ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปฐมอัปปมาทสูตร ว่าด้วยความไม่ประมาท สูตรที่ ๑


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๓๗๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ... ณ กรุงสาวัตถี.

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ
ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง
คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้ามีอยู่.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง
คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า คืออะไร?

[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง
คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า คือ ความไม่ประมาท
มหาบพิตร รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายชนิดใดชนิดหนึ่งที่สัญจรไปบนแผ่นดิน
รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง
บัณฑิตกล่าวกันว่า รอยเท้าช้างเป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นของใหญ่ ฉันใด
มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ
ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า คือความไม่ประมาท ก็ฉันนั้น.

[๓๘๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาต่อไปอีกว่า

บุคคลเมื่อปรารถนาซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง
และความยินดีอันโอฬารต่อ ๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท.

บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ปัจจุบันนี้
และประโยชน์ในภายหน้า.

เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์นั้น ผู้มีปัญญาท่านจึงเรียกว่า บัณฑิต.

ปฐมอัปปมาทสูตร จบ


(ปฐมอัปปมาทสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๔)




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP