ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ชฏิลสูตร ว่าด้วยชฎิล


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๓๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม
ปราสาทของมิคารมารดา กรุงสาวัตถี.
สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ประทับนั่งที่นอกซุ้มประตู
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.

[๓๕๕] สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ
เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ทันใดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกจากอาสนะ ทรงกระทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง
ทรงจดพระชานุมณฑล (หัวเข่า) เบื้องขวา ณ พื้นแผ่นดิน
ทรงประนมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
ปริพาชก ๗ คน เหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศลท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล.

ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้น เดินผ่านไปได้ไม่นาน
พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์
หรือท่านผู้บรรลุพระอรหัตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก.

[๓๕๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม
ครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุรณจันทน์อันนำมาแต่แคว้นกาสี
ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทอง ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า
คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือคนพวกนี้บรรลุอรหัตมรรค.

มหาบพิตร ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามรู้ไม่ได้.

มหาบพิตร ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการเจรจา ก็ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามรู้ไม่ได้.

มหาบพิตร กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามรู้ไม่ได้.

มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามรู้ไม่ได้.

[๓๕๗] พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องไม่เคยมี เท่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม... ยากที่จะรู้เรื่องนี้...
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามรู้ไม่ได้ ดังนี้ เป็นอันตรัสดีแล้ว.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้นเป็นคนของข้าพระองค์ เป็นบุรุษสอดแนม
เป็นคนสืบข่าวลับ เที่ยวสอดแนมไปยังชนบทแล้วพากันมา
ในภายหลัง ข้าพระองค์จะรู้เรื่องราวที่คนเหล่านั้นได้สืบมาก่อน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้คนเหล่านั้น คงชำระล้างละอองธุลีนั้น
แล้วอาบดี ประเทืองผิวดี โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้าขาว
เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ รับใช้ข้าพระองค์อยู่.

[๓๕๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนี้แล้ว
จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

คนผู้รู้ดี ไม่ควรไว้วางใจใครเพราะผิวพรรณและรูปร่าง
ไม่ควรไว้วางใจใครเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว

เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปในโลกนี้
ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว

นักบวชเหล่านั้นผู้ไม่บริสุทธิ์ภายใน งามแต่ภายนอก
แวดล้อมด้วยบริวารท่องเที่ยวอยู่ในโลก
เหมือนตุ้มหูดินและเหรียญโลหะหุ้มด้วยทองคำทำปลอมไว้

ชฏิลสูตร จบ

 

(ชฏิลสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๔)




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP