จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เสาเข็มที่มองไม่เห็น


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


115 desination

 

ในชีวิตคนเรานั้น บางทีเราก็มองข้ามความสำคัญของสิ่งที่อยู่กับเราโดยตลอด
ซึ่งที่เรารู้สึกเฉย ๆ กับมันนั้นก็เพราะว่าสิ่งนั้นยังไม่เคยขาดหายไปจากชีวิตเรา

ต่อเมื่อสิ่งนั้นขาดหายหรือจะขาดหายไปแล้ว เราจึงเริ่มมองเห็นความสำคัญของสิ่งนั้น ๆ
ในทางกลับกัน เราอาจจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ได้อยู่กับเราเป็นประจำ

ด้วยความที่นาน ๆ เราไม่ได้พบเห็นสิ่งนั้นบ่อย
เราจึงเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของแปลกใหม่ และให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ๆ


ยกตัวอย่างว่าเด็กบางคนที่พ่อแม่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่เล็กจนโต
พ่อแม่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลทุกอย่างแก่เด็กนั้นมาโดยตลอด

แต่พอเวลาที่เด็กนั้นได้ไปมีแฟน เขาก็ให้ความสำคัญกับแฟนอย่างมากมาย
โดยหลงลืมความสำคัญของพ่อแม่ตนเองไป

ทั้ง ๆ ที่แฟนนั้นไม่ได้เคยมาช่วยเหลือดูแลอะไรตนเองมาก่อนเลย
เทียบไม่ได้เลยกับที่พ่อแม่ได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนเองมาโดยตลอด



หรือกรณีพ่อแม่บางท่านที่อยู่อาศัยกับลูกคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูโดยตลอด
แต่เมื่อมีลูกอีกคนหนึ่งที่อยู่ห่างไกลและไม่ได้ช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่เลยมาเยี่ยม
ซึ่งก็เป็นการมาเยี่ยมเยียนที่นาน ๆ จะมาสักครั้งหนึ่ง
พ่อแม่ก็ให้ความสำคัญหรือชื่นชมลูกที่มาเยี่ยมนั้นอย่างมากมาย
โดยหลงลืมความสำคัญของลูกคนหนึ่งที่ดูแลตนเองอยู่ตลอดทุกวัน


เรื่องราวทำนองนี้ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเรานะครับ
อย่างสมมุติว่าเราทานข้าวสวยอยู่เป็นประจำทุกมื้อทุกวัน
เราก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ กับข้าวสวยที่เราทาน
และพอเราได้ไปทานอาหารอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ
เราก็อาจจะรู้สึกว่าอาหารนั้นมีคุณค่า น่าสนใจ และน่าให้ความสำคัญมาก
ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินบางท่านบอกว่าชอบทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้มากเลย
แต่พอถามว่าถ้าให้ทานอาหารนั้นทุกมื้อเลยจะเอาไหม หรือให้ทานทุกมื้อตลอดไปได้ไหม
กลับจะได้รับคำตอบว่าไม่เอา และทานทุกมื้อตลอดไปไม่ได้
ในขณะที่เราทานข้าวสวยธรรมดา ๆ ทุกมื้อทุกวันมาโดยตลอดได้


หรือสมมุติว่าเวลาเราอยู่บ้านตัวเองทุกวัน ๆ เราก็รู้สึกเฉย ๆ กับการที่อยู่บ้าน
โดยไม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจหรือรู้สึกว่าสำคัญอะไรเท่าไร
แต่เมื่อเราได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ห่างไกล
เราอาจจะรู้สึกว่าสถานที่ห่างไกลนั้นน่าชื่นชม น่าสนใจ และน่าให้ความสำคัญ
อย่างเวลาที่คน ๆ หนึ่งได้ไปเที่ยวสถานที่ห่างไกลนั้น
เขาอาจจะคุยชื่นชมสถานที่นั้น ๆ ว่าชอบใจมาก ถูกใจมาก น่าอยู่มาก
แต่เมื่อถามว่าถ้าเช่นนั้นแล้ว ให้เขาย้ายไปอยู่สถานที่นั้นตลอดไปเลยจะเอาไหม
กลับจะได้รับคำตอบว่าไม่เอา และเขาไม่อยากย้ายไปอยู่ ณ สถานที่นั้น



ดังนี้ บางทีเราก็หลงลืมหรือมองข้ามความสำคัญของสิ่งใกล้ตัวบางสิ่งไป
และเมื่อจะต้องสูญเสียสิ่งนั้น ๆ แล้ว เราก็เริ่มมองเห็นความสำคัญของบางสิ่งนั้น
ซึ่งในอันที่จริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้สูญเสียหรือใกล้จะสูญเสียสิ่งนั้น ๆ ก่อน

แล้วเราค่อยมองเห็นหรือให้ความสำคัญต่อสิ่งนั้นหรอกนะครับ
เพียงแค่ว่าให้เราหมั่นพิจารณาตรวจสอบตนเองอย่างแยบคายแล้ว
เราก็พึงจะรู้ได้ว่าสิ่งใดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตเรา


มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่ได้ทรงตรัสถึงความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง
โดยได้ทรงเทียบว่าคนเรามองไม่เห็นความสำคัญของบางสิ่งที่เป็นรากฐาน ดังนี้ครับ
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป
(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒)
http://www.cca.chula.ac.th/protocol/sufficiency-economy.html


การเปรียบถึงเสาเข็มของบ้านตามพระราชดำรัสนี้ย่อมทำให้เราเห็นได้ชัดเจนนะครับ
ว่าขณะที่เราอยู่อาศัยในบ้านเรานี้ เราสนใจให้ความสำคัญกับตัวบ้านอย่างมาก
หรือเราอาจจะให้ความสำคัญกับสิ่งของตกแต่งบ้านบางสิ่งอย่างมากมาย

แต่เราลืมและมองข้ามความสำคัญของเสาเข็มที่เรามองไม่เห็นนั้น
ซึ่งกลายเป็นว่าเราลืมความสำคัญของรากฐานที่ทำให้บ้านเรานั้นดำรงอยู่


หลายท่านอาจจะเคยอ่านเรื่องของ “เพื่อนคนที่สาม” แล้วนะครับ
แต่บางท่านก็อาจจะยังไม่เคยอ่าน ผมจึงขอนำมาเล่าให้ฟังว่า
กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งซึ่งเขามีเพื่อนอยู่ ๓ คน

คนที่หนึ่งนั้นเขารักมากที่สุด เขาทุ่มเททำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเพื่อนคนที่หนึ่งนี้
ส่วนเพื่อนคนที่สอง เขารักรองลงมา
ส่วนเพื่อนคนที่สาม เขาไม่สนใจ และไม่ค่อยจะทำอะไรเพื่อเพื่อนคนนี้เลย
ต่อมาเมื่อถึงเวลาที่ชายคนนี้ได้ถึงแก่ความตายนั้น
เพื่อนคนที่หนึ่งซึ่งเขารักมากที่สุดนั้น ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไรแก่เขาเลย
เพื่อนคนที่สองซึ่งเขารักรองลงมานั้น พยายามส่งอาหารและของใช้ให้เขานำติดตัวไป

ส่วนเพื่อนคนที่สามซึ่งเขาไม่สนใจนั้น กลับคอยติดตามดูแลเขาไปตลอด ไม่เคยห่างไกล


ตอนจบของเรื่องก็สรุปว่า เราทุกคนก็มีเพื่อน ๓ คนนี้เช่นกัน
โดยเพื่อนคนที่หนึ่งคือ “ทรัพย์สิน เงินทอง”
ซึ่งในเวลาที่บางคนยังมีชีวิตอยู่ ก็มุ่งให้ความสำคัญกับทรัพย์สิน
ทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน แต่เมื่อถึงเวลาที่เราตายลงแล้ว
ทรัพย์สินเหล่านั้นกลับไม่ได้ช่วยเหลืออะไรแก่เราได้เลย และไม่ได้ติดตามเราไปด้วย
เพื่อนคนที่สองได้แก่ “ญาติในครอบครัว” ซึ่งเมื่อเราตายลงไปนั้น
ญาติในครอบครัวคอยช่วยเหลือทำศพ และทำบุญอุทิศส่งให้กับเรา
เปรียบเสมือนว่าเขาพยายามส่งอาหารและของใช้ให้กับเรา
เพื่อนคนที่สามคือ “บุญกุศลและบาปอกุศล” ที่เราได้ทำเอาไว้ในระหว่างมีชีวิต

ซึ่งแม้เราจะตายไปแล้ว แต่บุญกุศลและบาปอกุศลก็ยังติดตามเราไปไม่เคยห่างไกล
และคอยส่งผลหรือให้ผลกับเราอยู่ตลอด


ดังนี้แล้ว สิ่งที่เราควรทำก็คือหันมาพิจารณาตนเองอย่างแยบคาย
ว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญแท้ต่อชีวิตเรา และอะไรเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ
เพื่อที่ว่าเราจะได้ทุ่มเทใช้เวลาในชีวิตเรากับสิ่งที่สำคัญกับชีวิตเราจริง ๆ
ไม่ใช่ว่าเรามัวหลงไปทุ่มเทให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ได้สำคัญสำหรับชีวิตเรานะครับ
ในการนี้ การที่เราได้เห็นอะไรแปลกใหม่ ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นจะต้องดีหรือสำคัญเสมอไป
แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกับเรามาโดยตลอดนี้แหละ อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทุ่มเทสนใจก็ได้



อย่างเวลาที่เราจะทำบุญกุศล เช่น จะทำทาน รักษาศีล หรือจะเจริญภาวนานั้น
บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับงานบุญใหญ่ หรือรอเวลาไปทำบุญที่วัดห่างไกล
หรือรอวันหยุดที่จะเดินทางไปถือศีลแปดที่วัด หรือไปเข้าคอร์สอบรมภาวนาที่วัด
หรือสถานปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้ไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่เราได้ประสบบ่อยนัก
แต่เรากลับหลงลืมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเวลาในชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวัน
โดยหากเราพิจารณาให้ดีแล้ว เราจะพบว่า
เราสามารถนำเวลาในชีวิตประจำวันของเราแต่ในละวันมาทำบุญกุศลดังกล่าวได้
และหากเราทำอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันของเราแล้ว
ย่อมจะส่งผลดีให้แก่ชีวิตเราหรือย่อมเป็นส่วนสำคัญแก่ชีวิตเรา
มากกว่าโอกาสที่การทำบุญกุศลนาน ๆ ครั้งดังกล่าวเสียอีก
เช่นนี้แล้ว เราย่อมเห็นได้ว่าช่วงเวลาในแต่ละวันที่เราใช้ชีวิตอยู่ตามปกตินั้น
เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการสร้างบุญกุศล (ทาน ศีล ภาวนา) ของเรา
เพราะเวลาที่เป็นรากฐานของชีวิตเรา และเราใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด
ก็คือเวลาในแต่ละวันที่เราใช้ชีวิตตามปกตินี้แหละครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP