จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

หัดสังเกต


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


112 destination



ผมเชื่อว่าคงมีท่านผู้อ่านหลายท่านที่เป็นผู้อุปการะเด็กในมูลนิธิต่าง ๆ นะครับ
ผมเองก็เป็นผู้อุปการะเด็กหลายคนใน ๒ มูลนิธิมาหลายปีแล้ว
ในทุก ๆ ปี ทางมูลนิธิก็จะมีการจัดส่งการ์ดมาให้เราเขียนส่งให้เด็กในอุปการะในเทศกาลต่าง ๆ
หรือไม่ก็ให้เราสั่งซื้อของขวัญวันเกิดหรือของขวัญเปิดภาคเรียนให้เด็กในอุปการะ

ซึ่งด้วยความที่ผมต้องเขียนการ์ดเหล่านี้ทุกปี ปีละหลาย ๆ ใบ
ในขณะที่ผมมีงานประจำอยู่เยอะ และมีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบอีกไม่น้อย
ผมจึงมักจะเขียนข้อความคล้าย ๆ กัน ทำนองว่าให้เป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งใจเรียน เป็นต้น
(บางทีงานเยอะและด่วนมากจนทำไม่ทัน ก็ต้องขอให้เพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ช่วยเขียนให้แทนก็มี)
ส่วนของขวัญนั้นก็จะเลือกสั่งซื้อสินค้าตามที่มูลนิธิเขามีรายการมาให้เลือก

เพราะรายได้จากการจำหน่ายสินค้าก็เป็นการสนับสนุนทางมูลนิธิด้วย
โดยก็ทำอย่างนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว


แต่เมื่อประมาณ ๓ หรือ ๔ ปีก่อน ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่มาสะดุดใจผม
คือมีรุ่นพี่ในที่ทำงานท่านหนึ่ง เขาเป็นผู้อุปการะเด็กในมูลนิธิแห่งหนึ่งเหมือนกัน
เขาได้คุยให้ผมฟังว่า เขาไม่ซื้อสินค้าของมูลนิธิให้เด็กในอุปการะหรอกนะ
ผมก็ถามว่า “ทำไมพี่ไม่ซื้อสินค้าของมูลนิธิล่ะครับ”
เขาตอบว่า “ซื้อไม่ได้หรอก ผมรับอุปการะเด็กคนนี้มาหลายปีจนกระทั่งตอนนี้เขาเป็น “นาย” แล้ว
แต่สินค้าของมูลนิธิที่นำเสนอมานี้ ยังเหมาะที่จะเป็นของขวัญสำหรับเด็กประถมอยู่เลย”


ผมได้ฟังพี่เขาคุยอย่างนี้แล้ว ผมก็รู้สึกสะดุดใจตนเองนะครับว่า
ผมเองก็รับอุปการะเด็กหลายคนมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยสังเกตเห็นตรงนี้
เพราะว่าผมเองไม่เคยให้ความสำคัญ หรือให้ความสนใจในรายละเอียด
โดยผมคิดเพียงแต่ว่า เราอุปการะเด็ก เราได้ทำบุญ เราโอนเงินเข้ามูลนิธิ เราเขียนและส่งการ์ด

และเราสั่งซื้อของขวัญให้ในเทศกาลต่าง ๆ ก็ถือว่าเราทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว
แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ครับ ผมเองยังไม่เคยให้ความใส่ใจในรายละเอียดของเด็ก ๆ เท่าไร


ผมกลับไปบ้านในวันนั้น ผมก็เริ่มหยิบข้อมูลของเด็ก ๆ ที่อุปการะมาดูอย่างละเอียด
ก็ได้พบว่าเด็ก ๆ ที่ผมรับอุปการะไว้ใน ๒ มูลนิธินั้น อายุแตกต่างกันมาก มีตั้งแต่ ๓ – ๔ ขวบ
บางคนก็ ๑๐ – ๑๒ ขวบก็มี และบางคนก็เป็นนาย หรือเป็นนางสาวแล้วด้วย
แต่ว่าเวลาผมเขียนการ์ดในแต่ละเทศกาลให้แก่เด็ก ๆ ทุกคนนั้น
ผมกลับเขียนข้อความเหมือน ๆ กันให้กับเด็กทุก ๆ คนทั้งที่อายุเด็ก ๆ แตกต่างกันมาก


ถ้าเป็นเมื่อหลาย ๆ ปีก่อนที่ผมยังไม่ได้หันมาสนใจศึกษาธรรมะแล้ว
ผมก็จะบอกกับตัวเองว่า งานประจำเราเยอะจะตาย เวลาจะนอนก็แทบไม่มี
วันหนึ่ง ๆ ก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง และทำแทบไม่ทันอยู่แล้ว
แล้วจะให้เรามามีเวลาสนใจเขียนการ์ดให้เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันได้ยังไง
ในลักษณะนั้นก็ย่อมจะถือว่าเป็นการที่ผมไปโทษสิ่งอื่น ๆ แต่ไม่ได้มาโทษตนเอง


ในคืนนั้นที่ผมได้พบความจริงว่า ผมได้ละเลยการใส่ใจในรายละเอียดเรื่องเด็กมาโดยตลอด
ผมยอมรับว่าเป็นความผิดหรือความบกพร่องของผมเองที่ไม่ใส่ใจเท่าที่ควร
หลังจากนั้น ผมก็เริ่มหันมาสนใจในรายละเอียดของเด็ก ๆ มากขึ้น

โดยเวลาที่เขียนการ์ดเองให้เด็ก ๆ แต่ละคน ผมก็จะดูว่าเด็ก ๆ อายุเท่าไร
และผมจะเขียนการ์ดให้เด็กแต่ละคนด้วยข้อความที่ไม่เหมือนกัน
โดยอาจจะให้ข้อคิดหรือแนะนำข้อธรรมที่เหมาะสมกับวัยหรืออายุของเด็กนั้น ๆ ด้วย


ในส่วนของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ ที่ให้แก่เด็กในอุปการะนั้น
ผมก็จะพิจารณาก่อนว่าสินค้าของมูลนิธิเหมาะสมกับอายุเด็กในอุปการะหรือเปล่า
หากสินค้าของมูลนิธินั้นไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก เช่น เด็กอายุมากเกินที่จะเล่นของนั้น ๆ แล้ว
ผมก็จะไปเดินร้านหนังสือหาหนังสือที่น่าอ่านและเหมาะสมกับอายุของเด็กส่งไปให้เป็นของขวัญ
โดยแม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้นก็ตาม
แต่ผมกลับรู้สึกว่าตนเองได้ทำหน้าที่เป็นผู้อุปการะที่สมบูรณ์มากขึ้น และมีคุณค่ามากขึ้น



อนึ่ง ขอเรียนชี้แจงว่าที่เล่ามานี้ ไม่ได้จะบอกว่าสินค้าของมูลนิธิไม่ดีนะครับ
สินค้าของมูลนิธินั้นก็ดีอยู่แล้ว และการช่วยซื้อสินค้ามูลนิธิ ก็เป็นการช่วยทำบุญกุศลด้วย
แต่เราก็ต้องยอมรับว่า จะให้มูลนิธิจัดสินค้ามาให้เลือกมากมาย (เหมือนกับห้างสรรพสินค้า)
หลากหลาย เพื่อให้จัดส่งให้เด็ก ๆ แต่ละคนแตกต่างกันนั้น คงไม่ใช่วิสัยที่มูลนิธิจะสามารถทำได้
ทางมูลนิธิก็พยายามทำได้ดีที่สุดคือ จัดสินค้าที่เห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับเด็กส่วนใหญ่
ซึ่งผมเห็นว่ากรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้มีอุปการะเองที่ต้องทำหน้าที่ตนเอง
โดยพิจารณาว่าสินค้าของมูลนิธินั้นเหมาะสมกับอายุของเด็กที่เราอุปการะหรือไม่
ถ้าไม่เหมาะสม เราก็ควรจะไปหาของขวัญอื่นที่เหมาะสม และช่วยสมทบค่าจัดส่งให้ทางมูลนิธิ


ดังนี้แล้ว เราพึงสนใจในรายละเอียด และหมั่นสังเกตเป็นระยะ ๆ ครับ
เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ทุกปี ทุกเดือน ทุกวัน ทำเป็นประจำ หรือทำต่อเนื่องมานั้น
อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในทุกกาลเสมอไป
สิ่งที่เราทำนั้นอาจจะถูกต้องและเหมาะสม ณ เวลานั้น ๆ ในอดีต

แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้
เสมือนอย่างของขวัญที่เราให้เด็กที่เราอุปการะนั้น ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามวัยของเด็ก
ถ้อยคำที่เขียนในการ์ดก็ควรปรับเปลี่ยนไปตามวัยของเด็ก
เช่น แม้ว่าเด็กที่ผมอุปการะจะมีอายุหลากหลายตั้งแต่ ๓ หรือ ๔ ขวบ
ไปจนถึงโตเป็นนายหรือนางสาวแล้วก็ตาม
แต่ในอดีตนั้น ผมก็ยังเขียนการ์ดให้เด็ก ๆ ทุกคนเหมือน ๆ กันทำนองว่า
“ทำตัวเป็นเด็กดี และเชื่อฟังพ่อแม่นะ ขยันเรียนนะจ๊ะ” อะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ได้จำแนกตามวัย
ในเรื่องนี้ผมเองก็สำนึกในข้อบกพร่องของตนเอง และตั้งใจว่าจะไม่ทำบกพร่องซ้ำอีก


คุยมาตั้งยาวแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าเรื่องธรรมะเลย จึงขอวกเข้าเรื่องธรรมะว่า
ในเรื่องของการศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
โดยเราพึงสนใจในรายละเอียดและหมั่นสังเกตการปฏิบัติธรรมของเราเองด้วย
ว่าเราสมควรจะต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงตรงไหนบ้างหรือไม่

กรณีไม่ใช่ว่าเราทำเหมือนเดิมอย่างนั้นไปเรื่อย โดยที่ก็ไม่ทราบว่าได้พัฒนาอะไรบ้างหรือไม่


ในการพิจารณาพัฒนาการของตนเอง เราก็พิจารณาได้ไม่ยากนะครับ
โดยเราอาจจะพิจารณา “พละ ๕” หรือ “อินทรีย์ ๕” ก็ได้
กล่าวคือพิจารณาว่าศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาเจริญขึ้นหรือไม่
หรือไม่เช่นนั้น เราอาจจะพิจารณาว่าทาน ศีล และภาวนาของเราเจริญขึ้นบ้างไหมก็ได้
ในส่วนของการภาวนาซึ่งเป็นเรื่องละเอียดนั้น
บางทีเราก็อาจจะไม่ทราบว่าตนเองกำลังติดตรงไหนอยู่
เราก็อาจจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ให้ท่านช่วยชี้แนะให้
แต่ก็ไม่ควรไปรบกวนครูบาอาจารย์โดยไม่จำเป็นนะครับ

พึงช่วยกันถนอมธาตุขันธ์ครูบาอาจารย์ และเปิดโอกาสให้ท่านอื่นที่จำเป็นด้วย


ในการพิจารณาตนเองนี้ มีศัพท์ภาษาบาลีว่า “โยนิโสมนสิการ”
ซึ่งในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ได้ให้ความหมายว่าหมายถึง “การใช้ความคิดถูกวิธี คือ
การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า
สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ
และโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะ
และตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย และเป็น ฝ่ายปัญญา”


ทีนี้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าการใช้โยนิโสมนสิการนี้ก็ต้องสังเกตอย่างแยบคาย
โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านะครับ

ไม่ใช่ว่าสังเกตพิจารณาเอาตามความรู้สึกตนเอง คิดเอาเอง หรือเดาเอาเอง
ไม่เช่นนั้นแล้วก็คือไม่ได้ใช้หลักธรรมแล้ว แต่ว่าใช้หลักกูต่างหาก
ฉะนั้นก็ต้องพิจารณาและเปรียบเทียบกับพระธรรมคำสอนครับ


การที่เราใช้โยนิโสมนสิการนี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งนะครับ
ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร วิริยารัมภาทิวรรค
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยแยบคาย กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป”
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=68&items=1&preline=0&pagebreak=0


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนการใส่ใจโดยไม่แยบคาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยไม่แยบคาย อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป”
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=67&items=1&preline=0&pagebreak=0


จะเห็นได้ว่า การใช้โยนิโสมนสิการเป็นเหตุให้ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป
แต่ในทางกลับกัน การไม่ใช้โยนิโสมนสิการก็ย่อมเป็นเหตุให้
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป



นอกจากนี้แล้ว ในเสขสูตรที่ ๑ ได้กล่าวว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตผล

ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุอันหนึ่งอย่างอื่น
กระทำเหตุที่มี ณ ภายในว่ามีอุปการะมาก เหมือนโยนิโสมนสิการนี้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมนสิการโดยแยบคาย ย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญกุศลให้เกิดมี


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ธรรมอย่างอื่นอันมีอุปการะมาก เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุดแห่งภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
เหมือนโยนิโสมนสิการ ไม่มีเลย
ภิกษุเริ่มตั้งไว้ซึ่งมนสิการโดยแยบคาย พึงบรรลุนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งทุกข์ได้”
http://www.84000.org/tipitaka/read/?25/194/236


ก่อนจบ ก็ขอย้ำว่าที่ได้เล่ามาทั้งหมดในเรื่องของการหัดสังเกตนี้
เป็นเรื่องของการหัดสังเกตตนเองนะครับ หรือสังเกตรูปนาม หรือกายใจตนเอง
โดยไม่ได้แนะนำให้ไปสังเกตคนอื่นนะครับ
เพราะหากเราสังเกตแต่คนอื่น หรือข้อบกพร่องของคนอื่น หรือกายใจคนอื่นแล้ว
ก็มีแต่จะทำให้เราเกิดโมหะ โทสะ หรือตัณหา (อยากจะไปยุ่งหรือไม่ยุ่งกับเขา) มากยิ่งขึ้น
แต่หากเราสังเกตตนเองแล้ว จะทำให้เราพบข้อบกพร่องของตนเองได้
และก็ช่วยทำให้เรามีโอกาสขจัดข้อบกพร่องนั้น และพัฒนาตนเองได้นะครับ





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP