จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ดูแล้วขาดทุน ดูทำไม


 

งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


111 destination


เมื่อไม่นานมานี้มีญาติสูงอายุท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังว่า

เธอได้ดูข่าวในโทรทัศน์เรื่องพระภิกษุรูปหนึ่งจับสุนัขฟาดกับบันได
เธอดูแล้วก็รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่โหดร้ายมาก

ผมก็ถามเธอว่า “ดูแล้ว ทำให้รู้สึกว่าไม่สบายใจใช่ไหม”
เธอบอกว่า “ไม่ได้ไม่สบายใจ แค่รู้สึกว่าเขาโหดร้ายเท่านั้นเอง”

เนื่องจากญาติอาวุโสท่านนี้ไม่ค่อยสนใจฟังธรรมะเท่าไร
และไม่ได้สนใจฝึกหัดภาวนาดูจิตใจตนเอง จึงทำให้อธิบายค่อนข้างยากนะครับ
ผมจึงเปลี่ยนคำถามใหม่ โดยถามว่า “ดูภาพข่าวนั้นแล้ว รู้สึกจิตใจเป็นบุญกุศลใช่ไหม”
เธอตอบว่า “ไม่ได้รู้สึกว่าจิตใจเป็นบุญกุศล”

ถามต่อว่า “ดูภาพข่าวนั้นแล้ว ช่วยให้เราสบายใจใช่ไหม”
เธอตอบว่า “ไม่ได้ช่วยให้สบายใจ”
ถามต่อว่า “แล้วเราชอบดูภาพข่าวนั้นใช่ไหม”
เธอตอบว่า “ไม่ได้ชอบดู”
ถามต่อว่า “เราอยากดูอีกไหม”

เธอตอบว่า “ไม่อยากดู”
ถามต่อว่า “ดูแล้วช่วยให้เรามีความสุขใช่ไหม”
เธอตอบว่า “เปล่า”
ผมก็ถามว่า “แล้วเราไปดูทำไมล่ะ”
เธอตอบว่า “ก็นั่งดูข่าวแล้ว ข่าวเขาก็ฉายให้ดูเอง ก็เขาเอามาฉายให้เราดูทำไมล่ะ”

นี่ก็ไปโทษรายการข่าวเขานะครับ โดยไม่ได้ย้อนกลับมาพิจารณาตนเอง
ผมก็อธิบายว่า รายการข่าวเขาจะนำเสนอข่าวหรือภาพอะไร ก็เรื่องของเขา
เขาก็มุ่งแต่เสนอข่าวเพื่อมุ่งหาโฆษณาและเพิ่มเรตติ้ง
เขาไม่ได้มาพิจารณาหรอกว่าผู้ชมดูแล้วจะทำให้จิตใจเป็นกุศลหรืออกุศล
แต่ในส่วนของเรานั้น ไม่ได้มีใครบังคับให้เรากดปุ่มเปิดโทรทัศน์ เราเปิดเอง
ไม่ได้มีใครบังคับให้เราดูข่าวช่องนั้น เราดูเอง
ไม่ได้มีใครบังคับให้เราดูข่าวช่องนั้นแล้ว ต้องดูภาพข่าวเรื่องนั้น เราดูเอง
เรื่องของเรื่องก็คือเราเปิดโทรทัศน์เอง ดูข่าวช่องนั้นเอง ดูภาพข่าวเรื่องนั้นเอง

อย่างสมมุติเวลาข่าวเขาเริ่มจะฉายภาพข่าวการทำร้ายสุนัขแล้ว
เราจะปิดโทรทัศน์ก็ได้ เปลี่ยนช่องก็ได้ เดินไปห้องน้ำก็ได้ ปิดเสียงแล้วหลับตาก็ได้ ฯลฯ
โดยก็มีวิธีการอื่น ๆ มากมายที่เราจะไม่ต้องชมภาพข่าวที่โหดร้ายนั้น

แต่ว่าเราก็ไม่เลือกวิธีอื่น เรากลับเลือกที่จะนั่งชมภาพข่าวโหดร้ายนั้นต่อไปเอง
ในเมื่อเราเลือกที่จะทำเช่นนั้นเอง แล้วเราจะไม่โทษตัวเองบ้างเลยหรือ

ไม่ทราบว่าญาติท่านนี้จะเข้าใจหรือยอมรับเพียงไหนนะครับ
แต่ว่าผ่านไปอีกสักสัปดาห์หนึ่ง ก็มีญาติอาวุโสอีกท่านหนึ่งมาเล่าในเรื่องทำนองเดียวกัน
โดยเธอเล่าให้ฟังว่า เธอได้ดูภาพข่าวในโทรทัศน์เรื่องชายคนหนึ่งฆ่าว่าที่เจ้าสาวและว่าที่แม่ยาย
เธอดูภาพข่าวแล้วก็รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่โหดร้ายมาก

(ญาติอาวุโสท่านแรกไม่ได้มาคุยให้ผมฟังแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเข้าใจที่ผมแนะนำ
หรือไม่อยากฟังผมแนะนำอีก หรือท่านไม่ได้ชมภาพข่าวนี้ หรือด้วยเหตุอื่น ๆ กันแน่)

เนื่องจากญาติท่านนี้ได้ฟังธรรมะเรื่องการภาวนา และการดูจิตใจตนเองมาบ้าง
ผมจึงถามเธอว่า “ดูภาพข่าวแล้วทำให้จิตใจเป็นอกุศล แล้วเราจะไปดูทำไม”
เธอบอกว่า “ไม่ได้เป็นอกุศล ดูแล้วรู้สึกเฉย ๆ”
ได้ฟังแล้วผมก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยขึ้นมาหน่อย ๆ นะครับ เพราะต้องพยายามอธิบายอีกแล้ว

ผมก็เปลี่ยนคำถามใหม่ว่า “ดูแล้ว รู้สึกสบายใจไหม”
เธอตอบว่า “ไม่ได้สบายใจ”
“ดูแล้วรู้สึกจิตใจผ่องใส เบิกบานหรือเปล่า”
เธอตอบว่า “เปล่า ไม่ได้ผ่องใส ไม่ได้เบิกบาน แค่รู้สึกเฉย ๆ”
โอ อันนี้คุยยากนะครับ เอะอะก็บอกว่า เฉย ๆ ตลอดเลย
ผมไม่ทราบว่าเธอไม่ทันเห็นจิตใจที่เปลี่ยนแปลงของตนเอง

หรือเธอทำใจให้นิ่งจนทำให้รู้สึกเฉย ๆ กับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ

ผมจึงเปลี่ยนคำถามใหม่ โดยถามว่า “ชอบไปดูคนเขาฆ่าปลาในตลาดไหม อยากดูไหม”
เธอตอบว่า “ไม่ชอบ ไม่อยากดู”
“เวลาดูคนเขาฆ่าปลาในตลาดแล้ว เราสบายใจไหม”
เธอตอบว่า “ไม่สบายใจ”
ผมจึงสรุปให้ฟังว่า “นั่นแหละ ถ้าเราจะไปดูเขาฆ่าวัว ฆ่าควาย หรือฆ่าสัตว์อื่นก็ตาม
เราก็รู้สึกทำนองเดียวกันนั่นแหละว่า เราไม่สบายใจ
แต่นี่เราดูภาพข่าวที่เขาฆ่าคนด้วยกัน แล้วมันจะสบายใจได้ยังไง มันก็ไม่สบายใจนั่นแหละ
ฉะนั้นแล้ว เราดูภาพข่าวแล้ว เราไม่สบายใจ จิตใจเกิดอกุศล แล้วเราจะไปดูทำไมล่ะ”

เธอก็บ่นมาว่า “อย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องติดตามข่าวสารอะไรเลยหรือยังไง
เราก็ไม่รู้เรื่องเลยน่ะสิว่าข้างนอกเขาเป็นยังไง และเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
ผมจึงแนะนำว่า ติดตามข่าวได้ แต่ตรงไหนที่มันเป็นอกุศล และทำให้ไม่สบายใจ ก็ไม่ต้องดู
โดยเราเปลี่ยนช่องก็ได้ หรือเดินไปห้องน้ำ หรือเดินไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้
เราไม่ได้จำเป็นต้องนั่งดูภาพข่าวตลอดและดูให้ครบทั้งหมดหรอก

บางทีแค่ฟังเขาอ่านหัวข้อข่าว เราก็พอทราบเรื่องแล้ว เราไม่ต้องดูภาพข่าวทั้งหมดให้จบก็ได้
หากเราดูแล้วขาดทุน คือดูแล้วทำให้จิตใจเราเกิดอกุศล ก็ไม่ควรดู


ที่ผมบอกว่าดูแล้วขาดทุน หรือดูแล้วจิตใจเกิดอกุศลนั้น
หากพิจารณาอย่างหยาบ ๆ ก่อนก็คือเราไปคอยเฝ้าดูอะไรที่เป็นเรื่องผิดศีลแล้ว
ก็ย่อมมีโอกาสทำให้จิตใจเกิดอกุศล
ยกตัวอย่างว่า มีคนเขาฆ่ากันหรือทำร้ายกัน มีคนเขาลักขโมย มีคนเขาลอบเป็นชู้กัน
มีคนเขาโกหกกันหรือด่าทอทะเลาะกัน มีคนเขานั่งดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด

ถามว่าเรามัวแต่เฝ้าดูสิ่งเหล่านี้เรื่อย ๆ แล้วจะทำให้จิตใจเป็นกุศลหรือไม่
หรือว่าดูสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ แล้วกลับจะทำให้เราเกิดอกุศลในจิตใจ

ผมไม่ได้บอกว่าให้เราหลบ “ผัสสะ” (การกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) นะครับ
ผัสสะนั้นเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลาอยู่แล้วในแต่ละวัน

โดยสิ่งที่มากระทบและทำให้เกิดกุศลนั้นก็มีน้อยเหลือเกิน
ส่วนใหญ่ที่มากระทบนั้นก็มักจะเป็นตัวที่ลากหรือทำให้เกิดอกุศลทั้งนั้น
ดังนี้แล้ว หากเราเลือกได้บ้าง เราก็ควรเลือกกระทบตัวที่จะทำให้เกิดกุศล
เช่น ถ้าเราจะไปนั่งรับผัสสะดูคนอื่นเขาดื่มสุราในร้านสุราแล้ว

เราเลือกที่จะไปรับผัสสะที่วัด นั่งดูคนอื่นสวดมนต์นั่งสมาธิจะเป็นประโยชน์กว่า
(ดีกว่านั้นคือสวดมนต์เองและนั่งสมาธิเองเลย)

ถ้าเราจะเปิดโทรทัศน์รับผัสสะเห็นคนอื่นด่ากัน ตบตีกัน โกหกกัน อิจฉาริษยากัน
เราเลือกที่จะรับผัสสะนั่งชมหรือฟังธรรมเทศนา ก็จะเป็นประโยชน์กว่า

หากพิจารณาอย่างละเอียดกว่านั้น ก็คือผัสสะอะไรที่ทำแล้วมักทำให้เราขาดสตินาน ๆ
หรือเป็นการฝึกให้เราหลงและขาดสติ ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
อย่างเช่น การดูหนัง ฟังเพลง หรือการเล่นเกม หรือการสนทนาพูดคุยเพ้อเจ้อ
หรือกระทั่งการชอบนั่งเหม่อใจลอยคิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ๆ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ


ในสมัยพุทธกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็เคยเล่าบุพกรรมในอดีตของท่านให้ฟังนะครับ
ว่าในสมัยอดีตชาติที่ท่านยังเป็นพระโพธิสัตว์นั้น
มีอยู่ชาติหนึ่ง ท่านเกิดเป็นชาวประมงในหมู่บ้านชาวประมง
อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์กับพวกบุรุษชาวประมงกลุ่มหนึ่งได้ไปยังสถานที่ฆ่าปลา
และได้เห็นปลาทั้งหลายตาย
ท่านเหล่านั้นได้ทำโสมนัสให้เกิดขึ้นในเรื่องที่ปลาตายนั้น (คือยินดีที่ได้เห็นปลาตาย)
ด้วยอกุศลกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสวยทุกข์ในอบายทั้ง ๔

และในอัตภาพหลังสุดนี้ ได้บังเกิดในตระกูลศากยราช พร้อมกับบุรุษชาวประมงเหล่านั้น
แม้พระโพธิสัตว์จะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ตาม
พระพุทธเจ้าท่านก็ยังได้เสวยความเจ็บป่วยหรืออาอาพาธที่ศีรษะด้วยตนเอง
ในคราวที่เจ้าศากยะถึงความพินาศกันหมดในสงครามของเจ้าวิฑูฑภะ
(อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=1&p=11#ปัญหาข้อที่_

ตามอรรถกถานี้ สังเกตว่าพระโพธิสัตว์ท่านไม่ได้ฆ่าปลาเลยแม้แต่ตัวเดียวนะครับ
เพียงแค่ท่านได้เห็นและมีจิตยินดีหรือจิตโสมนัสที่ปลาตายเท่านั้นเอง
ท่านก็ต้องไปใช้กรรมในอบายทั้ง ๔ และในชาติสุดท้ายก็ยังต้องอาพาธปวดศีรษะอีก
ส่วนบุรุษชาวประมงอื่น ๆ นั้น อรรถกถาไม่ได้บอกว่าพวกเขาได้ไปอบายด้วยหรือไม่
แต่เล่าว่าพวกเขาได้เกิดในตระกูลเจ้าศากยะแล้ว ก็ยังถึงความพินาศในสงครามของเจ้าวิฑูฑภะ

ทั้งหมดนี้เกิดจากการไปเห็นปลาตาย และมีจิตยินดีที่ปลาตายนั้น
พิจารณาแล้วเห็นความน่ากลัวของสังสารวัฏไหมครับ
ความสุขทั้งหลายในสังสารวัฏนี้คุ้มค่าหรือเปล่าครับ
เราเพียงเห็น และยินดีไม่นาน แต่รับกรรมหนักเหลือเกิน ไม่คุ้มค่ากันเลย

บางท่านอาจจะบอกว่า ฉันดูภาพข่าวทำร้ายสุนัข แต่ฉันไม่ได้มีจิตโสมนัสนะ
กล่าวคือฉันไม่ได้มีจิตใจยินดีไปกับเขาด้วยนะ
ผมเห็นว่าเรื่องข่าวนั้นเป็นเรื่องเล็กครับ โดยเป็นตัวอย่างที่เราคงไม่ได้เผลอใจไปยินดีหรอก
แต่เรื่องผิดศีลที่ให้เราชม และอาจทำให้เราเผลอใจไปยินดีนั้นมีเยอะกว่ามาก
อย่างเช่นเวลาเราชมละครในโทรทัศน์นั้น บางเรื่องก็มีการเป็นชู้กัน ประพฤติผิดในกาม
บางคนก็นั่งติดตามชมแล้ว อยากจะรอดูว่าจะประพฤติผิดในกามเมื่อไร อย่างไร
บางคนเห็นนางเอกตบตีนางร้าย ด่านางร้าย ก็มีจิตใจยินดีในการตบตีและการด่านั้น
บางคนเห็นผู้ร้ายโดนพระเอกฆ่าตาย โดนตำรวจยิงตาย ก็มีจิตใจยินดีในการฆ่านั้น
หรือบางคนดูภาพยนตร์เรื่องที่พระเอกเป็นโจรหรือเป็นยอดขโมย
เวลาพระเอกไปขโมยของผู้ร้ายนั้นก็ต้องลุ้นระทึกตื่นเต้น พอขโมยได้แล้ว เราก็ยินดี เป็นต้น

ยิ่งดูภาพยนตร์สงครามรบกันฆ่ากันแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ครับ
ในภาพยนตร์แสดงกองทัพ ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายเข้าประหัตประหารกัน
เราชมแล้ว เราเชียร์ฝ่ายหนึ่ง ไม่เชียร์อีกฝ่ายหนึ่ง
เราได้เห็นฝ่ายที่เราเชียร์นั้นฆ่าหรือประหารอีกฝ่ายหนึ่งแล้วชนะ เราก็มีจิตใจยินดี เป็นต้น
บางท่านอาจจะบอกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงนะ มันเป็นภาพยนตร์เท่านั้น

ผมเรียนว่ามันจะจริงหรือไม่จริงนั้น ไม่สำคัญ
ปัญหาคือว่าจิตใจเราก่อกุศล หรืออกุศลในขณะนั้น และจิตใจเป็นอย่างไร
หากจิตใจยินดีในการชมการฆ่ากันเช่นนั้นแล้ว มันก็เป็นเรื่องศีลด่างพร้อยแล้วล่ะครับ

หากท่านจะถามว่าคนที่ชมเรื่องราวผิดศีลดังกล่าวแล้ว อาจทำให้ศีลด่างพร้อยได้
แล้วนักแสดงเองนั่นล่ะ ถือว่าผิดอะไรด้วยหรือไม่
ผมขอแนะนำให้พิจารณาพระสูตรชื่อว่า “ตาลปุตตสูตร” นะครับ
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=7768&Z=7822

ในสมัยหนึ่งมีนักเต้นรำนามว่า “ตาลบุตร” เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
จากนั้น เขาได้ถามว่า “เขาเคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์ก่อน ๆ กล่าวว่า
นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในสถานมหรสพ
ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้ร่าเริง
ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอย่างไร”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า
“ดูกรนายคามณี เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ อันกิเลสเครื่องผูกคือราคะผูกไว้
นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโทสะ อันกิเลสเครื่องผูก คือโทสะผูกไว้
นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ
ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโมหะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโมหะผูกไว้
นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ
ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
นักเต้นรำนั้น ตนเองก็มัวเมา ประมาท ตั้งอยู่ในความประมาท
เมื่อแตกกายตายไป ย่อมบังเกิดในนรกชื่อปหาสะ

อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง
ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานมหรสพ
ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชื่อปหาสะ
ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด ดูกรนายคามณี ก็เราย่อมกล่าว
คติสอง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง แก่บุคคลผู้มีความเห็นผิด ฯ”

นักเต้นรำนามว่าตาลบุตรได้ฟังแล้วก็ร้องไห้สะอื้นเสียใจว่า โดนอาจารย์ก่อน ๆ ล่อลวงให้หลง
เขาจึงได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
และหลังจากท่านพระตาลบุตรอุปสมบทไม่นาน ท่านหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ฯลฯ ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
ฉะนั้นแล้ว ในส่วนของนักแสดงนั้น ก็เรียกได้ว่าอาการน่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่าคนดูนะครับ

ในสมัยก่อนนั้น ผมก็เคยไหลตามค่านิยมโดยมองว่าการได้เป็นดารานักแสดงนั้นเป็นสิ่งที่ดี
เวลาไปเจอเด็ก ๆ หรือเจอหลาน ๆ น่ารัก ก็ชมว่าโตขึ้นน่าจะเป็นดารานักแสดงได้
แต่พอศึกษาและปฏิบัติธรรมไปเรื่อย ๆ และได้อ่าน “ตาลปุตตสูตร” นี้แล้ว
เวลาไปเจอเด็ก ๆ หรือเจอหลาน ๆ น่ารัก ผมก็ไม่ทักว่าโตขึ้นน่าจะเป็นดารานักแสดงแล้ว
ในทางกลับกัน ถ้าสนิทกันพอสมควร กลับจะเตือนพ่อแม่ด้วยว่าอย่าให้เด็กไปเป็นนักแสดงนะ

นอกจากเรื่องชมละครหรือชมภาพยนตร์แล้ว เทคโนโลยีสมัยนี้ก็พาเราไปอบายได้ง่าย ๆ
อย่างเราเองอาจจะไม่มีโอกาสฆ่าสัตว์ในชีวิตจริงหรอก
เราคงไม่ได้ไปยิงนกตกปลาได้ง่าย ๆ เราไม่มีโอกาสไปหาปืนมาฆ่าใครยิงใครได้
หรือไม่มีโอกาสไปเอาดาบมาเที่ยวไล่ฟันใครได้
แต่เดี๋ยวนี้เขาก็สร้างเกมทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นมาให้เราเล่นทั้งหมด
เมื่อเราเล่นแล้วก็ย่อมส่งผลให้จิตใจเราด่างพร้อยในเรื่องของศีล
เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงเคยได้เห็นเกมที่ส่งเสริมการผิดศีลเยอะแยะนะครับ

บางเกมก็เล่นเป็นทหารเอาปืนเอ็ม ๑๖ ไล่ยิงคนอื่น หรือใช้ปืนสไนป์เปอร์ซุ่มยิงคนอื่น
ปาระเบิดใส่คนอื่นก็มี หรือเล่นเป็นทหารถือหอกถือดาบไล่ฟันคนอื่นให้ตาย ก็มีเยอะ

เกมยิงนกตกปลานี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว หรือบางเกมที่ให้เราเล่นกดบี้มดหรือแมลงก็มี
สิ่งเหล่านี้นั้น หากจะให้เราไปทำจริง ๆ แล้ว เราหาโอกาสทำยากนะครับ
หรือบางอย่างก็ไม่มีโอกาสทำได้ โอกาสไปทำผิดศีลเหล่านี้จึงมีไม่มากหรือไม่มีเลย
แต่เขาก็ทำเกมมาให้เราเล่นถึงบ้าน และถึงทุกสถานที่ที่มีคลื่นหรือสัญญาณโทรศัพท์
ซึ่งส่งผลให้จิตใจเราด่างพร้อยในเรื่องศีล

และเมื่อเล่นไปแล้ว จิตใจยินดีโสมนัสในเรื่องผิดศีลดังกล่าว
ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ลากเราไปลงอบายทั้ง ๔ ในทำนองเดียวกับเรื่องในอรรถกถาที่ยกมาก็ได้นะครับ

สรุปแล้ว ในสมัยนี้ เราอยู่ยากกันขึ้นทุกที ๆ นะครับ
เพราะสิ่งที่จะลากเราไปอบายนั้นมีเยอะเหลือเกิน แถมมันก็เข้ามาหาเราได้สะดวกตามเทคโนโลยี
สิ่งสำคัญที่จะช่วยเราได้ก็คือเราพึงมีสติรู้ทันใจตนเองอยู่เสมอ ๆ ครับ

และก็พยายามรักษาศีลให้แข็งแรง ไม่ให้ศีลด่างพร้อย
ไม่ว่าจะด้วยการเล่นเกม หรือดูละคร หรืออื่น ๆ ก็ตาม
อะไรที่ดูแล้วหรือเล่นแล้ว ทำให้ศีลด่างพร้อยหรือจิตใจเกิดอกุศล ก็คือเราเองขาดทุน
เช่นนี้แล้ว เราจะไปดูทำไม หรือเราจะไปเล่นทำไมล่ะครับ


 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP