จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เวียนเทียน เวียนทำไม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


052_destination


เมื่อเห็นชื่อบทความแล้ว ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมองว่าหรือเข้าใจว่า
เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์เท่าไรแล้วในขณะนี้ เพราะได้ผ่านวันวิสาขบูชามาแล้ว
แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษาในปีนี้
และวันสำคัญทางพุทธศาสนาในปีหน้า และปีต่อ ๆ ไปอีกนะครับ
และก็ยังเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่ได้ไปร่วมงานบวชพระภิกษุ หรือบวชสามเณร
ซึ่งได้มีการเวียนเทียนรอบอุโบสถในการบวชคราวนั้น ๆ ด้วยนะ

ที่สำคัญก็คือ หากท่านได้ลองอ่านต่อไปเรื่อย ๆ แล้ว ท่านก็จะได้ทราบว่า
แท้จริงแล้ว การเวียนเทียนนั้นไม่จำเป็นจะต้องเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น
แต่เราสามารถที่จะเวียนเทียนในวันไหนก็ได้ และจะเวียนเทียนในเวลาเช้าหรือเวลาเย็นก็ได้

เวลาที่เราวางแผนจะไปเวียนเทียนที่วัดในวันสำคัญทางศาสนานั้น เราอาจจะมีคำถามสำคัญ ๆ ดังนี้
- เราจะไปเวียนเทียนที่วัดไหนดี
- เราจะไปเวียนเทียนในเวลากลางวัน หรือเวลากลางคืนดี
- เราจะเตรียมสิ่งของอะไรไปที่วัดเพื่อการเวียนเทียนด้วยหรือไม่ เป็นต้น

ยังมีอีกคำถามหนึ่งที่สำคัญมาก แต่หลายท่านอาจจะไม่ได้สนใจตั้งคำถามนี้กัน
ซึ่งก็คือคำถามว่า “เวลาเวียนเทียนนั้น จะเวียนเทียนอย่างไรดี
?
บางท่านอาจจะตอบว่า “ง่ายมาก ... ก็เดินเวียนขวา ๓ รอบไงล่ะ”
อืมม์ ... ตอบแบบนี้ ยังไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของคำถามนะครับ
เพราะผมไม่ได้ถามว่า “เวียนเทียนข้างไหน และเวียนเทียนกี่รอบ” นะครับ
แต่ผมถามว่า “เวียนเทียนอย่างไร”
ก่อนที่จะเราจะมาตอบคำถามสำคัญทั้งหลายข้างต้นกันนั้น
ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยอธิบายคำถามว่า “เวียนเทียนคืออะไร และเวียนเทียนกันไปทำไม”

ในทางพุทธศาสนาแล้ว คำว่า “เวียนเทียน” ใช้กับการเดินเวียนรอบบุคคล สิ่ง หรือสถานที่เคารพบูชา
โดยอาจจะใช้คำอื่นก็ได้ว่า “ประทักษิณ” ซึ่งหมายถึง เบื้องขวา หรือการเวียนขวา คือ
เวียนเลี้ยวไปทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา เป็นอาการแสดงความเคารพ
หรือใช้คำว่า “ทักขิณาวัฏฏ์” หรือ “ทักษิณาวัฏ” ซึ่งหมายถึง เวียนขวา หรือวนไปทางขวา คือ
เลี้ยววนทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา
(หมายเหตุ - ความหมายคำว่า “ประทักษิณ” “ทักขิณาวัฏฏ์” และ “ทักษิณาวัฏ” นี้
อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต))

โดยการเวียนเทียนหรือการทำประทักษิณต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่ใด ๆ นั้น
ทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้น ๆ อย่างสูงสุด
ซึ่งการกระทำประทักษิณนี้ ก็มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งพระสารีบุตรท่านไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อจะกลับไปนิพพานที่แคว้นมคธ
พระสารีบุตรท่านก็ได้กระทำประทักษิณ ๓ รอบต่อพระพุทธเจ้าเช่นกัน
หากเราจะกล่าวเทียบอย่างง่าย ๆ ก็คือ การเวียนเทียนก็เป็นวิธีการแสดงความเคารพวิธีการหนึ่ง
ทำนองเดียวกับการกราบไหว้ เพียงแต่การเวียนเทียนถือเป็นเครื่องหมายการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด
ซึ่งมาถึงตรงนี้ เราได้ตอบคำถามแล้วนะครับว่า เวียนเทียนคืออะไร และเวียนเทียนกันไปทำไม

บางท่านอาจจะสงสัยต่อไปว่า เวียนเทียนมากรอบจะแสดงว่า เคารพมากกว่าเวียนเทียนน้อยรอบไหม
เช่นว่า บางคนอาจจะบอกว่าตนเองเวียนเทียน ๑๐ รอบจึงถือว่าเคารพมากกว่าคนที่เวียนเทียน ๓ รอบ
ในประเด็นนี้ ต้องย้อนกลับไปที่ได้บอกไว้แล้วว่า การเวียนเทียนหรือการทำประทักษิณนั้น
ทำไปเพื่อ “เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพ” ต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้น ๆ อย่างสูงสุด
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเพียง “เครื่องหมายแสดงถึงความเคารพ” เท่านั้น
ส่วนว่าจะเคารพมากหรือน้อยนั้น ย่อมจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบของการเวียนเทียน
แต่ย่อมขึ้นอยู่กับใจ และการปฏิบัติอื่น ๆ เป็นสำคัญกว่า

ยกตัวอย่างว่า การที่เรายกมือไหว้ใครสักคนหนึ่ง คงไม่ได้แปลว่าเราเคารพเขาด้วยใจจริงเสมอไป
เราอาจจะยกมือไหว้เพื่อทักทายสวัสดีเฉย ๆ หรือเพราะทำตามหน้าที่ โดยใจไม่เคารพเขาเลยก็ได้
ในทางกลับกัน สำหรับบางคนแล้ว เรายกมือไหว้เขา แต่กลับจะไม่ชอบหน้าเขาด้วยก็ยังมี
ฉะนั้นแล้ว การที่เราจะยกมือไหว้ใครสักคนหลาย ๆ รอบ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเคารพเขามากมาย
ในทำนองเดียวกันแล้ว การที่เราเวียนเทียนมากรอบนั้น ก็ไม่ได้จะแปลว่าเคารพมากมายเสมอไป
แต่ย่อมจะอยู่ที่ใจ และการปฏิบัติอื่น ๆ เป็นสำคัญ

จะมีใครสงสัยไหมครับว่า ทำไมผมจะต้องใช้คำว่า “และการปฏิบัติอื่น ๆ” ด้วย
ผมจะใช้คำว่า “อยู่ที่ใจ” เฉย ๆ แค่นี้ไม่เพียงพอหรือ
เห็นว่า “การปฏิบัติอื่น ๆ” นี้เป็นส่วนสำคัญที่จะพิสูจน์ความเคารพที่ใจนะครับ
หากปราศจากคำว่า “การปฏิบัติอื่น ๆ” เสียแล้ว บางท่านก็อาจจะหลอกตัวเอง
โดยอาจจะคิดว่าใจเรานั้นเคารพบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุด และแสดงความเคารพอยู่เป็นประจำ
แต่ว่าในชีวิตจริงแล้ว ไม่เคยนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติเลย
กลับประพฤติสวนทางคำสอน และมุ่งไปตามเส้นทางของกิเลสมาร และอกุศลกรรม
เช่นนี้คงจะบอกว่าเคารพมากมาย โดยเคารพที่ใจไม่ได้หรอกครับ

ยกตัวอย่างว่า คน ๆ หนึ่งบอกว่าตนเองเคารพพระพุทธเจ้ามากเลย
เขาไปเวียนเทียนที่วัด ๑๐ รอบในวันวิสาขบูชา และวันสำคัญทางศาสนาอื่น ๆ เสมอ
แต่พอพ้นออกมาอยู่นอกวัดแล้ว เขาก็ประพฤติผิดศีลห้าเป็นประจำ ประพฤติชั่วเป็นประจำ
กล่าวคือประพฤติปฏิบัติสวนทางกับพระธรรมคำสอนอยู่เสมอ
เช่นนี้จะบอกว่าเคารพพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุดที่ใจตนเองคงไม่ได้หรอกครับ
เพราะว่า “การปฏิบัติอื่น ๆ” นั้นไม่ได้แสดงเลยว่าได้เคารพอย่างสูงสุดที่ใจ

หากจะเปรียบเทียบตัวอย่างในเรื่องอื่นที่ง่ายกว่านั้น ก็เทียบกับเรื่องกรณีสามีภรรยาก็ได้
สมมุติว่าสามีบอกว่าใจเขารักภรรยาอย่างมากมายเลย
แต่ว่าเขาประพฤตินอกใจโดยมีภรรยาน้อยหลายคน แถมยังทำร้ายร่างกายทุบตีภรรยา
และทำร้ายจิตใจภรรยาในเรื่องอื่น ๆ อยู่เสมอ (เช่น พูดจาเหยียดหยาม และผลาญทรัพย์ภรรยา เป็นต้น)
แล้วจะถือว่าเขารักภรรยาอย่างมากมายที่ใจได้หรือครับ
ดังนั้น หากการปฏิบัติอื่น ๆ สวนทางแล้ว การที่บอกว่ารักมากมายที่ใจ จึงรับฟังไม่ได้หรอกครับ

ในเมื่อการเวียนเทียนนั้นทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายของการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดแล้ว
หากถามว่า “เวียนเทียนอย่างไร”
ก็ย่อมตอบว่า เวียนเทียนอย่างระลึกเคารพถึงบุคคล สิ่ง หรือสถานที่ที่เราเวียนเทียนรอบนั้น
หากเราเวียนเทียนรอบพระพุทธรูป ก็ระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้า
หรืออาจจะระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ (ระลึกถึงพระรัตนตรัย)
กรณีที่เวียนเทียนรอบอุโบสถ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ
ก็อาจจะระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน เพราะก็มีพระประธานอยู่ภายในด้วย
กรณีที่เวียนเทียนรอบเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ หรือต้นโพธิ์ ก็ระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน
อนึ่ง การเวียนเทียนเพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ก็มีได้นะครับ เช่นว่า
การเวียนเทียนพระสถูปในบริเวณสังเวชนียสถาน ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น
ซึ่งหากจะพิจารณาจริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับใจล่ะครับว่า ขณะที่เวียนเทียนนั้น ได้ระลึกเคารพถึงอะไร

(ทั้งนี้ หากท่านไหนที่เจริญสติเป็น เดินจงกรมเป็น ก็อาจจะเดินปฏิบัติภาวนาไปด้วย
อันถือเป็นการปฏิบัติบูชาในระหว่างที่เดินเวียนเทียนแสดงความเคารพนั้น ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์)

มาถึงตรงนี้ เรากลับไปตอบคำถามสำคัญ ๆ ข้างต้นกันนะครับ
ถามว่า “เราจะไปเวียนเทียนที่วัดไหนดี”
ก็ตอบว่าไปวัดไหนก็ได้ที่สะดวกและถูกจริตสำหรับท่านที่จะไปเวียนเทียนนะครับ
เพราะการเวียนเทียนนั้นเป็นเครื่องหมายถึงการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด
ซึ่งในที่นี้ การไปเวียนเทียนที่วัด ย่อมจะมุ่งถึงการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า (หรือพระรัตนตรัย)
ดังนั้น การจะไปแสดงความเคารพที่วัดไหน ก็ย่อมจะแสดงความเคารพได้ด้วยกันทั้งนั้น
จึงแนะนำให้เลือกวัดที่สะดวกและถูกจริตของคนที่จะเวียนเทียน
บางคนอาจจะชอบวัดใกล้บ้านไปกลับสะดวก บางคนชอบวัดต่างจังหวัดไกล ๆ
บางคนชอบวัดที่คนไปกันเยอะ ๆ บางคนไม่ชอบคนเยอะ ๆ แต่ชอบวัดที่คนน้อย ๆ
บางคนเลือกวัดที่ใกล้ ๆ กับร้านอาหารที่ตนเองจะไปทานก่อนหรือหลังเวียนเทียน เป็นต้น

(เรื่อง “ถูกจริต” นี้ก็สำคัญนะครับ โดยหากไปเวียนเทียนแล้ว เกิดไม่พอใจอะไร หรือไม่ถูกจริตบางอย่าง
แล้วทำให้ไปคิดหรือพูดตำหนิทางวัด หรือพระภิกษุสงฆ์
หรือแม้กระทั่งญาติธรรมท่านอื่น ๆ ที่ไปเวียนเทียนนั้น ก็จะทำให้เกิดอกุศลแก่ตนเองเสียเปล่า ๆ)

ผมเคยฟังรายการวิทยุธรรมแห่งหนึ่ง มีญาติธรรมท่านหนึ่งโทรศัพท์ไปเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า
เขาไม่มีเวลาจะไปเวียนเทียนที่วัดในวันวิสาขบูชาเนื่องจากต้องทำงานจนดึก
พอเลิกงาน ก็ดึกเกินไปที่จะไปที่วัดเพื่อเวียนเทียนเสียแล้ว
เขาจึงนำโต๊ะมาวางไว้กลางห้อง แล้วก็นำพระพุทธรูปมาวางบนโต๊ะ
แล้วก็เดินเวียนเทียนรอบพระพุทธรูปนั้น โดยเสมือนว่าเดินเวียนเทียนอยู่ที่วัด
หลวงพ่อตอบว่า ทำเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการเวียนเทียนแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน

ถามว่า “เราจะไปเวียนเทียนในเวลากลางวัน หรือเวลากลางคืนดี”
ก็ตอบเช่นเดียวกันว่า ไปเวลาไหนก็ได้ที่สะดวกและถูกจริตสำหรับท่านที่จะไปเวียนเทียนครับ
นอกจากนี้ ในเมื่อการเวียนเทียนทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายของการแสดงความเคารพแล้ว
การทำความเคารพโดยการเวียนเทียนจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องทำในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น
แต่จะทำในวันไหนก็ได้ ทำเมื่อไรก็ได้ ไม่จำกัดเวลา ทำเมื่อไรก็เป็นกุศลเมื่อนั้นและได้อานิสงส์เมื่อนั้น
เสมือนเราจะกราบไหว้พระ หรือกราบไหว้พ่อแม่ จะกราบไหว้เมื่อไรก็ได้ครับ และก็ได้กุศลเมื่อนั้น
บางท่านอาจจะสงสัยว่า กราบไหว้พ่อแม่บ่อย ๆ ได้กุศล หรือได้อานิสงส์ด้วยหรือ
ก็เรียนว่าพ่อแม่เปรียบเสมือนเป็นพระอรหันต์ของบุตร เสมือนเป็นพระพรหมของบุตร
อย่างน้อย ๆ ที่สุดกราบไหว้เมื่อใด ก็ถือว่าเป็น “อปจายนมัย” ได้ คือการประพฤติอ่อนน้อม
(ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

ถามว่า “เราจะเตรียมสิ่งของอะไรไปที่วัดเพื่อการเวียนเทียนด้วยหรือไม่”
ก็ตอบว่า ใจที่ระลึกเคารพต่อบุคคล สิ่ง หรือสถานที่ที่เวียนเทียนในขณะที่เวียนเทียนนั้น
ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าวัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ถือไปเวียนเทียนครับ
ฉะนั้นแล้ว หากถามว่า “เตรียมอะไรไปดีที่สุด”
ก็ขอตอบว่า “เตรียมใจที่มีจิตศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม” ไปด้วยจะดีที่สุด
ส่วนสิ่งของวัตถุอื่น ๆ นั้นก็เป็นเพียงสิ่งของที่เป็นอามิสบูชาครับ
ถือว่าต่ำต้อยกว่าปฏิบัติบูชา ดังนั้นแล้ว จึงแนะนำให้ท่าน ๆ ปฏิบัติบูชาจะดีกว่า

ส่วนว่าจะต้องแต่งชุดขาวไหม จะต้องมีดอกไม้ธูปเทียนหรือไม่ จะต้องมีโคมเทียนหรือไม่
ต้องจุดธูปเทียนหรือเปล่า หรือหากไฟเทียนดับระหว่างเดินเวียนเทียนจะเป็นอะไรไหม
ทั้งหลายเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยครับ
ไม่สำคัญเท่ากับว่าระหว่างที่เดินเวียนเทียนนั้น ใจระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้าหรือเปล่า
ยกตัวอย่างเช่น บางคนนั้นเดินเวียนเทียนแล้ว ก็มัวแต่ไปมองสาว หรือมองหนุ่มที่เวียนเทียน
บางคนไปมัวนึกโกรธคนอื่นที่มาเดินเบียดตนเอง หรือเดินชนตนเอง
บางคนไปมัวนึกกังวลว่าจะไปกินอาหารที่ร้านไหนต่อดี
บางคนไปมัวห่วงว่าเปลวเทียนจะดับหรือเปล่า ห่วงแต่เรื่องต่อไฟเทียน
บางคนไปมัวห่วงว่าจะต้องรีบไปเช่าพระเครื่องหรือจะต้องรีบไปแย่งรับของที่ระลึก เป็นต้น
เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการเสียประโยชน์ไปครับ

หากเดินเวียนเทียนโดยไม่ได้ระลึกเคารพถึงอะไรเลย ก็ไม่ต่างกับการเดินธรรมดา
เสมือนกับว่า กรณีที่เราไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า
และพนักงานขายของ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ยกมือไหว้เราเพื่อต้อนรับ
ถามว่าพวกเขายกมือไหว้ด้วยระลึกเคารพที่ใจใช่ไหม
ก็ตอบมา “ไม่ใช่” แต่ว่าพวกเขายกมือไหว้ตามหน้าที่เท่านั้น
(บางทีพวกเขาอาจจะไม่ชอบหน้าลูกค้าบางคนด้วยซ้ำไป)
ซึ่งระหว่างที่ร่างกายเคลื่อนไหวยกมือขึ้นมาไหว้นั้น ในใจเขาอาจจะนึกถึงแฟน นึกถึงเรื่องอื่น ๆ เสียด้วย
ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าใจได้แสดงความเคารพต่อสิ่งใด ๆ เลย
ซึ่งในเรื่องการเวียนเทียนนี้ก็ทำนองเดียวกันครับ

ในทางที่จะได้ประโยชน์แล้ว ก็ควรที่จะระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้า (หรือพระรัตนตรัย)
โดยระลึกว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดในโลก
พระองค์ได้ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ คือตรัสรู้ธรรมได้โดยชอบด้วยพระองค์เอง
มีพระปริสุทธิคุณ คือเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส
มีพระกรุณาคุณ คือ มีพระมหากรุณาต่อเหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ
โดยทรงสั่งสมพระบารมีมานับไม่ถ้วน เพื่อมาช่วยเหลือเหล่าเวไนยสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏ
และทรงแสดงธรรมโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและความยากลำบาก


ในการนี้ บางท่านก็อาจจะอาศัยการสวดมนต์เพื่อระลึกถึงพุทธคุณ หรือพระรัตนตรัย
โดยที่นิยมกัน ก็อาจจะสวดมนต์บท "อิติปิโส" ระลึกพระพุทธคุณ
สวดบท "สวากขาโต" ระลึกถึงพระธรรมคุณ และสวดบท "สุปะฎิปันโน" ระลึกถึงพระสังฆคุณ
หรืออาจจะสวดมนต์บท "พุทธาภิถุติ" (ในบททำวัตรเช้า)
หรือบท "พุทธานุสสติ" และ "พุทธาภิคีติ" (ในบททำวัตรเย็น)
เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ ในระหว่างเวียนเทียนก็ได้


การเวียนเทียนในงานบวชก็ทำนองเดียวกันนะครับ
แม้ว่าคนอื่น ๆ อาจจะนิยม "โห่ฮิ้ว" อะไร ก็ว่ากันไปของเขา ซึ่งเราก็ไม่ต้องไปห้ามเขานะครับ
แต่ในเมื่อเรากำลังเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ (ซึ่งก็มีพระประธานอยู่ภายใน" แล้ว
ขอแนะนำให้น้อมใจระลึกเคารพถึงคุณของพระพุทธเจ้า (หรือพระรัตนตรัย) ครับ
ส่วนท่านไหนที่เจริญสติเป็น เดินจงกรมเป็น ก็ย่อมจะเดินปฎิบัติภาวนาไปด้วยได้


มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะทราบแล้วนะครับว่า เวียนเทียนเพื่ออะไร เวียนเทียนอย่างไร
และการเวียนเทียนนั้นไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น
และก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำที่วัดเท่านั้น โดยจะทำที่บ้านท่านก็ได้นะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP