ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

การให้อภัยมีผลดีอย่างไร



ถาม – การให้อภัยมีผลดีอย่างไรต่อเราบ้างคะ


ถ้าในแง่ของจิตใจเลย ก็คือว่าจิตใจมันจะไม่ยึดความมืดเอาไว้ ไม่ยึดความร้อนเอาไว้
เมื่อไม่ยึดความมืดไม่ยึดความร้อนก็เข้าสู่ภาวะดั้งเดิมของจิต
คือมีความสว่างมีความประภัสสร มีความโล่ง มีความสบาย
เปรียบเหมือนกับห้องว่าง ถ้าหากว่าไม่เอาของอะไรเข้ามา
มันก็ว่าง มันก็โล่ง มันก็โปร่ง มันก็สบาย
แต่เมื่อเราเอาของอะไรเข้ามาไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นของที่มีเชื้อโรค เป็นของที่มีอันตราย มีพิษมีภัย
ยิ่งเอามากองมากเท่าไหร่ ห้องนั้นก็ยิ่งเป็นภัยต่อเรามากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งเราจำเป็นจะต้องอยู่ในห้อง อยู่ทั้งวันทั้งคืน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
พิษภัยก็ซึมแทรกเข้าสู่หัวใจของเรามากขึ้นเท่านั้น
อันนี้ก็เหมือนกันครับ จิตของเรานะ มันเกิดดับๆ อยู่ตลอดวันตลอดคืน
เอาเป็นว่าเหมาลงมาว่าเป็นจิตของเราดวงเดียวนี่แหละ
ถ้าหากว่ามันเกิดดับๆ ด้วยความสืบเนื่องของอกุศลสัญญา สืบเนื่องด้วยพยาบาทสัญญา
หมายความว่ามีความหมายมั่นจะแก้แค้นเอาคืนให้ได้
มีความผูกใจเจ็บไม่ยอมที่จะปลดปล่อยศัตรูออกไปจากใจของเรา
มันก็เหมือนกับมีศัตรูอยู่ในใจของเราตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง
มันจะดีไปได้อย่างไร มันจะปลอดโปร่งไปได้อย่างไร มันจะมีความสุขไปได้อย่างไร



ถ้าหากว่าพูดถึงผลดีที่เกิดขึ้นแบบเห็นได้ชัดเลยในปัจจุบันนี้นะ
ก็คือเราปลดปล่อยเอาพิษเอาภัยเอาความมืดออกจากจิตใจ
ปลดปล่อยความร้อนออกไปจากจิตใจ

แต่ถ้าพูดถึงระยะยาว พูดถึงสิ่งที่มันเป็นผลข้างหน้า
ก็บอกได้นะครับว่าเราให้อภัยไปแต่ละครั้ง
ก็คือการตัดเวรตัดภัยออกจากเส้นทางของตัวเองไปนั่นแหละ



เพราะว่าตามหลักของพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นภัยเป็นเวรที่ผูกกันมา
เราจะเจอใครบางคนเสมอนะ
ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง จะมีใครบางคนมาทำให้เราแค้น
มีใครบางคนมาทำให้เรานึกถึงในทางไม่ดีอยู่ตลอดเวลา ไม่ลืม
ต่อให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกันจะผ่านไปนานเป็นสิบปีแล้วก็ตาม
อันนั้นน่ะ พระพุทธศาสนาท่านให้ตัวอย่างไว้เยอะว่าเป็นการผูกเวรกันมา
ถ้าหากว่าเราไม่ฝึกที่จะให้อภัย คิดหมดหยุมหยิมเล็กน้อยอะไร ไม่อภัยเลย
มันจะไม่มีแรง ไม่มีกำลัง เข้าไปให้อภัยเวรใหญ่ๆ ได้
การให้อภัยเล็กๆ นี่นะ รายเล็กรายน้อยรายย่อยทั้งหลาย เบี้ยบ้ายรายทางทั้งหลาย
อย่าคิดว่าไม่มีประโยชน์ มันเป็นการสร้างกำลัง มันเป็นการสร้างฐานของอำนาจ
ที่ใจจะถอนออกมาจากอาการโกรธ อาการแค้น อาการยึด อาการเหนี่ยวรั้งเอาภัยเข้าตัว
ยิ่งเรามีความสามารถในการให้อภัยเรื่องเล็กเรื่องน้อยได้มากเท่าไหร่
แนวโน้มก็คือเราจะมีความสามารถในการให้อภัยเรื่องใหญ่ๆ ได้ด้วย



แต่ถ้าหากว่าการให้อภัยเรื่องเล็กเรื่องน้อยยังทำไม่ได้นะ
จะให้ไปอภัยเรื่องใหญ่เนี่ย โห มันลืมไปได้เลย หมดสิทธิ์
คืออภัยเรื่องเล็กเรื่องน้อยได้ ยังไม่ได้เป็นประกันนะว่าจะอภัยเรื่องใหญ่ได้
แต่การไม่สามารถที่จะอภัยเรื่องเล็กเรื่องน้อยได้
อันนี้ประกันได้เลยว่าเรื่องใหญ่ก็ไม่สามารถที่จะอภัยได้เช่นกัน
แล้วเมื่อไม่สามารถอภัยเรื่องใหญ่ได้
มันก็หมายความว่าเรายังรักษาเวรรักษาภัยไว้

เกิดใหม่นะ ลืมกันไปแล้วว่าเคยทำอะไรกันมา รู้แต่ว่าไม่ชอบหน้า
เจอหน้าปุ๊บไม่ถูกโฉลกทันที เกลียดขี้หน้าขึ้นมาทันที อยากหาเรื่องขึ้นมาทันที
หรือว่าเกิดเรื่องเล็กอยากทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เกิดเรื่องใหญ่อยากทำให้มันตายไปเลย
อยากทำให้มันเรียกว่า เรากับเขานี่อยู่ในโลกเดียวกันไม่ได้
ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่สละโลกนี้ไป
ลืมไปแล้วว่าเคยทำอะไรกันมา จำได้แต่ความเกลียด
คือบาปเก่าๆ ที่เคยทำมาร่วมกัน มันไปกระตุ้นเตือนลักษณะที่ให้ผลของกรรม
เวลามันเกิดใหม่แล้วเจอกัน มันจะบันดาลอกุศลสัญญาเก่าๆ
มันจะเนรมิตความรู้สึกเกลียดขึ้นมาโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้
ไม่มีใครมีความสามารถที่จะจำได้ นี่แหละ
สรุปก็คือ ถ้าอภัยได้ก็ไม่ต้องมีเวรไม่มีภัยในระยะยาวด้วย






แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP