สารส่องใจ Enlightenment

คุมใจให้อยู่ รักษาใจให้ได้



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




อยู่ด้วยกันมากๆ หลายผู้หลายคน ถ้าหากว่าอยู่ด้วยความสงบ มันก็เย็น
อยู่ด้วยความไม่สงบ ตาก็เป็นไฟ หูก็เป็นไฟ จมูก ลิ้น กาย และใจก็เป็นไฟ เป็นไฟด้วยกันทั้งหมด
ไฟไหม้เจ้าของแล้วจึงค่อยไหม้คนอื่น
เพราะเหตุว่าไฟไหม้ไม้แห้งหมดแล้วนั่นแหละ มันจึงค่อยลุกลามไปไหม้ไม้สด
ฉันใดก็ฉันนั้น มันต้องไหม้ตัวเราเสียก่อน
ให้เห็นโทษของมัน ถ้าหากไม่เห็นโทษ มันก็ไม่มีเวลาสงบได้



ในใจของเรามันมุ่งพุ่งเห็นโทษคนอื่น ไม่เห็นโทษตัวเอง
ก็เลยเป็นไฟเผาผลาญซึ่งกันและกัน อย่างที่ท่านว่าตาเป็นไฟ
ถ้าหากว่าเห็นโทษเกิดขึ้นที่ใจของเราแล้วว่า ไฟมันเกิดในที่นี้ ของใครของมัน
คนอื่นก็ของคนอื่น ก็หมดเรื่องกัน ระงับตัวเองแล้วก็แล้วกัน



พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา
ความหมายว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นไฟ
ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นก็ร้อนตั้งแต่ทีแรกนั่น
ที่ตัวของเราเกิดความร้อนขึ้นแล้ว มันค่อยลุกลามไปหาคนอื่น
ให้เห็นใจของตนทุกๆ คน เพ่งพิจารณาตัวของเราที่มันเกิดวับแวบขึ้นมาครั้งแรกนั่น
มันเกิดราคะ มันเกิดโทสะ มันเกิดโมหะ ขึ้นมาตั้งแต่ทีแรก ให้ระงับเสียในเบื้องต้น
ถ้าต่างคนต่างระงับ อยู่มากคนก็เป็นสุข กี่ร้อยกี่พันคนก็เป็นสุข
ถ้าหากไม่ระงับ อยู่คนก็เป็นทุกข์ ไม่ต้องหาเพื่อนถึงสองคนละ



ราคะมันเกิดขึ้นที่ใจ โทสะก็เกิดขึ้นที่ใจ โมหะก็เกิดขึ้นที่ใจ
ราคะ มันกำหนัดย้อมใจให้กระสับกระส่าย นอนอยู่คนเดียวก็นอนไม่หลับ
กลิ้งเกลือกอยู่นั่นแหละ เดือดร้อนอยู่คนเดียว
โทสะ ก็กลิ้งเกลือกอยู่นั่น โกรธคนนั้น โกรธคนนี้
ในผลที่สุดตัวของเราก็โกรธเรา โกรธเราแล้วเสียก่อน มันจึงค่อยโกรธคนอื่น
โมหะ คือความหลง มีอยู่แต่ไม่รู้ มันเป็นอยู่แต่ไม่รู้ว่าโมหะ
อวิชชา นั่นคือไม่เห็นเสียเลย ไม่เข้าใจเสียเลย ว่าอันนี้มีอยู่

ราคะ ความกำหนัดย้อมใจ เป็นของที่มีอยู่ในใจของเรา
แต่ในใจนั้นไม่อยากจะระงับ ในใจนั้นไม่อยากให้มันหาย
ยังเสียดายความกำหนัดย้อมใจนั้น เสียดายที่จะละทิ้ง
นั่นแหละ โมหะ คือ ความหลง หลงเข้าใจผิด คิดว่าถูก
โทสะ ก็เป็นเหมือนกัน เกลียดโกรธคนอื่น
เข้าใจว่าเป็นของดี มีอำนาจ มีปาฏิหาริย์ สามารถกดขี่ข่มเหงคนโน้นคนนี้ได้
ถ้าหากไม่แสดงโทสะ มันก็เหมือนอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยมีฤทธิ์เดช
ฤทธิ์เดชอันนั้นได้แสดงออกมา ปรากฏว่าเป็นของดีเด่น
เข้าใจว่าของดีเลยไม่อยากละ ไม่อยากทิ้ง ยินดีพอใจกับมัน รักษาไว้
โมหะ ความลุ่มหลง ของที่มีอยู่แต่ไม่เห็นโทษมัน
ราคะหรือโทสะ อันนั้นเป็นเหตุให้เกิดโทษขึ้นในใจ
แต่ว่าเสียดาย มันไม่อยากคิด ไม่อยากค้น ไม่อยากหาเหตุของเรื่อง
เรื่องที่เกิดขึ้นมาไม่ตั้งใจคิด ไม่ตั้งใจค้นเหตุผลเรื่องนั้นๆ
เมื่อไม่ถึงเหตุถึงผล มันก็ไม่ถึงที่สุดของโมหะ มีความเสียดายอาลัย มันจึงค่อยมีขึ้นมาได้



พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า คนเรานั้นร้อนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงที่สุด
ร้อนเพราะราคะ เพราะโทสะ เพราะโมหะ ดังอธิบายมาแล้ว
ร้อนที่ตัวเรานี่เอง ร้อนจนไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น
ร้อนนั้นคืออะไร? ก็คือนรกดีๆ นี่แหละ ความร้อนเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็นรกดีๆ นั่นเอง
มนุษย์คนเรามีราคะ โทสะ และโมหะอยู่แล้ว ก็ตกนรกทั้งเป็น
นรกไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ที่ราคะ โทสะ โมหะนี่ทั้งนั้น
จะไปตกนรก มันก็เกิดจากราคะ โทสะ โมหะนี้
ถ้าไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มันก็ไม่ตกนรก



ให้เห็นนรกที่ตกที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ รอบๆ ตัวของเราเดี๋ยวนี้
ตาเห็นรูป ก็เกิดความโลภความหลงขึ้น
หูได้ฟังเสียง จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรส กายถูกสัมผัส
ก็เกิดความกำหนัดรักใคร่ เรียกว่าราคะ
ถ้าเกิดไม่พอใจโทมนัสน้อยใจ เรียกว่าโทสะ เกิดโมหะพร้อมกัน
ของทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของร้อน เผาตัวของเราอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่ไม่ยอมสละปล่อยทุกข์หรอก เรียกว่าตกนรกทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะไม่เห็น

ถ้าเห็นเช่นนี้แล้ว พึงปล่อยวางเสีย เอานรกนั่นมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นสวรรค์
เมื่อเกิดราคะขึ้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็ให้รู้จักรู้เรื่องของมัน ระงับดับมันไป
โทสะเกิดขึ้น ก็พิจารณาเหตุผลของมัน จนระงับดับไป
โมหะเกิดขึ้นก็ให้ระงับ พิจารณาเหตุผล แล้วก็ระงับดับไป ตัวของเราก็เป็นของเย็น
มีตาก็เป็นของเย็น ส่งส่ายหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่นำทุกข์มาให้
เช่น เห็นพระสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระพุทธรูปปฏิมากร เพลินสนุกดีกว่าไปเห็นสิ่งอื่น
แล้วเกิดราคะ โทสะ โมหะขึ้นมา สิ่งที่มันน้อยใจโทมนัสก็อย่าไปดูมัน
ไปดูสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินเจริญใจ มันก็กลับเป็นสวรรค์ขึ้นมา
โมหะมันลุ่มหลง เราก็พิจารณาอย่าให้มันหลงเห็นความดีความเด่นปรากฏชัดขึ้นมา
ด้วยปัญญาของเรา มันก็เพลิดเพลินอิ่มใจกับความเห็นอันนั้น มันก็เป็นสวรรค์ขึ้นมา



ทั้ง ๖ อย่างนี่แหละ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เรียกว่าสวรรค์ ๖ ชั้น
แต่ว่าสวรรค์ยังอยู่ใกล้นัก ใกล้ต่ออันตราย คือมันอยู่ชั้นต่ำ
ฉกามาพจร สวรรค์ ๖ ชั้น มันสามารถกลับกลายไปตกนรกได้
คือสามารถที่จะกลับกลายเป็นสัตว์นรก จึงว่ามันอยู่ใกล้นัก อยู่ใกล้กับนรก
เพราะฉะนั้นจึงทำสวรรค์นี่แหละ ให้เป็นพรหมขึ้นไป
ทำใจให้สูง เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ ก็พิจารณาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ได้ฟังสิ่งต่างๆ ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ได้กลิ่น ได้รส หรือได้โผฏฐัพพะ
ก็พิจารณาให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างนี้มันจึงสูงขึ้นไป ถ้าเช่นนั้นจะกลับไปตกนรกอีก
ทำให้สูงขึ้นไปจนกระทั่ง จิตใจของเราเห็นสภาพตามเป็นจริงทุกอย่าง
เช่น เห็นรูป ก็ปรากฏเป็นสภาวะ ไม่ใช่รูป
รูปก็สักแต่ว่ารูป ไม่คงทนถาวรอะไร ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวตน
ความกำหนัดยินดีจะมีจากไหน?
เสียงก็สักแต่ว่าเสียง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
มันจะมีความกำหนัดยินดีไหม?
มันเป็นอยู่ธรรมดาอย่างนั้น ตั้งแต่เรายังไม่ทันเกิดโน่น
เราเกิดมาแล้วมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราตายไปแล้วก็เป็นอยู่อย่างนั้น



กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย มันเป็นของมีอยู่ในโลก
เราเกิดมามันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราไม่เกิดมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น แต่ไหนแต่ไรมา
มันหากมีอยู่ที่นี่ เราไม่ได้เอามา เราไม่ได้เอาไป เราเกิดมาแล้วเราก็ไปยึดเอา
คือว่าเราเกิดมาแล้วเราเห็นเรารู้สิ่งต่างๆ
เลยไปยึดเอาของเหล่านั้นมาเป็นของเรา เป็นตัวเป็นตน
มันจึงเป็นเหตุให้เกิดราคะ ชอบใจพอใจยินดี
เป็นเหตุเกิดโทสะ น้อยอกน้อยใจไม่พอใจ เกิดโมหะลุ่มหลงมัวเมา


นี่ถ้าหากเห็นตามสภาพเป็นจริงแล้ว การถือตนถือตัวก็ไม่มี
ละทิฐิมานะ เรียกว่า ไม่ถืออัตตา เป็นอนัตตา ไม่มีสาระ หมดเรื่องแค่นั้น

พิจารณาลงอย่างนี้จึงพ้นจากเป็นเทวดา พ้นจากพรหม
สูงสุดกว่าพรหม คือ โลกุตตระ
เพราะฉะนั้นจงพากันให้เห็นว่า
ตัวของเรานี้เป็นบ่อเกิดของนรกก็ได้ เป็นบ่อเกิดของสวรรค์ก็ได้
เป็นบ่อเกิดของพรหมก็ได้ เป็นที่ตั้งของโลกุตตรธรรมก็ได้

ถ้าหากว่าพิจารณาได้เป็นอย่างนี้ ก็จะนำมาซึ่งความสุขความสันติ
เราอยู่ที่ใดก็สงบ ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเดือดร้อน
เอาละ




นั่งสมาธิ

(พระอาจารย์อบรมนำก่อน)


ความทุกข์มันเกิดนิดเดียว ไม่ใช่เกิดมากมายอะไร
ถ้าหากประมาท ก็เป็นเหตุให้ใหญ่โตกว้างขวางต่อไป
เรามาคิดดูว่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดนิดเดียวเท่านั้นล่ะ มันงอกงามมาเป็นต้นใหญ่โตมโหฬารได้
ใหญ่จนกระทั่งแกงได้หม้อหนึ่ง หรือใหญ่มากกว่านั้นอีก
ราคะ มันอยู่ที่ใจของเรานั่นนิดเดียว
ความกำหนัดย้อมใจ ความเพลินเพลินความยินดี อยู่ในนั้นนิดเดียวเท่านั้นแหละ
แต่หากปล่อยตามใจมัน มันเลยขยายกว้างขวางออกไป
แพร่หลายออกไป กว้างหมดทั้งโลก เดิมทีมันนิดเดียวเท่านั้น
โทสะ ก็เหมือนกัน มันนิดเดียวเท่านั้นแหละ
แพร่หลายไปจนกระทั่งไปประหัตประหารฆ่าฟันกันตายนับไม่ถ้วน จนโลกอันนี้ฉิบหาย
โมหะ ก็เช่นนั้นเหมือนกัน



ท่านบอกว่าโลกฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ
ด้วยน้ำคือราคะ ด้วยลมก็คือโมหะ ด้วยไฟก็คือโทสะ
มันใหญ่โตกว้างขวางถึงขนาดนั้น แต่เราไปประมาทเสีย
ทำให้มันเกิดขึ้นมา แล้วแพร่ออกกว้างขวาง จนไม่สามารถระงับได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการจะระงับดับ ต้องดับที่ใจ อบรมที่ใจให้สงบ
เห็นเฉพาะในใจตนเท่านั้น ไม่ต้องไปไล่ขนาบฆ่าตีมันมากมายกว้างขวาง

เห็นที่จิตแวบออกไปขณะใด ก็ระงับในขณะนั้นแหละ
ตั้งสติคุมจิตให้อยู่ เพราะมันออกไปจากจิต
เบื้องต้นต้องคุมจิตให้อยู่ก่อน เมื่อจิตอยู่แล้ว
จึงค่อยเข้าไปพิจารณาเรื่องราคะ โทสะ โมหะ ก็จะเห็นของจริงขึ้นมา


ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนนิดเดียว ไม่ได้สอนมากสอนในที่เดียว
สอนที่ใจ ให้เห็นใจอย่างเดียวก็หมดเรื่อง
ดังนั้นจงคุมใจให้อยู่ รักษาใจให้ได้ จึงจะชำระใจของตนให้บริสุทธิ์



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - -


จาก พระธรรมเทศนา “ดับไฟ”
ใน พระธรรมเทศนาของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี)
บุญศิริการพิมพ์.,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓.





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP