จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

จะเตือนเขาดีหรือเปล่า


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


053_destination


เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องของการตักเตือนคนอื่น
ยกตัวอย่างเรื่องราวทำนองว่า เมื่อเวลาอยู่ในศาลาวัดในระหว่างที่พระกำลังเทศนาธรรม
ปรากฏว่ามีญาติธรรมเปิดโทรศัพท์มือถือทำเสียงดัง หรือคุยโทรศัพท์มือถือ หรือคุยกับเพื่อนเสียงดัง
หรือกระทำโดยประการอื่น ๆ ทำให้เกิดเสียงดัง หรือสิ่งรบกวนใด ๆ ต่อผู้อื่น
(เช่น จัดของวุ่นวาย พาสัตว์เลี้ยงมาในศาลา หรือพาเด็กอายุน้อยมาก ๆ มาในศาลาทำเสียงดัง ฯลฯ)
หรือว่าเวลาที่ญาติธรรมกำลังจัดเตรียมอาหารสำหรับถวายพระในศาลาวัด
หรือเวลาที่กำลังถวายสังฆทาน หรือถวายภัตตาหารอื่น ๆ หรือกำลังสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิกันก็ตาม
ก็มีญาติธรรมคนหนึ่งพาสุนัขเลี้ยงเข้ามา และก็ทำให้สุนัขวัดเข้ามาวุ่นวายด้วยในศาลา เป็นต้น
ซึ่งเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดสิ่งรบกวนในศาลา และทำให้ญาติธรรมหลายคนในศาลาวัดนั้นรู้สึกไม่พอใจด้วย
ทีนี้ หากท่านผู้อ่านนั่งอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ก่อเหตุรบกวนแล้ว ท่านจะตักเตือนคนที่ก่อเหตุรบกวนนั้นไหม

ในกรณีที่เกิดขึ้นจริงนั้น ญาติธรรมท่านที่นั่งใกล้คนที่ก่อเหตุรบกวนนั้นเห็นว่า
คนที่ก่อเหตุรบกวนกำลังรบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ญาติธรรมอื่น ๆ ในศาลาวัด
โดยคนอื่น ๆ ในศาลาวัดก็มองมาอย่างไม่พอใจด้วย
แต่คนที่ก่อเหตุรบกวนนี้ก็ยังอยู่เฉย และทำเป็นทองไม่รู้ร้อน
คล้ายกับไม่มีสามัญสำนึกที่จะคิดถึงหรือเกรงใจคนอื่น ๆ หรือส่วนรวมเลยแม้แต่น้อย
ญาติธรรมท่านที่นั่งใกล้ ๆ นั้น จึงทนไม่ไหว และได้กล่าวตักเตือนคนที่ก่อเหตุรบกวนนั้น
ว่าให้หยุดกระทำการก่อเหตุรบกวนเสีย เพราะเป็นการรบกวนญาติธรรมคนอื่น ๆ และส่วนรวมในศาลา
โดยเมื่อได้ตักเตือนเขาไปแล้ว ปรากฏว่าคนที่ก่อเหตุนั้นกลับมามองแบบไม่พอใจ
แต่ก็ได้แก้ไขโดยงดการก่อเหตุรบกวนนั้นลงเสีย ญาติธรรมที่ตักเตือนนั้นก็มีข้อสงสัยว่า
การไปตักเตือนเขาดังกล่าวนั้นจะถูกต้องหรือไม่ และจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมกันแน่

ในกรณีมีปัญหาว่า “เราสมควรจะกล่าวตักเตือนใครสักคนหรือไม่” ดังที่ยกตัวอย่างมาแล้วนั้น
หากจะพิจารณาตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ที่เรามักจะนำมาอ้างอิงกันก็ได้แก่ พระสูตรที่มีชื่อว่า “อภัยราชกุมารสูตร”
โดยมีเรื่องเล่าว่า มีนิครนถ์ระดับอาจารย์นายหนึ่งชื่อว่า “นิครนถ์นาฏบุตร”
ซึ่งนายคนนี้เขาใช้เวลาถึง ๔ เดือนเพื่อคิดคำถาม ๒ เงื่อน เพื่อจะนำมาใช้ถามพระพุทธเจ้า
โดยคาดหวังว่าคำถามนั้นจะทำให้พระพุทธเจ้าไม่สามารถกล่าวพยากรณ์แก้ปัญหานั้นได้
เมื่อนิครนถ์นายนี้คิดคำถามได้แล้ว ก็มองหาคนที่เหมาะสมจะไปถามคำถามกับพระพุทธเจ้า
ซึ่งก็ได้เห็นชอบว่า “อภัยราชกุมาร” (ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร) เป็นผู้ที่เหมาะสม

นิครนถ์นาฏบุตรจึงเรียกอภัยราชกุมารมา และแนะนำให้ไปถามคำถามกับพระพุทธเจ้า
คำถามนั้นก็คือว่า “พระตถาคตได้ตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างไหม”
หากพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า “ราชกุมาร ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น”
ก็ให้ราชกุมารนั้นตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น การกระทำของพระองค์
จะแตกต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น”
แต่หากพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า “ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น”
ก็ให้ราชกุมารตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดพระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัต
ว่าเทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัลป์หนึ่ง เป็นผู้อันใคร ๆ เยียวยาไม่ได้
ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธเสียใจ”

จากนั้น นิครนถ์นาฏบุตรก็สรุป (เอาเอง) ว่า โดยคำถาม ๒ เงื่อนนี้
จะทำให้พระสมณโคดมไม่อาจกลืนเข้า และไม่อาจคายออกได้
เพราะจะตอบว่า “ใช่” ก็ไม่ได้ จะตอบว่า “ไม่ใช่” ก็ไม่ได้เช่นกัน
อภัยราชกุมารเข้าใจในคำถามและเห็นชอบด้วยแล้ว จึงไปสอบถามคำถามดังกล่าวกับพระพุทธเจ้า
เมื่ออภัยราชกุมารได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ถามคำถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้”
หลังจากได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าวิสัชนาดั่งนั้น อภัยราชกุมารก็ได้กล่าวขึ้นว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว”
(กล่าวคือพ่ายแพ้ต่อพระพุทธเจ้า โดยคำถามนี้เสียแล้ว)

ในขณะนั้นได้มีเด็กอ่อนนอนอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามอภัยราชกุมารว่า
“ดูก่อน ราชกุมาร หากกุมารน้อยนี้อาศัยความเผลอของพระองค์ หรือของหญิงพี่เลี้ยง
ได้นำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก พระองค์จะพึงทำต่อกุมารน้อยนั้นอย่างไร”
อภัยราชกุมารตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย
ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่ทีแรก หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะ
แล้วเอานิ้วมือขวาควักไม้หรือก้อนกรวดแม้พร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมารน้อย”

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน
โดยวาจาที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง เป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
วาจาที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง เป็นประโยชน์ และเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย

จากนั้น พระตถาคตได้กล่าวเทศนาต่อ ซึ่งเมื่อเทศนาจบแล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป
ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำหม่อมฉัน ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

กล่าวโดยสรุปนะครับ วาจาที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์นั้นจะต้องจริงแท้ และเป็นประโยชน์
โดยอาจจะเป็นที่รักที่ชอบใจ หรือไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นหรือไม่ก็ได้
แต่ในทุกกรณีแล้ว พระพุทธองค์จะทรงเลือกกาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น

สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมกันนะครับ
ก็มีจำนวนไม่น้อยเลยคิดแต่เพียงว่า “ก็ฉันพูดเรื่องจริงนี่นา ฉันไม่ได้โกหกนะ ก็ต้องพูดได้สิ”
โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า พูดไปแล้วจะก่อประโยชน์หรือไม่ และเป็นกาลที่เหมาะสมจะพูดหรือเปล่า
จนกระทั่งได้มีคำกล่าวทำนองว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดอาจจะตายได้” ทำนองนั้น

ทีนี้ เรากลับไปที่ปัญหาเมื่อตอนต้นบทความนะครับ
หากสามารถยึดถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้แล้ว ก็ย่อมถือว่าดีที่สุดครับ
แต่ก็ต้องระวังว่ากิเลสจะหลอกด้วย เพราะในขณะนั้น เราเองที่ประสบเหตุการณ์ก็อาจจะกำลังโกรธ
หรือกำลังโมโหอยู่ ก็ย่อมอยากจะพูดตักเตือนออกไปแน่ ๆ
กิเลสก็จะหลอกเราได้ครับว่า “นี่เรื่องจริงนะ เป็นประโยชน์นะ กาลเหมาะสมแล้วล่ะ พูดไปเลย”
ในคำว่า “กาลที่เหมาะสม” นั้น ผมใคร่ขอเสนอให้พิจารณาว่า
หากพูดตักเตือนไปในขณะที่ตนเองกำลังโกรธอยู่นั้น น่าจะไม่ถือว่าเป็นกาลที่เหมาะสมครับ
(และอาจจะไม่ถือว่าพูดไปแล้ว “เป็นประโยชน์” เสียด้วย น่าจะทำให้มีเรื่องกันมากกว่า)

ดังนั้นแล้ว เมื่อประสบเหตุการณ์ดังปัญหาที่ได้กล่าวมาตอนต้นแล้ว
สิ่งแรกที่แนะนำก็คือว่า “ต้องมีสติ” ครับ อย่าปล่อยให้ความโกรธเข้ามาครอบงำใจเรา
(พูดง่ายแต่ว่าทำยากเหมือนกันนะ เพราะเวลาเจอเข้าจริง ๆ แล้ว หลายคนก็น็อตหลุดเหมือนกัน
แต่ก็ต้องทำครับ โดยต้องเจริญสติไว้ และต้องมีศีลครับ อย่าเพิ่งรีบพูดอะไรออกไปในขณะโกรธ)
โดยหากเราจะกล่าวแนะนำตักเตือนคนที่ก่อเหตุรบกวนแล้ว
ก็ขอให้กล่าวด้วย “ความเมตตา” ครับ ไม่ได้กล่าวโดยความโกรธหรือความโมโห
หากใจยังโดนความโกรธครอบงำอยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งไปกล่าวตักเตือนแนะนำเลยครับ
เพราะเวลากล่าวอะไรออกไปในเวลาโกรธนั้น ก็มักจะเกิดอกุศลเสียมากกว่า
โดยจะกลายเป็นตำหนิเขาด้วยความโกรธเสียมากกว่าที่จะแนะนำเขาด้วยความเมตตา
และด้วยถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ และถ้อยคำสุภาพอ่อนหวาน

หากตักเตือนด้วยความโกรธแล้ว ถ้อยคำ ประโยค และน้ำหนักอาจจะรุนแรงเกินหรือไม่เหมาะสมได้
และหากเขาไม่ทำตาม เราเองก็อาจจะต้องโกรธซ้ำซ้อนอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อพูดตักเตือนไปแล้ว เราเองอาจจะกลับมารู้สึกผิดในภายหลังอีกด้วย
แต่หากเราได้ตักเตือนเขาด้วยความเมตตาแล้ว ถ้อยคำ ประโยค และน้ำหนักจะไม่รุนแรงเกินไป
หากเขาจะทำหรือไม่ทำ หรือไม่พอใจก็ตาม เราก็จะถืออุเบกขาได้ว่า
ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขา โดยโอกาสที่เราจะรู้สึกผิดในภายหลังจะน้อยกว่า

ฉะนั้นแล้ว ก็ขอแนะนำให้ “มีสติรู้ทันใจ” และเจริญเมตตาให้พร้อมก่อนที่จะเข้าไปตักเตือนนะครับ
โดยควรต้องดูก่อนด้วยว่า “แนะนำได้ไหม เป็นประโยชน์ไหม กาลเหมาะสมจริงไหม”
ไม่ใช่ว่าไปเจออันธพาล หรือเจอโจรถือมีดถือปืนแล้ว เราจะทำใจเมตตาเดินเข้าไปแนะนำ
เช่นนั้น ก็ถือว่าไม่เป็นประโยชน์ครับ และไม่ใช่กาลที่เหมาะสมอีกด้วย
หรือคนที่ก่อเหตุรบกวนบางคนนั้น เราอาจจะเห็นว่าไม่สามารถคุยให้เขายอมรับหรือเข้าใจได้
เพราะเขามีทิฐิมานะรุนแรง
หรือตักเตือนกันไม่ได้เลย ก็ต้องพิจารณาครับว่า พูดไปแล้วจะเป็นประโยชน์ไหม
หรือว่าพูดไปก็เสียเวลาเปล่า และอาจจะกลับจะเป็นโทษแก่คนพูดเสียอีก

หากพิจารณาด้วยใจเป็นกลางแล้ว เห็นว่าเรื่องจริง เป็นประโยชน์ กาลเหมาะสมแล้ว
ก็ตักเตือนแนะนำไปได้ครับ โดยควรจะกระทำด้วยความเมตตา
(เมตตาต่อคนที่ก่อเหตุรบกวน เมตตาต่อคนอื่น ๆ ในศาลา รวมทั้งคนตักเตือนเอง)
ว่าสิ่งที่เขาทำนี้กำลังรบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ญาติธรรมคนอื่น ๆ ในศาลา
และจะเป็นบาปอกุศลแก่คนที่ก่อเหตุรบกวนนั้นเอง ซึ่งในเมื่อเราได้ตักเตือนด้วยเมตตาแล้ว
ถ้อยคำ ประโยค และน้ำหนัก จะไม่รุนแรงเกินไปครับ และดูเหมาะสมในระดับหนึ่ง
เมื่อพูดไปด้วยเมตตาแล้ว เราก็จะสบายใจ (ดีกว่าพูดด้วยความโกรธ) เสมือนเราได้ทำบุญด้วย

อนึ่ง หากท่านผู้อ่านได้เคยพลาดพลั้งพูดหรือตักเตือนอะไรใครไปด้วยความโกรธแล้วก็ตาม
ขอแนะนำว่า “อย่าเก็บมาคิดให้เป็นอกุศลซ้ำซ้อนอีกครับ”
แต่ให้ระลึกว่า “วันหลังเราจะไม่ทำอีก และตั้งใจว่าจะทำปัจจุบันและอนาคตต่อไปให้ดี” ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
แม้ผมเองก็เคยเป็นมาเยอะจนนับไม่ถ้วนครับในเรื่องการพูดไปด้วยความโกรธ
โดยบางทีก็เคยเก็บมาคิดเป็นวัน ๆ หรือหลายวันก็มี
บางทีเรื่องราวผ่านไปเป็นปีแล้ว ก็ยังมีหลงเก็บมาคิดอยู่
จนเมื่อได้เรียนรู้เรื่อง “การเจริญสติ” แล้ว เรื่องเหล่านี้คือ “จบไปแล้ว” ครับ
เราอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น และหน้าที่หลักคือทำปัจจุบันให้ดีที่สุดครับ

ในเรื่องปัญหาตอนต้นดังกล่าวนั้น บางคราวก็ต้องมีคนเสียสละไปตักเตือนแนะนำบ้างครับ
หากทุกคนจะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องของเรา ก็ปล่อยไปทั้งเช่นนั้น ก็อาจจะไม่ใช่ทางที่เหมาะสม
เพราะหากไม่มีใครตักเตือนคนที่ก่อเหตุรบกวนเลย
คนที่ก่อเหตุรบกวนก็อาจจะไม่ทราบ แล้วก็จะรบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนคนอื่น
และสร้างอกุศลกรรมแก่ตนเอง (หรือแก่คนอื่น ๆ) ไปเรื่อย ๆ
โดยหลาย ๆ คนในสถานที่นั้น ๆ แม้จะไม่ได้ไปกล่าวตักเตือนก็ตาม
แต่หากรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกโกรธ และปล่อยให้ความโกรธและอกุศลทั้งหลายมาครอบงำใจ
ก็ไม่ใช่ว่าจะดีนะครับ ก็ถือว่าเป็นอกุศลเช่นกัน
ดังนั้น แม้กระทั่งคนอื่น ๆ ที่จะไม่กล่าวตักเตือนเลยก็ตาม “ก็ต้องมีสติ” ด้วยนะครับ
หากขาดเสียซึ่งการเจริญสติแล้ว เหตุการณ์ที่คนใดคนหนึ่งก่อเหตุรบกวนที่กล่าวมานี้
ก็สามารถที่จะพาให้เกิดอกุศลแก่หมู่ชนได้ทั้งศาลาวัดเลยครับ
“สติจึงจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ”
โดยเราก็ต้องมีสติของเราก่อน แล้วจึงจะไปช่วยตักเตือนคนอื่นได้ หรือสามารถพาตัวรอดจากอกุศลได้

ในกรณีปัญหาที่ยกมานี้ แม้จะเป็นเรื่องการก่อเหตุรบกวนในศาลาวัดก็ตาม
แต่คำแนะนำดังกล่าวข้างต้นก็สามารถนำไปปรับใช้ในสถานที่อื่น ๆ ได้นะครับ
เช่น สมมุติว่ามีคนก่อเหตุรบกวนในโรงภาพยนตร์ ในโรงละคร ในสถานที่สัมมนา
ในสถานที่งานเลี้ยง ในสถานที่ประชุม ในสถานที่ทำงาน ในสถานที่พักอาศัย ในรถโดยสาร ฯลฯ
โดยก็ให้นำไปพิจารณาปรับใช้ได้ในทำนองเดียวกันครับว่า
ควรจะเข้าไปตักเตือนคนที่ก่อเหตุรบกวนหรือไม่ และอย่างไร



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP