระจายอยู่ในน้ำทะเลด้วย

ฉากก็ทำได้สวยและให้ความรู้สึกอินได้ตามสภาพสมกับเป็นเกมสมัยใหม่นะครับ


ผมเห็นน้องเขาเล่นเกมลักษณะนี้แล้ว จึงแนะนำเขาว่า
เกมนี้มันโหดไปหน่อยนะ เราน่าจะเล่นเกมอื่นไม่ดีกว่าหรือ?
อย่างเช่น เกมเรียงผลไม้ เกมหมากรุก หรือเกมโกะ อะไรอย่างนี้
กล่าวคือ เล่นเกมอื่น ๆ ที่ไม่ต้องมีการฆ่ากันในเกมนั้นมีหรือเปล่า
น้องเขาตอบว่า เขามีเกมสร้างบ้าน และเกมอื่น ๆ ด้วย

แต่เขาไม่ชอบเล่น โดยเขาชอบเล่นเกมปลาฉลามนี้มากกว่า


ทีนี้ ผมเองก็คุยแนะนำได้แค่นิดหน่อยนะครับ
ขืนไปแนะนำลูกหลานคนอื่นเขามาก เดี๋ยวคนแนะนำนั่นแหละจะเดือดร้อนเสียเอง
แต่จากที่เห็นผู้ใหญ่บางท่านซื้อบรรดาแท็บเล็ตให้ลูกหลานเล่นเกมนั้น
หลายท่านทำไปเพราะว่าสะดวกตนเอง โดยในระหว่างที่เด็ก ๆ เล่นเกมในแท็บเล็ตนั้น
ตนเองก็สามารถไปทำอย่างอื่นได้ โดยตนเองไม่ต้องมาเหนื่อยสอนหรือดูแลเด็ก


ยกตัวอย่างญาติธรรมท่านหนึ่งที่ผมรู้จักนั้น ปกติแล้วในเวลาทานอาหารนั้น
จะเป็นเวลาระหว่างรออาหาร ทานอาหาร และหลังทานอาหารเสร็จก็ดี

ลูกของเขาก็จะซนเล่นโน่นนี่ตามประสาเด็ก
ต่อมาเมื่อเขาซื้อแท็บเล็ตให้ลูกเล่นเกมแล้ว
ปรากฏว่าลูกเขาก็อยู่นิ่ง ๆ ได้ โดยมัวแต่เล่นเกมในแท็บเล็ต
ก่อนทานข้าวก็เล่นเกมในแท็บเล็ต ระหว่างทานข้าวก็รีบทานเพื่อจะกลับไปเล่นเกม
หลังจากทานข้าวเสร็จก็ไม่ซน เพราะมัวแต่เล่นเกมในแท็บเล็ต
ญาติธรรมเขาก็สบายว่าลูกเขาไม่ซนแล้ว โดยเด็กนั่งเล่นแท็บเล็ตอยู่นิ่ง ๆ
เขาก็นั่งทานอาหารได้สบาย โดยไม่ต้องเหนื่อยดูแลและสอนเด็กในระหว่างทานอาหาร
พอเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่ง ปรากฏว่าเด็กเริ่มมีอาการจะตาเหล่เสียแล้ว

เขาจึงพาลูกไปพบแพทย์ แพทย์ตรวจดูอาการแล้ว ก็ไม่ได้รักษาอะไร
บอกว่าปกติแล้ว เด็ก ๆ ก็อาจจะมีอาการเช่นนี้ประมาณ ๑ ใน ๑๐
ก็ให้พ่อแม่รอดูอาการไปอีกสักพักหนึ่งก่อน โดยยังไม่มีอะไรน่ากังวล


เมื่อญาติธรรมท่านนี้เล่าเรื่องให้ผมฟัง
ผมก็แนะนำว่า ถ้าลูกเริ่มมีอาการตาเหล่แล้ว พ่อแม่ยังไม่เริ่มที่จะกังวล
และเริ่มพิจารณาปรับพฤติกรรมหรือปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างสำหรับลูก
เพื่อให้ลูกหายจากอาการนั้นแล้ว ถามว่าจะต้องรอถึงเมื่อไหร่จึงจะเริ่มกังวลได้?
ถามว่าพ่อแม่จะรอให้ลูกตาเหล่ถาวรเสียก่อนแล้ว ค่อยเริ่มกังวลเช่นนั้นหรือ?
จริง ๆ แล้ว เวลาที่พ่อแม่ได้ทานอาหารกับลูกนั้น
เป็นเวลาที่ดีที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน
พ่อแม่จะได้สังเกตพฤติกรรมของลูก พูดคุยกับลูก และสอนสิ่งดี ๆ ให้ลูก
แต่ปรากฏว่าแทนที่พ่อแม่จะใช้เวลานั้นเลี้ยงลูก และสอนลูก
พ่อแม่กลับขี้เกียจ อยากจะสบาย และให้เกมในแท็บเล็ตเลี้ยงลูกแทนตนเอง
ตนเองก็ไม่ต้องเหนื่อยสอนลูก



ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่ลูกจะได้เรียนรู้อะไรดี ๆ จากพ่อแม่ ลูกก็ไม่ได้เรียน
แต่ว่าไปมัวใช้เวลาเล่นเกม เด็กบางคนก็เล่นจนสายตาเสีย
เช่น เล่นกระทั่งสายตาสั้น สายตาเอียง หรือเล่นจนกระทั่งตาจะเหล่อยู่แล้ว
พ่อแม่ก็ยังมองว่าเป็นอาการปกติ เพราะพาไปพบแพทย์แล้ว แพทย์บอกว่าไม่เป็นไร

พ่อแม่ไม่ได้เคยมองว่าปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่ ปัญหาเกิดจากตนเองหรือเปล่า
อนึ่ง จากที่ปกติแล้วเด็ก ๆ จะต้องเล่นซุกซนตามภาษาของเขานั้น
กลายมาเป็นว่าเด็ก ๆ นั่งนิ่ง ๆ และเล่นเกมเงียบ ๆ
แล้วเราจะมองหรือว่านี่คือธรรมชาติของเด็กเป็นธรรมดา
เราจะถือได้ไหมว่านี่เป็นการเลี้ยงเด็กอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ


นอกจากนี้ เกมบางเกมที่ให้เด็กเล่นนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลให้เด็กได้เกิดกุศลในจิตใจ
แต่เป็นการสร้างอกุศลอย่างมากมายในจิตใจของเด็ก
พ่อแม่บางคนอาจจะบอกว่า มันก็เป็นแค่เกม ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ต้องถืออะไรจริงจังหรอก
ในประเด็นนี้ จริงอยู่ว่า มันเป็นแค่เกม แต่เกมนั้นก็มีผลต่อความรู้สึกในจิตใจ
และมีผลต่อความคุ้นเคยต่อสิ่งกุศลและสิ่งอกุศลในจิตใจของผู้เล่นได้
ทำให้เกิดกุศล และอกุศลในจิตใจได้ และสิ่งที่เกิดในจิตใจนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก



ยกตัวอย่าง เกมปลาฉลามไล่ฆ่ามนุษย์ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
บางท่านอาจจะบอกว่าในเกมนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ได้ไปฆ่าใครจริง ก็ย่อมไม่เกิดอกุศลอะไร
หรือถ้าจะเกิดอกุศล ก็เกิดในใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะทางร่างกายไม่ได้ไปฆ่าใคร
แต่ในทางพระธรรมคำสอนแล้ว สิ่งที่เกิดที่ใจนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าทางกายนะครับ
โดยมโนกรรมหรือกรรมทางใจนี้ให้ผลกรรมที่มีโทษหนักกว่ากายกรรมหรือกรรมทางกายเสียอีก
นอกจากนี้แล้ว ถ้าไม่เกิดอกุศลที่ใจก่อนแล้ว อกุศลทางกายก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้


ในสมัยพุทธกาลนั้น ก็เคยมีการถกเถียงกันว่าในการทำบาปกรรมนั้น
กรรมทางกาย กรรมทางวาจา และกรรมทางใจ กรรมทางไหนจะมีโทษหนักกว่ากัน

ใน “อุปาลิวาทสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา

ในเวลานั้น “นิครนถ์นาฏบุตร” อาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยนิครนถ์สานุศิษย์จำนวนมาก


ต่อมาได้มีนิครนถ์ชื่อว่า “ทีฆตปัสสี” ซึ่งเป็นสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร
ได้ออกบิณฑบาตแล้วได้เข้าไปเฝ้าและสนทนากับพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสถามทีฆตปัสสีว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี
นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
ทีฆตปัสสีกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม

ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑”


พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้
ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ามีโทษมากกว่า
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
ทีฆตปัสสีกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า
กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะหามิได้”


จากนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม
พระองค์เล่าย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑”


ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามต่อไปว่า “ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการเหล่านี้
กรรมไหน (คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม) ที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการเหล่านี้
เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้”


หลังจากนั้น ทีฆตปัสสีได้กราบทูลลาพระผู้พระภาคเจ้า และได้เดินทางไปหานิครนถ์นาฏบุตร
ในเวลานั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยสานุศิษย์จำนวนมาก อันมีอุบาลิคฤหบดีเป็นประธาน
จากนั้น ทีฆตปัสสีได้เล่าเรื่องสนทนาระหว่างตนเองและพระผู้มีพระภาค
ให้แก่นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยสานุศิษย์ทั้งหลายได้รับทราบ


เมื่อทีฆตปัสสีเล่าจบแล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกับทีฆตปัสสีว่า
“ดูกร ทีฆตปัสสี ดีแล้ว มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า
เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้
โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่”


เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า
“มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้
โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่
ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไปยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม
ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ยืนยันกับท่านทีฆตปัสสีแล้ว
ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกับพระสมณโคดม
เหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น
เหมือนบุรุษมีกำลังผู้ทำงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ในห้วงน้ำลึก
แล้วจับที่มุมฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น
เหมือนบุรุษที่มีกำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้นไสไป ฉะนั้น
ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่านกับพระสมณโคดม
เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปี ลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไปยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม”


นิครนถ์นาฏบุตรได้ฟังแล้ว กล่าวว่า “ดูกร คฤหบดี ท่านจงไป
จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม”
เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย
ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์”
นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวตอบว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี
ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้”
ทีฆตปัสสีได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเช่นเดิม เป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓
แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ได้ตอบเช่นเดิม เป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ตามลำดับ


อุบาลีคฤหบดีจึงรับคำนิครนถ์นาฏบุตร แล้วลุกจากอาสนะ ไหว้นิครนถ์นาฏบุตร
ทำประทักษิณแล้ว และเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน
เมื่อได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค และนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
อุบาลีคฤหบดีได้ทูลถามถึงเรื่องสนทนาระหว่างพระผู้มีพระภาคและทีฆตปัสสี


เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงเล่าถึงเรื่องสนทนาระหว่างพระองค์และทีฆตปัสสีจบแล้ว
อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้ว
มโนทัณฑะอันต่ำทรามนั้นจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้
โดยที่แท้กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่”


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน
นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคนอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน
เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูกรคฤหบดี
นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ในที่ไหนเล่า?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่
นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ
ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่สอดคล้องกันเลย”
อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง
ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่”


พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวร โดยส่วน ๔ คือห้ามน้ำทั้งปวง
ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาป ด้วยการห้ามบาปทั้งปวง
อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ
ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ เป็นอันมาก
ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม
อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามีโทษมากเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ
ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่สอดคล้องกันเลย”
อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง
ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่”


พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง
เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน
ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี
๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้ พระเจ้าข้า
บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว จะงามอะไรเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้
สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า
ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น
จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือ?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี
๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์
ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง
บ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ
ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่สอดคล้องกันเลย”
อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง
ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่”


พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป
ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร?
อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า
ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย
อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี”
(ทั้งนี้ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะนั้นเดิมทีเป็นบ้านเมือง
แต่ว่าได้มีการทำร้ายหรือดูหมิ่นฤาษีผู้ทรงศีล เหล่าเทวดาจึงได้ทำลายบ้านเมืองเหล่านั้น
และกลายสภาพเป็นป่า รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จากอรรถกถาของอุปาลิวาทสูตร)

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=62
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ
ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่สอดคล้องกันเลย”


เมื่อได้ฟังพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงตรงนี้แล้ว
อุบาลีคฤหบดีได้แสดงตนเป็นอุบาสกโดยได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคตั้งแต่ข้ออุปมาข้อแรกแล้ว
แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฏิภาณการพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตรของพระผู้มีพระภาค
ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้งทำเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึง
พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุบุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดีคือ
ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง อานิสงส์ในเนกขัมมะ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าอุบาลีคฤหบดีมีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์
มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดำ ควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด
ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดีที่อาสนะนั้นเองว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน


ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว
มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก”


อุบาลีคฤหบดีถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วกลับไปยังนิเวศน์ของตน
เมื่อกลับไปถึงแล้ว ได้เรียกนายประตูมาว่า “ดูกร นายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ และเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค
เพื่อสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา”
นายประตูได้รับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว


ต่อมา ทีฆตปัสสีได้ทราบข่าวว่าอุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว
จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ และได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้นิครนถ์นาฏบุตรฟัง
ปรากฏว่านิครนถ์นาฏบุตรไม่เชื่อ และกล่าวกับทีฆตปัสสีว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี
ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้”


ทีฆตปัสสีได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรเช่นเดิม เป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓
แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ได้ตอบเช่นเดิม เป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ตามลำดับ
ทีฆตปัสสีจึงกล่าวว่าตนเองจะเดินทางไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดีเพื่อพิสูจน์
นิครนถ์นาฏบุตรยังมั่นใจเช่นเดิม โดยได้กล่าวว่า “ดูกรทีฆตปัสสี ท่านจงไป
จงรู้ว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมหรือไม่?


ทีฆตปัสสีได้ไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดีแล้ว ปรากฏว่าเขาถูกนายประตูห้ามเข้า
และบอกว่า หากต้องการอาหารให้รออยู่ที่หน้าประตู จักมีคนนำอาหารมาให้
ทีฆตปัสสีกล่าวตอบว่าตนเองไม่ได้มาเพราะต้องการอาหารใด ๆ
จากนั้น ทีฆตปัสสีจึงได้เดินทางกลับไปเล่าความให้นิครนถ์นาฏบุตรได้ทราบว่า
ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระโคดมนั้น เป็นความจริง
ปรากฏว่านิครนถ์นาฏบุตรไม่เชื่อ และยังกล่าวกับทีฆตปัสสีว่า “ดูกร ทีฆตปัสสี
ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้”
ทีฆตปัสสีได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรเช่นเดิม เป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓
แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ได้ตอบเช่นเดิม เป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ตามลำดับ
เราจะไปเพื่อรู้เองว่า อุบาลีคฤหบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมจริงหรือไม่?


ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์สานุศิษย์จำนวนมาก
ได้เดินทางไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี
พวกเขาจึงได้เห็นด้วยตนเองว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว
และไม่ได้ให้ความเคารพนับถือนิครนถ์นาฏบุตรอีกต่อไป
โดยอุบาลีคฤหบดียังได้พรรณนาคุณของพระสมณโคดมอีกมากมาย
ในครั้งนั้น นิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้
โลหิตอันอุ่นจึงได้พลุ่งออกจากปากของนิครนถ์นาฏบุตรในที่นั้นเอง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1044&Z=1477&pagebreak=0


“อุปาลิวาทสูตร” นี้มีเนื้อหายาวนะครับ (แม้ว่าผมจะพยายามเล่าสั้น ๆ แล้วก็ตาม)
โดยประเด็นที่จะขอเรียนนำเสนอก็คือ มโนกรรม หรือกรรมทางใจนั้น
ให้โทษหนักกว่ากายกรรม หรือกรรมทางกาย
ฉะนั้นแล้ว หากเราจะมองว่า เราเพียงแค่เล่นเกมสนุก ๆ และฆ่ากันในเกม
โดยที่กายเราไม่ได้ไปฆ่าใครจริง ๆ มันย่อมไม่ได้มีผลอะไรมากมายหรอก
ในส่วนนั้นจะไปในแนวทางคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรนะครับ
แต่ถ้าเราเห็นว่าการเล่นเกมและฆ่ากันในเกม
ก็เหมือนเป็นการฝึกฝนและเป็นการสร้างกรรมในทางจิตใจแล้ว
ก็จะไปในแนวทางพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคครับ


หลักการนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะสำหรับเด็กนะครับ
แม้ผู้ใหญ่จะเล่นเกม ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
และไม่ได้ใช้เฉพาะสำหรับการเล่นเกมเท่านั้นด้วย
แต่ในการดูภาพยนตร์หรือละคร ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถลากจิตใจเราให้ไปจมอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
และก่อให้เกิดการกระทำทางใจ (มโนกรรม) ของเราได้
หากจะถามต่อไปว่า เราควรทำอย่างไรเพื่อช่วยไม่ให้เรากระทำกรรมไม่ดีทางใจ?
ขอตอบว่าพึงฝึกหัดมีสติรักษาจิตใจเราครับ
นอกจากนี้ เมื่อกรรมไม่ดีทางใจไม่เกิดขึ้นแล้ว
ก็จะช่วยไม่ให้กรรมไม่ดีทางกายและกรรมไม่ดีวาจาเกิดขึ้นด้วยนะครับ
แต่ถ้าฝึกฝนกรรมไม่ดีทางใจไว้เยอะ ๆ แล้ว นอกจากกรรมไม่ดีทางใจจะให้ผลแล้ว
กรรมไม่ดีทางวาจา และกรรมไม่ดีทางกาย ก็จะเกิดขึ้นตามมาได้ง่ายขึ้นด้วย




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP