จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เราเป็นคนอาภัพหรือไม่?


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

110 destination

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ตอบคำถามญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องคนอาภัพ
ซึ่งเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำมาขยายความในที่นี้นะครับ
โดยผมจะขอเริ่มด้วยการให้เราได้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า
“เราเป็นคนอาภัพหรือไม่?

หลายท่านอาจจะพิจารณาว่าเราเป็นคนอาภัพหรือไม่
โดยพิจารณาจากความขาดแคลนและความลำบากยากไร้ในชีวิต
การได้สิ่งต่าง ๆ สมดังใจในชีวิต ความทุกข์และความผิดหวังในชีวิต
เช่น บางท่านอาจจะบอกว่าเราไม่ได้เป็นคนอาภัพ
เพราะว่าเรามีหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ยากไร้ และไม่ได้ขาดแคลนอะไรในชีวิต
เวลาที่เราต้องการสิ่งใด ๆ แล้ว เราก็มักจะได้สิ่งนั้น ๆ ตามที่ต้องการ
ในชีวิตเราไม่ค่อยจะมีความทุกข์ใจหรือต้องผิดหวังในเรื่องใด ๆ เท่าไร

บางท่านอาจจะบอกว่าเราเป็นคนอาภัพอยู่บ้าง
เพราะแม้เราจะมีบางสิ่งบางอย่างในชีวิต แต่เราก็ขาดแคลนอีกหลายสิ่งหลายอย่าง

เมื่อเราต้องการบางสิ่งบางอย่างในชีวิต ก็มีบ่อยครั้งที่เราไม่ได้สิ่งนั้น ๆ ดังที่ต้องการ
หรือได้มาเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แล้วเราก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นไป
โดยชีวิตเราก็ยังมีความทุกข์ใจ และความผิดหวังมากมายในหลาย ๆ เรื่อง

บางท่านอาจจะบอกว่าเราช่างเป็นคนอาภัพเสียเหลือเกิน
เพราะชีวิตเราลำบากยากไร้ และขาดแคลนหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย

เวลาเรามองไปรอบ ๆ ตัว ก็พบเห็นแต่คนอื่น ๆ ที่เขามีพร้อมยิ่งกว่าเรา
เราไม่เคยที่จะได้สิ่งใด ๆ ที่ใจเราต้องการ
โดยชีวิตเรามีความทุกข์ใจมากมาย และผิดหวังไปเสียเกือบทุกเรื่อง

การพิจารณาว่าตนเองเป็นคนอาภัพหรือไม่อาภัพโดยอาศัยเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น
ถือเป็นการพิจารณาถึงความเป็นคนอาภัพในทางโลก ๆ นะครับ
แต่หากจะพิจารณาถึงความเป็นคนอาภัพในทางธรรมแล้ว
ก็จะมีเกณฑ์พิจารณาอีกอย่างหนึ่ง
โดยในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ได้มีพระธรรมคำสอนว่า
“อภัพพสัตว์เป็นไฉน

สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น
คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม
ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นอภัพพสัตว์

ภัพพสัตว์เป็นไฉน
สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น
คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา
อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นภัพพสัตว์”
 http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=31&A=3121&Z=3129

ในพระธรรมคำสอนได้อธิบายว่าอภัพพสัตว์ (โดย “สัตว์” ในที่นี้ก็รวมถึงมนุษย์ด้วย)
ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น
ทำให้ไม่อาจย่างเข้าสู่ “สัมมัตตนิยาม” ในกุศลธรรมทั้งหลายได้

ในส่วนคำว่า “สัมมัตตนิยาม” นั้น ในอรรถกถาได้อธิบายว่า
ไม่อาจย่างเข้า “สู่สัมมัตตนิยาม” ในกุศลธรรมทั้งหลายก็คือ ไม่ย่างเข้าสู่อริยมรรคนั่นเอง
โดยคำว่า “สัมมตะ” หมายถึง ความเป็นถูก หรือภาวะที่ถูกมี ๑๐ อย่าง
ได้แก่ องค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ (สัมมาทิฏฐิ คือการเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ คือการดำริชอบ,
สัมมาวาจา
คือวาจาชอบ, สัมมากัมมันตะ คือการงานชอบหรือประพฤติชอบ,
สัมมาอาชีวะ
คือการเลี้ยงชีพชอบ, สัมมาวายามะ คือการเพียรชอบ,
สัมมาสติ
คือการระลึกชอบ, และสัมมาสมาธิ คือการตั้งใจมั่นชอบ)
และเพิ่ม “สัมมาญาณ” (คือการรู้ชอบ) และ “สัมมาวิมุตติ” (คือการพ้นชอบ) รวมเป็น ๑๐ อย่าง
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=277&p=1#[๒๘๒-๒๘๓]

อภัพพสัตว์ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามได้เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น
คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม
กรณีมี “กรรม” เป็นเครื่องกั้นนั้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำกรรมหนักประเภทอนันตริยกรรม
คือฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงขั้นเกิดห้อพระโลหิต
หรือทำลายสงฆ์ให้แตกกัน โดยคนที่ทำกรรมหนักเหล่านี้ถือเป็นอภัพพบุคคล
ซึ่งไม่อาจจะบรรลุมรรคผลได้ เพราะมีกรรมเป็นเครื่องกั้น

กรณีมี “กิเลส” เป็นเครื่องกั้น ได้แก่การเป็นมิจฉาทิฏฐิ กล่าวคือเป็นคนมีความเห็นผิด
เช่น ไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง ไม่เชื่อว่าผลแห่งบุญบาปมีจริง
ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มีจริง
ใครจะพยายามชี้แจงให้ฟังอย่างไร ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง เช่นนี้ก็ถือเป็นอภัพพบุคคลเช่นกัน

กรณีมี “วิบาก” เป็นเครื่องกั้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็นคนบ้า ปัญญาอ่อน หรือหูหนวกตาบอด
ซึ่งทำให้ไม่สามารถศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ เป็นต้น ก็ย่อมถือเป็นอภัพพบุคคล

กรณี “เป็นผู้ไม่มีศรัทธา” เช่น ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นต้น
(โดย “พระสงฆ์” ในที่นี้หมายถึงพระอริยสงฆ์นะครับ) ก็ย่อมถือเป็นอภัพพบุคคล

กรณี “ไม่มีฉันทะ” เช่น เกียจคร้าน ไม่มีความพอใจ สนใจ ใส่ใจที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรม
หรือเกียจคร้าน ไม่มีความพอใจ สนใจ ใส่ใจในการประพฤติกุศลกรรมทั้งหลาย เป็นต้น
ก็ย่อมถือเป็นอภัพพบุคคล

กรณี “มีปัญญาทราม” นั้น ในอรรถกถาได้อธิบายว่ามีปัญญาทราม คือเสื่อมจาก “ภวังคปัญญา”
(ซึ่งขอเรียนว่า ผมเองก็ไม่แตกฉานในคำว่า “ภวังคปัญญา” จึงไม่ขอลงในรายละเอียดนะครับ)

โดยคำว่า “มีปัญญาทราม” นี้ก็มีความหมายทั่วไปที่เรา ๆ ท่าน ๆ พอจะเข้าใจได้อยู่แล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการที่เราไม่สามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าได้
คือเรื่อง “สมัย” ที่เราจะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า
โดยในช่วงสมัยที่ไม่ได้มีพระพุทธเจ้าขึ้นมาอุบัติขึ้นในโลกนั้น
เราก็ไม่สามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าได้โดยสภาพอยู่แล้ว
แต่แม้ในช่วงเวลาที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นในโลกก็ตาม

เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าก็ได้
เพราะว่าไม่ใช่สมัยที่เราจะทำเช่นนั้นได้

ใน “อักขณสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
 http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=23&A=4639&Z=4716
ได้อธิบายถึงสมัยที่เราไม่สามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าได้
โดยแบ่งออกเป็น ๘ สมัย ได้แก่
๑. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แต่เรากำเนิดเป็นสัตว์นรก
๒. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แต่เรากำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
๓. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แต่เรากำเนิดเป็นเปรต
๔. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แต่เรากำเนิดเป็นเทพผู้มีอายุยืนชั้นใดชั้นหนึ่ง
๕. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แต่เรากำเนิดในปัจจันตชนบทและอยู่ในพวกมิลักขะ
ไม่รู้ดีรู้ชอบ อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปมา
๖. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เรากำเนิดในมัชฌิมชนบท แต่เป็นมิจฉาทิฐิ
มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมดี กรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี
สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก
๗. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เรากำเนิดในมัชฌิมชนบท
แต่มีปัญญาทราม บ้าใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิต
๘. สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แต่พระองค์มิได้แสดงธรรม

สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ในขณะนี้ เรื่องเกี่ยวกับ “สมัย” ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรนะครับ
เพราะว่าเราได้เกิดเป็นมนุษย์ในสมัยที่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ยังคงดำรงอยู่อย่างครบถ้วนให้เราเองศึกษาและปฏิบัติได้
ที่สำคัญก็คือว่าเราอย่าปล่อยตนเองหรือทำตนเองให้เป็นอภัพพบุคคลเท่านั้น

ซึ่งเราสามารถพิจารณาตนเองได้ว่า เราเป็นคนอาภัพในทางธรรมหรือไม่
เช่น พิจารณาว่าในชีวิตนี้ เราได้เคยทำอนันตริยกรรมไว้หรือไม่
เราเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ เราเป็นผู้มีวิบากอันเป็นเครื่องกั้นหรือไม่
(เช่น เป็นบ้า ปัญญาอ่อน หรือหูหนวกตาบอด ทำให้ไม่สามารถศึกษาธรรมะได้ เป็นต้น)
เราเป็นผู้ไม่มีศรัทธาหรือไม่ เราเป็นผู้ไม่มีฉันทะหรือไม่ เราเป็นผู้มีปัญญาทรามหรือไม่

แม้เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายแม้จะไม่มีเครื่องกั้นข้ออื่น ๆ ก็ตาม
แต่เราก็อาจจะตกม้าตายในข้อ “ไม่มีฉันทะ” และทำให้ตนเองเป็นอภัพพบุคคลได้นะครับ
หากเราอยู่ในกลุ่มไม่มีฉันทะแล้ว เราก็พึงสร้างฉันทะให้มากขึ้น

โดยพิจารณาตามจริงให้เห็นทุกข์และโทษภัยของการอยู่ในสังสารวัฏ
และพิจารณาตามจริงให้เห็นประโยชน์ของการออกจากสังสารวัฏนี้ครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP