สารส่องใจ Enlightenment

กุญแจภาวนา (ตอนที่ ๒)


 

พระธรรมเทศนา โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


กุญแจภาวนา (ตอนที ๑)  http://bit.ly/11Gu1H2

 

การปฏิบัติต้องอาศัยความอดทน และละทิ้งความคิดทั้งหมด

อุปกรณ์เครื่องปฏิบัติ ก็เป็นของลำบากอยู่ ต้องอาศัยความอดทน ความอดกลั้น ต้องทำเอง ให้มันเกิดมาเอง เป็นเอง

นักปริยัติชอบสงสัย เช่น เวลานั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบปั๊บ เอ มันเป็นปฐมฌานละกระมัง ชอบคิดอย่างนี้ พอนึกอย่างนี้ จิตมันถอนเลย ถอนหมดเลย เดี๋ยวก็นึกว่าเป็นทุติยฌานแล้วกระมัง อย่าเอามาคิด พวกนี้มันไม่มีป้ายบอก มันคนละอย่าง ไม่มีป้ายบอกว่า "นี่ทางเข้าวัดหนองป่าพง" มิได้อ่านอย่างนั้น มันไม่บอก มีแต่พวกเกจิอาจารย์มาเขียนไว้ว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มาเขียนไว้ทางนอก ถ้าจิตเราเข้าไปสงบถึงนั้นแล้ว ไม่รู้จักหรอก รู้อยู่แต่ว่ามันไม่เหมือนปริยัติที่เราเรียน ถ้าผู้เรียนปริยัติแล้ว ชอบกำเข้าไปด้วย ชอบนั่งคอยสังเกตว่า เอ เป็นอย่างไร มันเป็นปฐมฌานแล้วหรือยัง นี่มันถอนออกหมดแล้ว ไม่ได้ความ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยาก พอตัณหาเกิด มันจะมีอะไร มันก็ถอนออกพร้อมกัน นี่แหละเราทั้งหลายต้องทิ้งความคิดความสงสัยออกให้หมด ให้เอาจิตกับกายวาจาล้วนๆ เข้าปฏิบัติ ดูอาการของจิต อย่าแบกคัมภีร์เข้าไปด้วย ไม่มีคัมภีร์ในนั้น ขืนแบกเข้าไปมันเสียหมด เพราะในคัมภีร์ไม่มีสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้ที่เรียนมากๆ รู้มากๆ จึงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะมาติดตรงนี้

ความจริงแล้ว เรื่องจิตใจอย่าไปวัดออกมาทางนอก มันจะสงบก็ให้มันสงบไป ความสงบถึงที่สุดมันมีอยู่ ปริยัติของอาตมามันน้อย เคยเล่าให้มหาอมรฟัง เมื่อคราวปฏิบัติในพรรษาที่ ๓ นั้น มีความสงสัยอยู่ว่าสมาธิเป็นอย่างไรหนอ คิดหาไป นั่งสมาธิไป จิตยิ่งฟุ้ง ยิ่งคิดมาก เวลาไม่นั่งค่อยยังชั่ว แหม มันยากจริงๆ ถึงยากก็ทำไม่หยุด ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วสบาย เมื่อตั้งใจว่าจะทำให้จิตเป็นหนึ่ง ยิ่งเอาใหญ่ มันอย่างไรกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ต่อมาจึงคิดได้ว่า มันคงเหมือนลมหายใจเรานี้กระมัง ถ้าว่าจะตั้งให้หายใจน้อย หายใจใหญ่ หรือให้มันพอดี ดูมันยากมาก แต่เวลาเดินอยู่ไม่รู้ว่าหายใจเข้าออกตอนไหน ในเวลานั้นดูมันสบายแท้ จึงรู้เรื่องว่า อ๋อ อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้เวลาเราเดินไปตามปกติ มิได้กำหนดลมหายใจ มีใครเคยเป็นทุกข์ถึงลมหายใจไหม? ไม่เคย มันสบายจริง ๆ ถ้าจะไปนั่งตั้งใจเอาให้มันสงบ มันก็เลยเป็นอุปาทานยึดใส่ ตั้งใส่ หายใจสั้น ๆ ยาว ๆ เลยไม่เป็นอันกำหนด จิตเกิดมีทุกข์ยิ่งกว่าเก่า เพราะอะไร เพราะความตั้งใจของเรากลายเป็นอุปาทานเข้าไปยึด เลยไม่รู้เรื่อง มันลำบากเพราะเราเอาความอยากเข้าไปด้วย

 

สภาวธรรม เกิดเอง เป็นเอง พอดี

วันหนึ่งขณะที่เดินจงกรมอยู่ เวลาประมาณห้าทุ่มกว่า รู้สึกแปลกๆ มันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดมาก มีอาการสบายๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้าน ไกลประมาณสิบเส้นจากที่พักซึ่งเป็นวัดป่า เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว เลยมานั่งที่กระท่อม มีฝาแถบตองบังอยู่ เวลานั่งรู้สึกว่าคู้ขาเข้าเกือบไม่ทัน เอ๊ะ จิตมันอยากสงบ มันเป็นเองของมัน พอนั่งจิตก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น เสียงเขาร้องรำอยู่ในบ้าน มิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ ไม่รู้สึกรำคาญภายในจิต เหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่ไม่ติดกัน ดูจิตกับอารมณ์ตั้งอยู่คนละส่วน เหมือนกระโถนกับกาน้ำนี่ ก็เลยเข้าใจว่า เรื่องจิตเป็นสมาธินี่ ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามันมีเสียงขึ้นก็ดูตัวผู้รู้ ขาดกันคนละส่วน

จึงพิจารณาว่า "ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ มันจะใช่ตรงไหนอีก" มันเป็นอย่างนี้ไม่ติดกันเลย ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ จึงเข้าใจว่า อ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่า สันตติ คือความสืบต่อ ถ้าขาดมันก็เป็นสันติ แต่ก่อนมันเป็นสันตติ ทีนี้กลายเป็นสันติออกมา จึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้น ไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มี ตอบไม่ได้ ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น

 

ประสบการณ์การรู้ธรรม ๓ วาระ

ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉยๆ นี่แหละ ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศีรษะถึงหมอน มีอาการน้อมในใจ ไม่รู้มันน้อมไปไหน แต่มันน้อมเข้าไป น้อมเข้าไป คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟเข้า ไปดันกับสวิตช์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้น ก็หลุดเข้าไปข้างในโน้น ไปอยู่ข้างใน จึงไม่มีอะไร แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่งก็ถอยออกมา คำว่าถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะให้มันถอยออกมาหรอก เราเป็นเพียงผู้ดูเฉยๆ เราเป็นเพียงผู้รู้เท่านั้น อาการเหล่านี้เป็นออกมาๆ ก็มาถึงปกติจิตธรรมดา เมื่อเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นว่า "นี่มันอะไร?" คำตอบเกิดขึ้นว่า "สิ่งเหล่านี้ของเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน" พูดเท่านี้จิตก็ยอม

เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่ง ก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อม มันน้อมเอง พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไปถูกสวิตช์ไฟดังกล่าว ครั้งที่สองนี้ ร่างกายแตกละเอียดหมด หลุดเข้าไปข้างในอีก เงียบ ยิ่งเก่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควร แล้วก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน ในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้ จงเข้าอย่างนั้น ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ ดูอยู่เฉยๆ มันก็ถอยออกมาถึงปกติ มิได้สงสัย

แล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพี แผ่นดิน แผ่นหญ้า ต้นไม้ ภูเขา โลกา เป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคน หมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร

เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไร ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้เลย นานที่สุดอยู่ในนั้น พอถึงกำหนดเวลาก็ถอนออกมา คำว่า ถอน เราก็มิได้ถอนหรอก มันถอนของมันเอง เราเป็นผู้ดูเท่านั้น ก็เลยออกมาเป็นปกติ สามขณะนี้ ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกอะไรเล่า

 

พลิกโลกพลิกแผ่นดิน

ที่เล่ามานี้เรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น อาตมามิได้กล่าวถึงจิต ถึงเจตสิก ไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น มีศรัทธาทำเข้าไปจริงๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้ แผ่นดินนี้มันพลิกไปหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็น อาจจะว่าเราเป็นบ้า จริงๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันก็เป็นเราผู้เดียวเท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดไปทางนี้ เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้น เราลงทางนี้ มันต่างกับมนุษย์ไปหมด มันก็เป็นของมันเรื่อย ๆ ไป

ท่านมหาลองไปทำดูเถิด ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปดูไกลอะไรหรอก ดูจิตของเราต่อๆ ไป มันอาจหาญที่สุด อาจหาญมาก นี่คือเรื่องกำลังของจิต เรื่องกำลังของจิตมันเป็นได้ถึงขนาดนี้

 

ทางแยกของวิปัสสนากับอิทธิปาฏิหาริย์

นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ขณะนี้ยังเป็นกำลังของสมาธิอยู่ ถ้าเป็นสมาธิขั้นนี้มันสุดของมันแล้ว มันไม่สะกด มันไม่เป็นขณะ มันสุดแล้ว ถ้าจะทำวิปัสสนาที่นี่ คล่องแล้วจะใช้ในทางอื่นก็ได้ ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจะใช้ฤทธิ์ ใช้เดช ใช้ปาฏิหาริย์ ใช้อะไรๆ อาจใช้ได้ทั้งนั้น นักพรตทั้งหลายเอาไปใช้ ใช้ทำน้ำมนต์น้ำพร ใช้ทำตะกรุด คาถา ได้หมดทั้งนั้น ถึงขั้นนี้แล้ว มันไปของมันได้ มันก็ดีไปอย่างนั้นแหละ ดีเหมือนกับเหล้าดี กินแล้วก็เมา ดีไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้

ตรงนี้เป็นที่แวะ พระศาสดาท่านแวะตรงนี้ นี่เป็นแท่นที่จะทำวิปัสสนาแล้วเอาไปพิจารณา ทีนี้สมาธิไม่ต้องเท่าไร ดูอาการภายนอกเลย ดูเหตุผลพิจารณาเรื่อยไป ถ้าเป็นอย่างนี้ เราเอาความสงบนี้มาพิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบอารมณ์ แม้จะดี จะชั่ว สุข ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับคนขึ้นต้นมะม่วงแล้วเขย่าลูกหล่นลงมา เราอยู่ใต้ต้นมะม่วง คอยเก็บเอา ลูกไหนเน่าเราไม่เอา เอาแต่ลูกที่ดีๆ ไม่เปลืองแรง เพราะไม่ได้ขึ้นต้นมะม่วง คอยเก็บอยู่ข้างล่างเท่านั้น

 

วิปัสสนาคือพิจารณาให้เกิดปัญญา

ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาแล้ว เอาความรู้มาให้เราหมด มิได้ไปปรุงแต่งมัน ลาภ ยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ มันมาเอง เรามีความสงบ มีปัญญา สนุกเฟ้น สนุกเลือกเอา ใครจะว่าดี ว่าชั่ว ว่าร้าย ว่าโน่น ว่านี่ สุข ทุกข์ ต่างๆ นานา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นกำไรของเราหมด เพราะมีคนขึ้นเขย่าให้มะม่วงหล่นลงมา เราก็สนุกเก็บเอา ไม่กลัว จะกลัวทำไม มีคนขึ้นเขย่าลงมาให้เรา ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เปรียบเหมือนมะม่วงหล่นลงมาหาเรา เราเอาความสงบมาพิจารณาเก็บเอา เรารู้จักแล้ว ลูกไหนดี ลูกไหนเน่า เมื่อเริ่มพิจารณาสิ่งเหล่านี้ อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้แหละเรียกว่าปัญญา เป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมันหรอก

วิปัสสนานี้ถ้ามีปัญญา มันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน ถ้ามันรู้แจ้งน้อยก็เรียกว่าวิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่งก็เรียกว่าวิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริง ก็เรียกว่าวิปัสสนาถึงที่สุด เรื่องวิปัสสนานี้ อาตมาเรียกปัญญา การไปทำวิปัสสนาจะทำเอาเดี๋ยวนั้นๆ เรียกว่าทำได้ยาก มันต้องเดินมาจากความสงบ เรื่องมันเป็นเองทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องเราจะไปบังคับ

 

หน้าที่ของเราคือทำความเพียร

พระศาสดาจึงตรัสว่า เรื่องของเป็นเอง เมื่อเราทำไปถึงขั้นนี้แล้ว เราก็ปล่อยตามบุญวาสนาบารมีของเรา แต่เราไม่หยุดทำความเพียร จะช้าหรือเร็ว เราบังคับไม่ได้ เหมือนปลูกต้นไม้ มันรู้จักของมัน มันอยากเร็วก็รู้ว่ามันหลง มันอยากช้าก็รู้ว่ามันหลง เมื่อทำแล้วมันจึงเกิดผลขึ้นมา เหมือนเราปลูกต้นไม้ เช่น ปลูกพริกต้นนี้ หน้าที่ของเราคือขุดหลุมปลูก ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ป้องกันแมลงให้มันเท่านั้น นี่เรื่องของเรา นี่เรื่องศรัทธาของเรา ส่วนต้นพริกจะโตก็เป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา จะไปดึงให้มันยืดขึ้นมาก็ไม่ได้ ผิดเรื่อง เราต้องให้น้ำ เอาปุ๋ยใส่ให้

ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ก็จะสบาย จะถึงชาตินี้ก็ช่าง ถึงชาติหน้าก็ตาม เรามีศรัทธาอย่างนี้แล้ว มีความรู้สึกแน่นอนแล้วอย่างนี้ จะเร็วหรือช้านั้น เป็นเรื่องของบุญวาสนาบารมีของเรา ทีนี้ก็รู้สึกสบาย เหมือนขับรถม้า ก็มิได้เอารถไปก่อนม้า แต่ก่อนมันเอารถไปก่อนม้า ถ้าไถนา ก็เดินก่อนควาย หมายความว่าใจมันเร็วมาก ร้อนมาก ทีนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เดินก่อน ต้องเดินตามหลังควาย

ข้าเอาน้ำให้กิน เอาปุ๋ยให้กิน กินไปเถอะ มดปลวกมาข้าจะไล่ให้เจ้า เท่านั้นแหละต้นพริกต้นนี้มันก็จะงามขึ้นเอง เมื่อมันงามแล้ว เราจะบังคับว่าแกต้องเป็นดอกเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าทำ เราจะเป็นทุกข์เปล่าๆ มันจะเป็นของมันเอง เมื่อมันเป็นดอกแล้ว เราจะให้เป็นเม็ดเดี๋ยวนี้ อย่าไปบังคับมัน ทุกข์จริงนะ ทุกข์จริงๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเรารู้จักหน้าที่ของเราของเขา หน้าที่ของใครของมัน จิตก็จะรู้หน้าที่การงาน ถ้าจิตไม่รู้หน้าที่การงาน ก็จะไปบังคับต้นพริกให้มีผลในวันนั้นเอง ให้มันโตเป็นดอกเป็นผลขึ้นในวันนั้น นั่นล้วนแต่เป็นตัวสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทั้งนั้น

ถ้ารู้อย่างนี้คิดอย่างนี้ รู้ว่ามันหลงมันผิด รู้อย่างนี้แล้ว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องบุญ วาสนา บารมี ต่อไป เราก็ทำของเราไป ไม่ต้องกลัวว่าจะนาน ร้อยชาติ พันชาติก็ช่าง มันจะชาติไหนก็ตาม ปฏิบัติสบายๆ นี่แหละ

 

รู้ความจริงแล้ว ทำผิดไม่ได้

จิตถ้าตกกระแสแล้วไม่กลับ ความชั่วนิดหน่อยนั้นพ้นแล้ว โสดา ท่านว่าจิตน้อมไปแล้ว ท่านจึงว่าพวกเหล่านี้จะมาสู่อบายอีกไม่ได้ มาตกนรกอีกไม่ได้ จะตกได้อย่างไร จิตละบาปแล้ว เห็นโทษในบาปแล้ว จะให้ทำความชั่วทางกายวาจาอีกนั้นทำไม่ได้ เมื่อทำบาปไม่ได้ ทำไมจึงจะไปสู่อบาย ทำไมจึงจะไปตกนรกได้ มันน้อมเข้าไปแล้ว เมื่อจิตน้อมเข้าไป มันก็รู้จักหน้าที่ รู้จักการงาน รู้จักปฏิปทา รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักกายของเรา รู้จักจิตของเรา รู้จักรูปเรา นามเรา สิ่งที่ต้องละวาง ก็ละไป วางไปเรื่อยๆ ไม่ต้องสงสัย

 

เห็นอสุภะในทุกคน

นี่เรื่องที่อาตมาได้ปฏิบัติมา ไม่ใช่ว่าจะไปทำให้มันละเอียดหลายสิ่งหลายประการ เอาให้ละเอียดอยู่ในใจนี้ ถ้าเห็นรูปนี้ ชอบรูปนี้เพราะอะไร ก็เอารูปนี้มาพิจารณาดูว่า เกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตโจคือหนัง พระพุทธเจ้าให้เอาพวกนี้มาพิจารณาย้ำเข้าไป แยกออก แจกออก เผามันออก ลอกมันออก ทำอยู่อย่างนี้ เอาอยู่อย่างนี้ จนมันไม่ไปไหน มองพวกเดียวกัน เช่น พระเณรเวลาเดินบิณฑบาต เห็นพระเห็นคน ต้องกำหนดให้เป็นร่างผีตายซาก ผีตายเดินไปก่อนเรา เดินไปข้างหน้า เดินไปเปะๆ ปะๆ กำหนดมันเข้า ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น เจริญอยู่อย่างนั้น เห็นผู้หญิงรุ่นๆ นึกชอบขึ้นมา ก็กำหนดให้เป็นผี เป็นเปรต เป็นของเน่าเหม็นไปหมดทุกคน ไม่ให้เข้าใกล้ ให้ในใจของเรา เป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรมันก็ไม่อยู่หรอก เพราะมันเป็นของเปื่อย ของเน่า ให้เราเห็นแน่นอน

พิจารณาให้มันแน่ ให้มันเป็นอยู่ในใจอย่างนี้แล้ว ไปทางไหนก็ไม่เสีย ให้ทำจริงๆ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองเห็นซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกัน เลยมีแต่ของอย่างนี้ทั้งนั้น พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก อาตมาว่ามันสนุกจริงๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้าไปมัวอ่านตำราอยู่ มันยาก ต้องทำเอาจริงๆ ทำให้มีกรรมฐานในตัวเรา

 

อย่ามักง่ายข้ามขั้นตอน

การเรียนอภิธรรมนั่นก็ดีอยู่ แต่จะต้องไม่ติดตำรา มุ่งเพื่อรู้ความจริง หาทางพ้นทุกข์จึงจะถูกทาง เช่น ในปัจจุบันมีการสอน การเรียนวิปัสสนาแบบต่างๆ หลายๆ อาจารย์ อาตมาว่าวิปัสสนานี่มันทำไม่ได้ง่ายๆ จะไปทำเอาเลยไม่ได้ ถ้าไม่ดำเนินไปจากศีล ลองดูก็ได้ เรื่องศีล เรื่องสิกขาบทบัญญัตินี่ ถ้ากายวาจาไม่เรียบร้อยแล้วไปไม่รอด เพราะเป็นการข้ามมรรค บางคนพูดว่า สมถะไม่ต้องไปทำ ข้ามไปวิปัสสนาเลย คนมักง่ายหรอกที่พูดเช่นนั้น เขาว่าศีลไม่ต้องเกี่ยว ก็การรักษาศีลนี้มันยากมิใช่เล่น ถ้าจะข้ามไปเลย มันก็สบายเท่านั้น อะไรที่ยาก แล้วข้ามไป ใครๆ ก็อยากข้าม

มีพระรูปหนึ่งบอกว่าเป็นนักปฏิบัติ เมื่อมาขออยู่กับอาตมา ถามถึงระเบียบปฏิบัติจึงอธิบายให้ฟังว่า เมื่อมาอยู่กับผมจะสะสมเงินทองและสิ่งของไม่ได้ ผมถือตามวินัย ท่านพูดว่าท่านปฏิบัติไม่ยึดไม่หมาย อาตมาบอกว่าผมไม่ทราบกับท่าน ท่านเลยถามว่า ถ้าผมจะใช้เงินทองแต่ไม่ยึดไม่หมายจะได้ไหม อาตมาตอบว่าได้ ถ้าท่านเอาเกลือมากินดูแล้วไม่เค็ม ก็ใช้ได้ ท่านจะพูดเอาเฉยๆ เพราะท่านขี้เกียจรักษาของจุกๆ จิกๆ นี่มันยาก เมื่อเอาเกลือมากินท่านไม่เค็มแล้วผมจึงเชื่อ ถ้ามันไม่เค็มจะเอามาให้กินสักกระทอ (เข่งเล็ก) ลองดู มันจะไม่เค็มจริงๆ หรือ เรื่องไม่ยึดไม่หมายนี้ ไม่ใช่เรื่องพูดเอาคาดคะเนเอา ไม่ใช่ ถ้าท่านพูดอย่างนี้อยู่กับผมไม่ได้ ท่านจึงลาไป

 

หมายเหตุ: ๑ โสดาบันบุคคล หมายถึง พระอริยเจ้าชั้นต้น


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จาก พระธรรมเทศนาสำหรับบรรพชิต เล่ม ๑ และ
กุญแจภาวนา โอวาทบางตอน และคำถามคำตอบ พระโพธิญาณเถร(ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ใน จิตตภาวนา มรดกล้ำค่าทางพระพุทธศาสนา
รวบรวมโดย มูลนิธิหลวงปู่มั่นและชมรมคุณภาพชีวิต พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓
และ
 http://www.lib.ubu.ac.th/monkubon/ebook/ebook15-ch25.PDF




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP