จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ของเด็กเล่น


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

108 destination

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ญาติธรรมท่านนี้ได้ไปสนทนากับเพื่อนของเขา
ซึ่งเพื่อนของเขาเห็นว่าการปฏิบัติธรรมไม่ได้มีเพียงข้อดีเท่านั้น แต่ก็มีข้อเสียด้วย
โดยข้อเสียที่เขายกตัวอย่างก็คือ เวลาที่เราทานอาหารนั้น หากอาหารอร่อย เราก็มีความสุข
แต่หากเราศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว เมื่อทานอาหารไม่อร่อย เราก็เฉย ๆ
และเมื่อเราทานอาหารอร่อย เราก็เฉย ๆ เหมือนกัน กลายเป็นว่าความสุขหายไป
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว เพื่อนของเขาจึงไม่ได้ขวนขวายที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่าไร


ผมก็ถามญาติธรรมท่านนี้ว่า “สมัยเด็ก ๆ เคยเล่นหุ่นยนต์บ้างไหม”
เขาตอบว่า “เคยเล่น”
ผมถามต่อว่า “เดี๋ยวนี้ยังเล่นอยู่หรือเปล่า”
เขาตอบว่า “เลิกเล่นแล้ว”
ผมถามต่อไปว่า “ทำไมถึงไม่เล่นต่อล่ะ”
เขาตอบว่า “เพราะไม่สนุกแล้ว”
ผมถามว่า “ที่คุณรู้สึกไม่สนุกกับการเล่นหุ่นยนต์นี้ คุณเห็นว่าคุณดีขึ้น หรือแย่ลง
และหากให้เลือกได้แล้ว ถามว่าคุณต้องการจะสนุกสนานกับการเล่นหุ่นยนต์ในขณะนี้ไหม”
เขาตอบว่า “ที่รู้สึกไม่สนุกกับการเล่นหุ่นยนต์นี้ ผมเห็นว่าตัวเองดีขึ้น โดยเป็นผู้ใหญ่แล้ว
และหากเลือกได้ ผมก็ไม่ได้ต้องการจะสนุกสนานกับการเล่นหุ่นยนต์ในขณะนี้”

ผมจึงอธิบายว่า เรื่องความสุขในเวลาที่เราทานอาหารอร่อยก็ทำนองเดียวกันกับเรื่องหุ่นยนต์
หรือทำนองเดียวกับเรื่องบรรดาของเด็กเล่นทั้งหลายนะครับ

ในอดีตสมัยที่เราเป็นเด็กนั้น เราก็ชอบเล่นของเด็กเล่นทั้งหลาย (มีหุ่นยนต์หรือตุ๊กตา เป็นต้น)
เราสนุกสนานและให้ความสำคัญกับของเด็กเล่นเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อเวลาผ่านไป และเราพัฒนาขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีปัญญามากขึ้น
เราก็พบว่าของเด็กเล่นเหล่านั้นไม่น่าสนุกอีกแล้ว เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันอีกแล้ว
หรือเราเห็นว่าการเล่นของเด็กเล่นเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับเราแล้ว
โดยเราไม่ได้ต้องการที่จะเล่นของเด็กเล่นเหล่านั้นอีก
และที่เราเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ได้ถือว่าเราแย่ลง แต่ถือว่าเราพัฒนาขึ้น
เพราะเราสนใจในสิ่งที่มีสาระมากกว่านั้น


ทำนองเดียวกันที่ว่าในปัจจุบันนี้เรายังเพลิดเพลินพอใจต่อรสชาติความอร่อยของอาหาร
แต่เมื่อเราศึกษาและปฏิบัติธรรมไปเรื่อย ๆ แล้ว จนถึงจุดหนึ่ง เราย่อมจะเห็นได้ว่า
ความสุขจากรสชาติความอร่อยนั้นอยู่เพียงชั่วคราว

ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตนที่เราจะไปยึดถือเอาไว้ได้
ไม่ใช่สิ่งอันเป็นสาระที่เราควรจะมุ่งยึดถือเอาไว้
ซึ่งการที่เราเห็นเช่นนั้นก็ไม่ได้ถือว่าเราแย่ลง แต่ถือว่าเราพัฒนาขึ้นไปอีก
กรณีไม่ได้หมายความว่าเรามีความสุขลดลง หรือเราต้องสละความสุขอะไร
แต่เป็นเพราะว่าเราพัฒนาขึ้น เรามีปัญญามากขึ้น
และเราไม่ถูกความสุขจากรสชาติความอร่อยนั้นมาครอบงำ

ถ้าเราจะบอกว่าเราควรจะยึดถือความสุขจากรสชาติความอร่อยไปตลอด
โดยไม่ควรจะปล่อยวางความสุขนี้ เพราะจะถือว่าความสุขลดลงแล้ว
เช่นนั้นเราก็ยังควรจะเล่นของเด็กเล่นอยู่ ไม่ควรจะเลิกเล่น เพราะถือว่าความสุขลดลงเช่นกัน
แต่เราเองคงไม่มองเช่นนั้น เพราะเราพัฒนาตนเองจนเห็นได้แล้ว ว่าของเด็กเล่นนั้นไร้สาระ
และหากเราศึกษาและพัฒนาตนเองต่อไปอีกเรื่อย ๆ
ถึงวันหนึ่ง เราก็จะเห็นว่าความสุขจากรสชาติความอร่อยนั้น ไร้สาระเช่นกัน
มันไร้สาระเพราะว่ามันไม่เที่ยง มันทนอยู่ไม่ได้ และมันไม่ใช่ตัวตนที่เราจะยึดถือได้

เมื่อไรก็ตามที่ใจเราไม่ยึดติดในความสุขจากการเล่นของเด็กเล่น
ก็เท่ากับว่าใจเราเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสในความสุขจากการเล่นของเด็กเล่นนั้น
ทำนองเดียวกัน เมื่อไรก็ตามที่ใจเราไม่ยึดติดในความสุขจากความอร่อยของรสชาติอาหาร
ก็เท่ากับว่าใจเราเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสในความสุขจากความอร่อยของรสชาติอาหารนั้น

ซึ่งใจที่เป็นอิสระนั้นก็ย่อมจะมีความสุขมากกว่าใจที่ตกเป็นทาสของสิ่งอื่น ๆ นะครับ

นอกจากนี้ ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้แปลว่าให้เราเฉย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป
โดยหากเราทานอาหารอร่อย ก็ทำใจเฉย ๆ ทานอาหารไม่อร่อย ก็ทำใจเฉย ๆ
ในลักษณะนั้นเป็นการทำสมถกรรมฐาน กล่าวคือเรายึดความเฉย ๆ นั้นเป็นอารมณ์ ทำใจให้เฉย
แต่ในการทำวิปัสสนากรรมฐานนั้น เมื่อทานอาหารที่อร่อย แล้วใจมีความพอใจเกิดขึ้น
เรารู้ทันใจที่มีความพอใจ และเห็นว่าความพอใจนั้นไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตน
เมื่อทานอาหารไม่อร่อย แล้วใจมีความไม่พอใจเกิดขึ้น
เรารู้ทันใจที่มีความไม่พอใจ และเห็นว่าความไม่พอใจนั้นไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตน
เราไม่ได้ทำใจให้เฉย แต่เราพาใจเราให้เรียนรู้สภาวธรรมทั้งหลายเพื่อให้เกิดปัญญา
เมื่อใจเรามีปัญญาเห็นและยอมรับความจริงของสภาวธรรมต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้งแล้ว
ใจเราก็ไม่ยึดถือความพอใจหรือความไม่พอใจในรสชาติอาหารนั้น เพราะเห็นว่ามันไร้สาระ

ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านนั้นมาถึงแค่ตรงนี้
แต่ในที่นี้ ผมจะขอคุยต่อนะครับ โดยบางท่านอาจจะมีคำถามว่า
ในเมื่อไม่มีความสุขจากรสชาติความอร่อยแล้ว
เช่นนี้จะแปลว่าความสุขของเราลดลงหรือเปล่า?
ผมก็จะถามกลับว่าเวลาที่เราเลิกเล่นของเด็กเล่นแล้ว ความสุขเราลดลงไหม?
ถ้าผมเอาของเด็กเล่นมาให้ท่านเล่นในตอนนี้ แล้วท่านจะมีความสุขมากขึ้นไหม?
ถ้าคำตอบของท่านในคำถามสำหรับของเด็กเล่น คือคำว่า “ไม่” แล้ว

คำตอบในเรื่องความสุขจากรสชาติความอร่อย ก็คือคำว่า “ไม่” เช่นกันครับ
โดยเมื่อเราพัฒนาตนเองแล้ว เราก็ลดละเลิกความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เด็ก ๆ จิ๊บ ๆ จ๊อย ๆ ไป

และเราก็มุ่งหาความสุขอันประณีตยิ่งกว่าเดิม เช่น ความสุขจากทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น

ในที่นี้ ผมจะขอเล่าเรื่องจาก “รัฐปาลสูตร” นะครับ
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
โดยเรื่องมีอยู่ว่าพระรัฐปาละเป็นกุลบุตรในตระกูลมหาเศรษฐีตระกูลหนึ่ง

ซึ่งท่านได้ออกบวชและบรรลุธรรมเป็นอรหันต์
ต่อมาพระรัฐปาละได้ผ่านไปบิณฑบาตในเมืองที่ตระกูลตนเองอาศัยอยู่
บิดาและมารดาของพระรัฐปาละต้องการให้พระรัฐปาละสึกออกมาดูแลทรัพย์สินของตระกูล
จึงได้นิมนต์พระรัฐปาละไปฉันอาหารที่บ้าน

เมื่อพระรัฐปาละรับนิมนต์แล้ว บิดาได้กลับไปยังที่บ้าน
แล้วให้บริวารทำการขนเงินและทองมากองเป็นกองใหญ่ แบ่งเป็น ๒ กอง
คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองสูงใหญ่ถึงขนาดที่บุรุษผู้ยืนอยู่ข้างนี้ไม่เห็นบุรุษผู้ยืนข้างโน้น
แล้วให้ปิดกองเงินกองทองนั้นด้วยเสื่อลำแพน จากนั้น ให้ปูลาดอาสนะไว้ท่ามกลาง
แล้วแวดวงด้วยม่าน แล้วเรียกหญิงทั้งหลายที่เป็นภรรยาเก่าของท่านพระรัฐปาละมาสั่งว่า
ให้เตรียมตัวประดับด้วยเครื่องประดับใดก็ตามที่ประดับแล้วเป็นที่รักที่ชอบใจของรัฐปาลกุลบุตรในอดีต

ครั้นล่วงราตรีนั้นไปแล้ว บิดาของพระรัฐปาละได้สั่งให้เตรียมภัตตาหารอันประณีต
แล้วให้บริวารไปเรียนเวลาแก่พระรัฐปาละว่าถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว
พระรัฐปาละได้ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังบ้านของบิดาท่าน แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้
บิดาของพระรัฐปาละจึงสั่งให้เปิดกองเงินและกองทองนั้น แล้วได้กล่าวกับพระรัฐปาละว่า
“พ่อรัฐปาละ ทรัพย์กองนี้เป็นส่วนของมารดา กองอื่นเป็นส่วนของบิดา ส่วนของปู่อีกกองหนึ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นของพ่อรัฐปาละผู้เดียว พ่อรัฐปาละจะใช้สอยสมบัติ และทำบุญก็ได้
พ่อรัฐปาละจงลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ มาใช้สอยสมบัติ และทำบุญไปเถิด”

พระรัฐปาละตอบบิดาว่า “ดูกรคฤหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้
ท่านพึงให้เขาขนกองเงินกองทองนี้บรรทุกเกวียน แล้วให้เข็นไปจมเสียที่กลางกระแสแม่น้ำคงคา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความโศก ความร่ำไร ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ
จักเกิดขึ้นแก่ท่าน”
ในขณะนั้นเอง ภรรยาเก่าของพระรัฐปาละต่างเข้ามาจับที่เท้าแล้วถามว่า
“พ่อรัฐปาละ นางฟ้าทั้งหลายเป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเช่นไร?
พระรัฐปาละตอบว่า “ดูกรน้องหญิง เราจะประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางฟ้าทั้งหลายนั้น หามิได้”

บรรดาภรรยาเก่าเหล่านั้นเสียใจว่า พระรัฐปาละเรียกตนเองด้วยวาทะว่า “น้องหญิง”
ดังนี้พวกเธอจึงสลบล้มอยู่ ณ ที่นั้น
พระรัฐปาละจึงได้กล่าวกับบิดาว่า “ดูกรคฤหบดี ถ้าจะพึงให้โภชนะ ก็จงให้เถิด
อย่าให้อาตมภาพลำบากเลย”
บิดาของพระรัฐปาละจึงได้นำภัตตาหารอันประณีตมาถวาย

เมื่อพระรัฐปาละฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านจึงได้แสดงธรรม โดยกล่าวคาถานี้ว่า
“จงมาดูอัตภาพอันวิจิตร มีกายเป็นแผล อันคุมกันอยู่แล้ว กระสับกระส่าย
เป็นที่ดำริของชนเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง
จงมาดูรูปอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล มีกระดูกอันหนังหุ้มห่อไว้
งามพร้อมด้วยผ้า (ของหญิง) เท้าที่ย้อมด้วยสีแดงสด หน้าที่ไล้ทาด้วยจุรณ
พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้
ผมที่แต่งงาม ตาที่เยิ้มด้วยยาหยอด พอจะหลอกคนให้หลงได้
แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้
กายเน่าอันประดับด้วยเครื่องอลังการ ประดุจทะนานยาหยอดอันใหม่วิจิตร
พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้
ท่านเป็นดังพรานเนื้อวางบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง
เมื่อพรานเนื้อกำลังคร่ำครวญอยู่ เรากินแต่อาหารแล้วก็ไป”
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=6825&Z=7248

เราจึงจะเห็นได้นะครับว่าของบางอย่างที่ว่าดีเลิศหรือวิจิตรในทางโลกนั้น
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำมาหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานได้
ฉะนั้นแล้ว หากเราเปรียบความสุขในทางโลก ๆ เสมือนเป็นความสุขจากของเด็กเล่นแล้ว
เรา ๆ แต่ละท่านก็มีทางเลือกนะครับว่า

เราจะเลือกทางที่จะเพลิดเพลินพอใจจมอยู่กับความสุขจากของเด็กเล่นต่อไปเรื่อย ๆ
หรือจะพัฒนาตนเองเพื่อให้เจริญขึ้นไป เพื่อเป็นอิสระจากความสุขจากของเด็กเล่นเหล่านี้
และไม่ให้ความสุขจากของเด็กเล่นเหล่านี้หลอกเราได้




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP