จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คนสอนและคำสอน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

107 destination

เวลามีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระภิกษุรูปใดหรือวัดใดก็ตาม
บางทีก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและกำลังใจญาติโยมบางท่านได้
โดยญาติโยมบางท่านก็อ้างว่าข่าวไม่ดีเหล่านี้แหละ
ทำให้ตนเองไม่เข้าวัดและไม่ทำบุญกับพระภิกษุ
แต่ในขณะที่ไม่เข้าวัด และไม่ทำบุญกับพระภิกษุนั้น ตนเองก็ไม่ค่อยได้ทำบุญกุศลอื่น ๆ ด้วย


เคยมีญาติธรรมท่านหนึ่งคุยให้ผมฟังว่า เขาได้เห็นข่าวไม่ดีของพระภิกษุบางรูปแล้ว
เขาก็เลยเลิกเข้าวัดเลย และเลิกทำบุญกับพระภิกษุด้วย
ผมได้ฟังดังนั้นแล้ว ผมก็ถามว่า “พี่เคยเห็นข้าวบูดไหมครับ”
เขาตอบว่า “เคยเห็นสิ”
ผมถามต่อไปว่า “พี่เห็นข้าวบูดแล้ว พี่เลิกทานข้าวตลอดชีวิตเลยหรือเปล่า”
เขาตอบว่า “เปล่า”
ผมถามต่อไปว่า “ทำไมพี่ไม่เลิกทานข้าวตลอดชีวิตไปเลยล่ะ”
เขาฟังแล้วทำเสียง “อืมม์” แล้วก็คิด โดยไม่ได้ตอบอะไรเพิ่มเติมนะครับ
ผมจึงอธิบายต่อไปว่า “หากพี่บอกว่าพี่เลิกเข้าวัด และเลิกทำบุญกับพระสงฆ์
เพราะอ้างว่าเห็นข่าวไม่ดีของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว
ก็เสมือนกับว่าพี่เลิกทานข้าวทั้งหมดเลย เพียงเพราะว่าเคยเห็นข้าวบูดจำนวนหนึ่ง
การทำเช่นนั้นเท่ากับว่าเสียประโยชน์ตนเอง
เราเห็นข้าวบูดเพียงนิดเดียว ไม่ได้แปลว่าข้าวทั้งหมดในโลกนี้จะต้องบูดด้วย
ในเมื่อข้าวอื่น ๆ ยังมีข้าวดี และทานแล้วมีประโยชน์แก่เรา เราจึงไม่ควรเลิกทานข้าว
ฉันใดก็ฉันนั้น กรณีที่เราได้ทราบว่าพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดประพฤติไม่ดี
ย่อมไม่ได้แปลว่าพระภิกษุทั้งหมดประพฤติไม่ดี หรือวัดทุกแห่งไม่ดี
ดังนั้น พี่จึงยังสมควรเข้าวัด และทำบุญกับพระภิกษุอื่น ๆ อยู่นะครับ เพื่อประโยชน์แก่พี่เอง”


เมื่อเราศึกษาพระธรรมคำสอนในศาสนาพุทธ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
พึงทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ฆราวาสประพฤติทาน ศีล และภาวนา
ซึ่งในเรื่องทาน ศีล และภาวนานี้ เราไม่ได้จำเป็นต้องไปปฏิบัติที่วัดเท่านั้น
หากเราจะไม่ไปเข้าวัดก็ตาม เราก็ยังประพฤติทาน ศีล และภาวนาอย่างเข้มแข็งได้
ซึ่งนั่นก็ถือว่าเรายังได้ประโยชน์ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่
แต่หากเราบอกว่าไม่เข้าวัด แล้วก็ทิ้งทาน ศีล และภาวนาไปด้วย
ก็เท่ากับว่าเราโดนกิเลสลากไปในทางบาปอกุศลแล้ว และย่อมเสียประโยชน์แก่ตนเอง


ในทำนองเดียวกัน บางคนพอได้ทราบข่าวไม่ดีของพระภิกษุบางรูปแล้ว
ก็ทำให้เกิดอาการท้อถอยในการปฏิบัติธรรมของตน หรือเลิกปฏิบัติไปเลย
เช่นนี้ก็เท่ากับว่าโดนกิเลสลากไป และย่อมเสียประโยชน์แก่ตนเองเช่นกันครับ


สิ่งที่เรายึดถือเป็นสรณะ คือพระรัตนตรัย ซึ่งได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เวลาที่เราได้รับทราบว่าพระภิกษุบางรูปประพฤติไม่ดีก็ตาม
กรณีย่อมไม่ได้กระทบต่อพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ที่เรายึดถือเป็นสรณะเลย
แม้จะมีพระภิกษุบางรูปที่ประพฤติไม่ดีก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่าพระรัตนตรัยไม่ดี
เพราะพระภิกษุบางรูปที่ประพฤติไม่ชอบนั้น ไม่ได้ถือเป็นพระสงฆ์ในรัตนตรัยครับ
โดยพระสงฆ์ในรัตนตรัยนั้นไม่ได้หมายถึงพระภิกษุที่เป็นสมมุติสงฆ์
แต่หมายถึงพระอริยสงฆ์ กล่าวคือบุรุษ ๔ คู่ แบ่งเป็น ๘ จำพวก
ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล
อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล

ในส่วนของความหมายของพระสงฆ์ที่เราพึงยึดถือเป็นสรณะนี้
เราจะพิจารณาจากบท “สังฆาภิถุติ” ในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าก็ได้
หรือพิจารณาจากบท “สังฆานุสสติ” ในบทสวดมนต์ทำวัตรเย็นก็ได้
หรือจะพิจารณาพระสูตรชื่อ “วัตถูปมสูตร” ก็ได้ โดยในวัตถูปมสูตรได้อธิบายว่า
การเป็นผู้เลื่อมใสแน่วแน่ในพระสงฆ์นั้นคือเลื่อมใสว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ บุคคล ๔ คู่ ๘ จำพวก
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ควรรับเครื่องสักการะ เป็นผู้ควรของต้อนรับ
เป็นผู้ควรทักขิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=1136&w=%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3

กรณีเราอาจจะเคยได้ยินบางท่านบอกว่า พระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอริยเจ้า
พระภิกษุรูปนี้เป็นพระอริยเจ้า ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรครับว่าเป็นเช่นนั้นจริง
?
ใน “ทารุกัมมิกสูตร” นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนอุบาสกชื่อทารุกัมมิกะว่า
“ดูกรคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร
บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่
พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตมรรค”
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%B7%D2%C3%D8%A1%D1%C1%C1%D4%A1%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

ใน “ชฎิลสูตร” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลในทำนองเดียวกันว่า
“ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ครอบครองเรือน
บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุรณจันทน์ อันมาแต่แคว้นกาสี
ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทอง ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า
คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือคนพวกนี้บรรลุอรหัตมรรค”
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%AA%AF%D4%C5%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33&original=1

จริง ๆ แล้ว อย่าว่าแต่จะรู้ว่าเป็นพระอรหันต์เลย เพียงแค่จะรู้ว่ามีศีลหรือไม่ ก็ยากแล้วครับ
ใน “ชฎิลสูตร” นั้น (ตามลิงค์ข้างต้น) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
“ดูกร มหาบพิตร ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญา จึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้”

หากพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะเห็นได้ว่า
ท่านทรงสอนว่า ฆราวาสนั้นย่อมจะรู้ได้ยากว่าใครเป็นพระอรหันต์
ท่านไม่ได้ทรงสอนเลยว่าให้ฆราวาสพิจารณาว่าใครเป็นพระอรหันต์ตามข่าวลือ
ในทางกลับกัน ในเกสปุตตสูตร (หรือกาลามสูตร) นั้น
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า อย่าได้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑. อย่าได้เชื่อโดยได้ฟังตามกันมา ๒. อย่าได้เชื่อโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
๓. อย่าได้เชื่อโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ ๔. อย่าได้เชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าได้เชื่อโดยเหตุนึกเดาเอา ๖. อย่าได้เชื่อโดยนัยคือคาดคะเน
๗. อย่าได้เชื่อโดยความตรึกตามอาการ ๘. อย่าได้เชื่อโดยชอบใจว่าต้องกันลัทธิของตน
๙. อย่าได้เชื่อโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
๑๐. อย่าได้เชื่อโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%E0%A1%CA%BB%D8%B5%B5&book=9&bookZ=33&original=1

 http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=830:2012-08-08-02-49-44&catid=66:-desitinationdhamma&Itemid=59

เช่นนี้แล้ว หากเรายึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างมั่นคง
และไม่ไปเที่ยวยึดถือหรือเชื่อว่าพระภิกษุรูปใดเป็นพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์ตามข่าวลือแล้ว
กรณีที่เกิดข่าวในทางไม่ดีต่อพระภิกษุรูปใด ๆ ก็ตาม
ย่อมไม่กระทบต่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมของเราครับ

นอกจากปัญหาเรื่องการเลิกเข้าวัด และการท้อถอยในการปฏิบัติธรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว
บางท่านอาจจะมีปัญหาสับสนในเรื่องคำสอน เมื่อได้ทราบข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระภิกษุบางรูป
โดยรู้สึกสับสนว่าแล้วตนเองต้องปรับเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเรื่องคำสอนอย่างไรบ้างไหม
ในเรื่องคำสอนนี้ เราพึงทำความเข้าใจก่อนว่าเราศึกษาและปฏิบัติในศาสนาพุทธ
ซึ่งศาสนาพุทธนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา กล่าวคือเราศึกษาพระธรรมคำสอนของท่าน
พระภิกษุทั้งหลายในศาสนาพุทธถือว่าเป็นสาวกมุ่งเดินตามพระศาสดา
ดังนั้นแล้ว ในการพิจารณาคำสอนใด ๆ ของพระภิกษุรูปใดก็ตาม
เราก็พึงนำมาเทียบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งหากเทียบกันแล้ว สอดคล้องกัน ลงรอยเข้ากันได้ ก็ถือว่าใช้ได้ ปฏิบัติตามได้
แต่หากเทียบกันแล้ว ขัดแย้งกัน ก็ควรถือว่าคำสอนนั้นใช้ไม่ได้ และไม่ควรปฏิบัติตาม

ข้อบกพร่องบางประการที่ผมเคยเห็นจากญาติธรรมบางท่านก็คือ
ไม่ได้นำคำสอนของพระภิกษุไปเทียบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย
แต่อาศัยว่ามุ่งศึกษาไปเรื่อย ๆ และยึดถือตามไปเรื่อย ๆ
แล้วพอเกิดข่าวไม่ดีขึ้นมา ก็รีบทิ้งคำสอนนั้นไปเลย โดยไม่ได้พิจารณาอะไร และไม่เข้าใจจริง
หรือไม่ก็ไม่ยอมทิ้งคำสอน เพราะอาศัยเชื่อว่าข่าวไม่ดีนั้นเป็นเรื่องไม่จริง
สรุปแล้วก็คือศึกษาไปตามความเชื่อของตน โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเทียบใด ๆ เลย

ในอันที่จริงแล้ว เราศึกษาคำสอนในศาสนาพุทธ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ดังนั้นแล้ว เวลาที่เราศึกษาคำสอนของพระภิกษุรูปใด ๆ ก็ตาม
เราพึงนำคำสอนนั้นไปพิจารณาเทียบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ๆ
โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้มีข่าวไม่ดีใด ๆ เสียก่อน จึงจะนำไปพิจารณาเทียบ
เพราะแม้ว่าพระภิกษุรูปใดจะไม่มีข่าวไม่ดีก็ตาม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคำสอนของพระภิกษุรูปนั้น
จะต้องตรงตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอไปนะครับ
เวลาที่เราจะพิจารณาว่าคำสอนของพระภิกษุรูปใดตรงตามพระธรรมคำสอนหรือไม่
เราพึงนำคำสอนของพระภิกษุนั้นมาเทียบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือดูเนื้อหา
กรณีไม่ใช่ว่าเราอาศัยข่าวไม่ดีตามสื่อต่าง ๆ เป็นตัวชี้วัดเนื้อหาคำสอนของพระภิกษุ
เช่น หากมีข่าวไม่ดี แสดงว่าคำสอนไม่ตรง หรือหากไม่มีข่าวไม่ดี แสดงว่าคำสอนตรง
ไม่เช่นนั้นนะครับ หากถือเช่นนั้นแล้วจะทำให้เราผิดพลาดได้ และเสียประโยชน์แก่ตนเอง

ทีนี้ ในการนำเนื้อหาคำสอนของพระภิกษุมาเทียบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
อาจจะเป็นการยากสำหรับญาติธรรมหลาย ๆ ท่าน
เนื่องจากเนื้อหาพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกมีอยู่มากมายเหลือเกิน
จนเราไม่รู้ว่าจะต้องนำไปเทียบกับพระสูตรไหน และบางทีอ่านพระสูตรแล้วก็ยังไม่เข้าใจ
ผมจึงขอแนะนำวิธีการที่ไม่ยากเกินไปนะครับ คือพิจารณาตามลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย
โดยให้พิจารณาตาม “สังขิตตสูตร” ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสอนว่า
หากธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
พึงจำไว้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระตถาคต

แต่หากธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก
พึงจำไว้ว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระตถาคต
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5908&Z=5933

ลักษณะตัดสินธรรมวินัยยังมีอีกกรณีหนึ่งคือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอุบาลีว่า
หากธรรมเหล่าใด ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ
เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานแล้ว
ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระตถาคต
หากธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานแล้ว
ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระตถาคต
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
http://84000.org/tipitaka/read/?23/80/146

นอกจากจะพิจารณาลักษณะตัดสินธรรมวินัยข้างต้นแล้ว
เราเองก็พึงตรวจสอบผลการปฏิบัติในตนเองเป็นระยะ ๆ นะครับ
โดยอาจพิจารณาหลัก ๓ ประการจากโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้ คือ
๑. ละเว้นบาปอกุศลได้มากขึ้นหรือเปล่า เราถือศีลได้แข็งแรงขึ้นหรือไม่
รวมถึงละเว้นบาปอกุศลจากการที่จิตใจโดนกิเลสตัณหาครอบงำ
๒. ทำกุศลต่าง ๆ ได้ถึงพร้อมหรือยัง ได้มากขึ้นหรือเปล่า
รวมถึงกุศลทั้งหลายโดยการมีสติ มีสมาธิ และการภาวนาด้วย
๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสมากขึ้นหรือไม่ จิตใจเกิดปัญญาเห็นธรรมมากขึ้นหรือไม่
ถ้าศึกษาและปฏิบัติไปแล้ว บาปอกุศลไม่ได้ลดลง กุศลต่าง ๆ ไม่เพิ่มขึ้น
จิตใจไม่ได้บริสุทธิ์ผ่องใส แต่กลับเคร่งเครียดขุ่นมัว นั่นก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีครับ
หรือไม่เราก็อาจตรวจสอบโดยพิจารณาพละ ๕ ก็ได้
คือพิจารณาศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาว่าได้พัฒนามากขึ้นหรือไม่
หากศรัทธาในพระรัตนตรัยลดลง ขี้เกียจมากขึ้น สติไม่ค่อยมี ฟุ้งซ่านมากขึ้น
ไม่ค่อยมีสมาธิ และปัญญาไม่ได้เจริญขึ้น นั่นก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีครับ

สรุปนะครับ ในเรื่องคนสอนนั้น เราไม่ควรไปเชื่อง่าย ๆ หรือไปเที่ยวยึดถือง่าย ๆ ว่า
คนโน้นคนนี้เป็นพระอริยเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เราทำเช่นนั้น
ส่วนในเรื่องคำสอนนั้น เราพึงเทียบคำสอนที่เราศึกษากับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
และตรวจสอบถึงผลการศึกษาและปฏิบัติของตนเองเป็นระยะ ๆ ครับ

หมายเหตุ ขอเรียนเพื่อความชัดเจนนะครับว่าเนื้อหาในบทความนี้
ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะถึงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
หรือคำสอนของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนะครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP