จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

งานศพคุณครู


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



116 destination



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานศพของคุณครูท่านหนึ่งสมัยผมเรียนชั้นมัธยม
โดยคุณครูท่านนี้ท่านยังไม่ได้เกษียณนะครับ
แต่ท่านจากไปเพราะป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายเสียก่อน
ในงานศพนั้น มีลูกศิษย์หลายรุ่นได้ไปร่วมงานกันมากมายเป็นจำนวนหลายร้อยคน
เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงคุณความดีของคุณครูที่ท่านได้ทำไว้ให้แก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย
และลูกศิษย์ทั้งหลายก็ได้มาแสดงความระลึกถึงคุณความดีของท่านในโอกาสนี้


ในงานศพนั้น ลูกศิษย์หลายท่านได้ให้ซองช่วยงานร่วมทำบุญงานศพ
ซึ่งก็เป็นประโยชน์นะครับ แต่จริง ๆ แล้ว น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้
หากเงินในซองเหล่านั้นได้ไปช่วยเหลือคุณครูในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
โดยอาจจะให้ท่านได้นำไปใช้รักษาตัว หรือนำไปใช้ในสิ่งที่ท่านจำเป็นอื่น ๆ
หรือให้ท่านนำไปทำบุญกุศล หรือนำไปจัดสรรโดยประการใด ๆ ตามที่ท่านเห็นสมควร
ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่คุณครูมากกว่าการที่เงินนั้นจะมาใช้ในงานศพของท่าน


กรณีนี้ก็เป็นการยืนยันข้อคิดที่หลาย ๆ ท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วนะครับว่า
หากเราต้องการจะช่วยเหลือหรือทำประโยชน์อะไรให้แก่ใครแล้ว

เราพึงช่วยเหลือและทำตั้งแต่เมื่อเขายังมีชีวิตอยู่นะครับ
ไม่ใช่ว่ารอจนเมื่อเขาจากไปแล้ว เราค่อยเข้าไปช่วยหรือทำอะไรให้
เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ก็ย่อมจะสายไปเสียแล้ว
หลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องการจะทำ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้เสียแล้ว


ในทำนองเดียวกัน หากเราต้องการทำดีกับคุณพ่อคุณแม่ หรือตอบแทนบุญคุณท่าน
เราก็พึงทำในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ครับ
ไม่ใช่ว่าเรามัวแต่โอ้เอ้ ๆ รอ ๆ ไปเรื่อย ๆ อ้างโน่นอ้างนี่ ติดนั่นติดนี่
จนกระทั่งเวลาผ่านไป และคุณพ่อคุณแม่จากไปแล้ว
เราค่อยมาเสียใจว่า เรายังไม่ได้ทำดีกับท่าน
หรือยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณท่านเท่าที่ควร


ในสิงคาลกสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนสิงคาลกมานพ โดยส่วนหนึ่งในคำสอนได้กล่าวถึง
หน้าที่ของบุตรที่พึงบำรุงบิดามารดา และหน้าที่ของศิษย์ที่พึงบำรุงครูอาจารย์ว่า



บุตรพึงบำรุงบิดามารดาด้วย ๕ ประการคือ
๑. ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักรับทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์สกุล
๔. จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก
๕. ก็หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา


ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ด้วย ๕ ประการคือ
๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ
๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้
๓. ด้วยการเชื่อฟัง
๔. ด้วยการปรนนิบัติ
๕. ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=11&A=3923&Z=4206


พึงสังเกตว่าในเรื่องหน้าที่ของบุตรที่พึงบำรุงบิดามารดาก็ดี
และหน้าที่ของศิษย์ที่พึงบำรุงครูอาจารย์ก็ดี
ส่วนใหญ่แล้ว หน้าที่เหล่านั้นล้วนแล้วแต่ก็เป็นสิ่งที่พึงต้องทำ
ในระหว่างที่บิดามารดาและครูอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ทั้งนั้น
จะมีเพียงบางประการเท่านั้นที่อาจจะต้องทำภายหลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว
(เช่น การทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับบิดามารดาที่ได้เสียชีวิตแล้ว
หรือการเชื่อฟังครูอาจารย์ในบางเรื่องที่ศิษย์พึงต้องปฏิบัติต่อไป
แม้กระทั่งภายหลังครูอาจารย์นั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นต้น)


ฉะนั้นแล้ว หากเราจะช่วยเหลือหรือทำประโยชน์ให้ใครแล้ว
ก็พึงช่วยเหลือและทำประโยชน์ให้แก่เขาตั้งแต่เวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่นะครับ
ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปเรื่อยจนกระทั่งสายเกินไป
นอกจากนี้แล้ว เราพึงทำประโยชน์ในสิ่งที่เราสามารถทำได้ในระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่
ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยโดยเปล่าประโยชน์
บุญกุศลใด ๆ ก็เช่นเดียวกันครับ เราพึงทำเสียตั้งแต่ในเวลาที่เรายังทำได้

ไม่ควรปล่อยหรือรอเวลาผ่านไปจนกระทั่งสายเกินไป
ในทำนองเดียวกัน หากเราต้องการมุ่งภาวนา เราก็พึงทำตั้งแต่เมื่อเวลาเรายังมีชีวิตอยู่
และทำในขณะที่เรายังมีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจที่จะฝึกหัดภาวนาได้ดี
เราจึงพึงทำเสียตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จะสายเกินไปครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP