จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กินแค่เพียงปลาที่รู้จักก็อิ่มได้


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

047_destination



เมื่อพูดถึงพระไตรปิฎก พวกเราก็คงจะทราบกันดีว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา
แต่ว่าหากถามว่ามีพุทธศาสนิกชนจำนวนเท่าไรที่ได้เคยอ่านพระไตรปิฎกมาบ้าง
ก็คงจะตอบได้ว่าจำนวนไม่มากเลย
ผมเคยได้ไปร่วมงานอุปสมบทหมู่ของน้องคนหนึ่งที่ทำงานที่วัดแห่งหนึ่งนะครับ
ซึ่งได้มีพระบวชใหม่ในวันดังกล่าวประมาณยี่สิบกว่ารูป
โดยมีโยมไปร่วมงานกันมากถึงสองสามร้อยคน
ในระหว่างที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านแสดงเทศนาธรรมนั้น
ท่านก็ถามโยมทั้งหลายที่กำลังฟังธรรมว่า มีใครได้เคยอ่านพระไตรปิฎกมาบ้าง
ปรากฏว่าในจำนวนสองสามร้อยคนนั้น มียกมือเพียงสี่หรือห้าคนเท่านั้นเองนะครับ

ในความเห็นส่วนตัวแล้ว หนังสือที่พวกเราชาวพุทธศาสนิกชนทุกคนควรจะอ่านที่สุด
ก็น่าจะเป็นพระไตรปิฎกนะครับ เพราะเป็นหนังสือที่หาอ่านได้ยากมากที่สุดเลยในสังสารวัฏนี้
ในอดีต เวลาที่เรานึกถึงภาพพระไตรปิฎก เราก็คงจะนึกไปถึงหนังสือเล่มหนา ๆ หลายสิบเล่ม
วางเรียงอยู่ในตู้พระไตรปิฎก ซึ่งแค่เพียงเห็นก็เครียดแล้วว่า อ่านไปจนถึงเมื่อไรจึงจะจบนะ
จะหยิบเล่มไหนมาอ่านก่อนดีล่ะ เนื้อหาและภาษาภายในจะยากมากหรือเปล่า
โดยที่ร้านหนังสือที่ขายหนังสือพระไตรปิฎกก็มักจะขายรวมกันเป็นชุดในราคาแพง
จะซื้อหามาไว้อ่านเองที่บ้านก็เกินกำลัง ไหนจะต้องมีตู้เก็บอีก ต้องใช้พื้นที่จัดวางที่เหมาะสมอีก
การจะอ่านพระไตรปิฎกในอดีตจึงอาจจะต้องอาศัยไปหาอ่านตามวัด หรือตามห้องสมุดต่าง ๆ

แต่ในปัจจุบันนี้การหาพระไตรปิฎกมาอ่านนี้ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว
มีหนังสือที่คัดลอกเนื้อหาบางส่วนของพระไตรปิฎกมาวางจำหน่ายตามร้านหนังสือ
มีไฟล์
PDF ของพระไตรปิฎกให้ดาวน์โหลดฟรีในอินเตอร์เน็ต
มีโปรแกรมพระไตรปิฎกให้ดาวน์โหลดฟรีในอินเตอร์เน็ต
มีซีดีโปรแกรมเรียนพระไตรปิฎกแจกฟรีตามเว็บไซต์และเว็บบอร์ด และให้ดาวน์โหลดฟรี
มีเว็บไซต์ที่บรรจุข้อมูลและเนื้อหาของพระไตรปิฎกมากมายให้ค้นหาและให้อ่าน
มีบทความและกระทู้เว็บบอร์ดมากมายที่คัดลอกพระสูตรหรือเนื้อหาอื่น ๆ จาก
พระไตรปิฎกมาอ้างอิง และให้ผู้อ่านได้อ่านกันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีประการหนึ่งของเทคโนโลยีสมัยใหม่
ที่ช่วยให้พวกเราได้มีโอกาสจะหาอ่านบางส่วนหรือทั้งหมดของพระไตรปิฎกได้สะดวกขึ้น

ผมเองเคยเปิดกระทู้ในเว็บบอร์ดเพื่อแจกหนังสือที่คัดลอกพระสูตรบางส่วนจากพระไตรปิฎก
เป็นธรรมทานนะครับ โดยปรากฏว่าได้มีญาติธรรมท่านหนึ่งได้ส่งอีเมล์มาสอบถามผม
ถึงเรื่องข้อแนะนำในการอ่านพระสูตรในพระไตรปิฎกให้เข้าใจว่ามีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านและตีความพระสูตรในพระไตรปิฎกหรอกครับ
แต่ก็พยายามที่จะให้คำแนะนำเท่าที่ส่วนตัวผมเองได้เคยสัมผัสมา
ในบทความนี้ ผมจึงขอแบ่งบันข้อคิดบางประการในการอ่านพระไตรปิฎกนะครับ

๑. การอ่านพระสูตรในพระไตรปิฎก ควรเป็นเพียงส่วนเสริมของการภาวนาเท่านั้น
โดยให้ถือว่าการภาวนาจริง ๆ สำคัญกว่า
ไม่ควรใช้เวลาอ่านพระสูตรมากจนเกินไปกระทั่งกระทบกับเวลาการภาวนา
และการอ่านพระสูตรนั้น ก็ไม่ควรอ่านจนกระทั่งเกิดความฟุ้งซ่านในธรรมะ
ยกตัวอย่างเช่น หากอ่านแล้วสงสัยมากทำอย่างไรจะถูก
สับสนมากว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
หรือพอรู้มากแล้วอยากจะไปสอนคนอื่น หรือไปยุ่งกับเรื่องคนอื่นมาก เป็นต้น
ก็ควรจะมีสติรู้เท่าทันนะครับว่า ฟุ้งซ่านไปแล้ว
และอาจควรจะงด หรือลด ๆ การอ่านพระสูตรไปก่อน แต่ให้เน้นที่ภาวนาจริงเป็นหลัก

ผมเคยให้หนังสือพระสูตรในพระไตรปิฎกกับน้องคนหนึ่งที่รู้จักกันหลายเล่ม
ปรากฏว่าเธออ่านไปสักพักนึงแล้ว ก็กลับมาถามผมเกี่ยวกับเรื่องศีลและวินัยสงฆ์
และฟุ้งซ่านมากเกี่ยวกับเรื่องของสงฆ์ เช่นนี้ถือว่าไม่ดีแล้วครับ
ผมก็อธิบายแนะนำไปว่าเรื่องศีลและวินัยของสงฆ์นั้น ก็อย่าไปอ่านสิ
จะไปรู้เรื่องคนอื่นหรือพระภิกษุมากมายทำไม โดยก็ให้เน้นอ่านเฉพาะพระสูตรที่จะเกี่ยวกับตัวเรา
หรือที่เรามีปัญหา หรืออาจจะมีปัญหา หรือที่เราน่าจะนำมาใช้ได้ก็พอแล้ว
อันไหนไม่เกี่ยว อันไหนไม่รู้เรื่อง ก็ผ่านไปได้เลย
ไม่ต้องไปเสียเวลาด้วย และเอาเวลาไปภาวนาเป็นสำคัญ

๒. ก่อนที่จะอ่าน และในระหว่างเวลาที่อ่านนั้น
ไม่ควรไปคิดเกร็งหรือกดตัวเองว่าจะอ่านหนังสือหนัก ๆ ครับ
พยายามอ่านแบบสบาย ๆ เหมือนอ่านหนังสือธรรมะอื่น ๆ ธรรมดา

๓. เมื่ออ่านแล้ว ก็จะพบว่ามีบางพระสูตรที่เรารู้สึกเข้าใจมากเป็นพิเศษกว่าพระสูตรอื่น ๆ
หรือตรงใจเรามาก หรือตรงกับชีวิตเราในขณะนั้น หรือรู้สึกว่ามีประโยชน์กับชีวิตเรา
หรือเรารู้สึกอินกับพระสูตรนั้นมากกว่าพระสูตรอื่น
ก็แนะนำให้อ่านอีก ทบทวนอีก เพื่อน้อมนำไปสู่ใจ และนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง

๔. แน่นอนว่าจะมีบางพระสูตรหรือหลายพระสูตรที่อ่านแล้วไม่เข้าใจหรือไม่ตรงใจ
ก็ไม่เป็นไรครับ ขอให้ผ่านไปก่อนแบบสบาย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้เข้าใจทั้งหมดในขณะนั้น
โดยเมื่อเวลาผ่านไปช่วงนึงหรือภาวนาไปช่วงนึงแล้ว เรากลับมาอ่านอีก ก็อาจจะเข้าใจมากขึ้นก็ได้
หรืออาจจะตรงกับชีวิตเราในช่วงนั้นได้ (หรืออาจจะไม่ตรงและไม่เข้าใจเหมือนเดิมก็ได้)

โดยขออธิบายเปรียบเทียบกับ ยาที่ใช้รักษาคนป่วยนะครับ
ซึ่งเราอาจจจะป่วยจะเป็นโรคเดียวหรือหลายโรค แต่ก็ไม่ได้เป็นทุกโรค
ดังนั้น เราก็ใช้ยาเฉพาะกับที่เหมาะสมกับตัวเรา หรือรักษาโรคที่เราป่วยก็พอแล้ว
ยาไหนไม่เกี่ยวกับโรคที่เราเป็นในขณะนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ยาไหนอ่อนไปก็ไม่เหมาะ
ยาไหนแรงไปก็ไม่ดี ก็ควรต้องใช้ยาที่เหมาะกับตัวเรา หรือโรคที่เราป่วย

ด้วยความที่พระพุทธเจ้าสอนธรรมะไว้หลากหลาย
เนื้อหาธรรมะที่ถูกจริต หรือเหมาะสมกับแต่ละท่านในแต่ละช่วงเวลานั้น ก็อาจจะแตกต่างกัน
โดยแต่ละท่านก็อินทรีย์และพื้นฐานอ่อนแข็งแตกต่างกัน

๕. การที่ได้อ่านพระสูตรในพระไตรปิฎก ก็เสมือนกับได้เข้าเฝ้าเพื่อฟังคำสอนโดยตรง
จากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ปกติผมก็จะระลึกและมีปีติว่าเรามีบุญมาก ๆ เลย
ที่ได้มีโอกาสอ่านคำสอนตรงนี้อยู่ และระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้บำเพ็ญบารมีมามากมาย
จนบรรลุธรรมและนำมาสั่งสอน ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เจ้าทั้งหลายที่ได้ช่วยกัน
ท่อง จดจำ คัดลอก และถ่ายทอดคำสอนเหล่านี้ มาจนถึงปัจจุบันนี้

๖. บางทีอ่านไปแล้วได้พบเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างบุญกุศลของผู้มีบารมีท่านต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาล
เราก็สามารถที่จะร่วมอนุโมทนาบุญได้ด้วยนะครับ

นอกจากที่แนะนำข้างต้นแล้ว ผมขออ้างอิงถึงเนื้อหาของหนังสือชุมนุมปาฐกฐา (ชุดพุทธธรรม)
โดยท่านพุทธทาสภิกขุ (หน้า ๒๒๒ ถึง ๒๒๔) ซึ่งได้มีคำถามคำตอบดังต่อไปนี้


ถาม - มาถึงตอนนี้ กระผมขอเรียนถามเสียด้วยเลยว่า พระไตรปิฎกของเรานี้จะควรได้รับความเชื่อถือเพียงไร

ตอบ - อาตมาขอร้องให้พวกเราทุกคนถือตามหลักกาลามสูตรที่ว่า
อย่ายึดถือหลักใด ๆ ว่าเป็นของถูกต้อง ด้วยเหตุผลสักว่า ข้อความเช่นนี้มีอยู่ในปิฎก
เพราะว่าไตรปิฎกก็เป็นของที่เพิ่มเติมกันได้ ตัดทอนกันได้
และเป็นมาอย่างล้มลุกคลุกคลานเสมอมาตลอดเวลา ผ่านมือปุถุชนคนสามัญมาเรื่อย ๆ
และยิ่งกว่านั้น ที่เป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงของพระพุทธสุภาษิตข้างบนนั้น
ก็ถือว่า แม้ว่าพระไตรปิฎกนั้นจะเป็นของบริสุทธิ์ ออกมาจากพระพุทธโอษฐ์ทุก ๆ คำ
(ถ้าหากเป็นไปได้) ก็ขออย่าให้ถือเอาด้วยเหตุผลแต่สักว่า
ข้อความหรือหลักที่ตนอยากจะถือนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฎกอย่างเดียวกัน
พระพุทธเจ้าท่านได้ใช้เหตุผลที่ตนเองมองเห็นชัดเจนเอง ว่ามันเป็นไปได้เช่นนั้นจริง ๆ
พระองค์ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรในเรื่องเช่นว่านี้
คือกำลังตรัสและทูลต่อปากต่อคำกันอยู่สองพระองค์แท้ ๆ ในเรื่องอันเกี่ยวกับอริยสัจ
พระสารีบุตรกล้าทูลสนองพระพุทธปุจฉาว่า ท่านไม่เชื่อแม้คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสออกมา
แต่เชื่อความเห็นจริงของท่านเองต่างหาก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ไม่ทรงเห็นประโยชน์อะไร
ในการที่จะให้ใครเชื่อตามตำราโดยปราศจากการเชื่อด้วยตนเอง
ว่าที่ว่านั้นมันมีเหตุผลที่จะเป็นเช่นนั้นได้จริง ๆ

แม้ตำนานหรือปิฎกจะเขียนไว้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นของไม่ดีควรละ
เราก็ไม่ต้องเชื่อและถือว่านั่นเป็นความจริง จนกว่าเราจะได้รู้จักตัวโลภะ โทสะ โมหะ
และเห็นชัดด้วยปัญญาเราว่ามันไม่ดีจริง ๆ เสียก่อน
ถ้าใครไม่ถือตามหลักนี้ คนนั้น ไม่เหมาะหรือถึงกับไม่สามารถเลย
ในการที่จะไต่ไปตามรอยของพระพุทธเจ้า มีแต่จะเข้ารกเข้าพง
และไปติดอยู่ในวงล้อมของภูเขาจนมุมอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นแน่แท้
คุณดูแต่เรื่องจิต ๆ นาม ๆ เมื่อกี้นี้เถอะ จะให้เราถือเอาเป็นหลักอย่างไรเล่า
ถ้าไม่ให้ถือตามที่เราจะเห็นชัด ๆ กันจริง ๆ เป็นเรื่องจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องตัวหนังสือ

พระไตรปิฎกนั้น ส่วนมากหรือแทบทั้งหมด ข้อความที่มีเหตุผลอยู่ในตัวเองเด่นอยู่
จนเราพอใจจะเชื่อ ถึงแม้ว่าคำนั้น ๆ จะไม่ได้ตรัสไว้โดยพระองค์เอง จะเป็นเด็กข้างถนนพูดก็ตาม
พระองค์ตรัสว่า แม้หญิงชาวนาที่ตักน้ำตามบ่อสาธารณะ
ถ้าเขาพูดอะไรออกมามีหลักชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า มันจะละความทุกข์ได้เช่นนั้น ๆ จนใคร ๆ ก็เห็นจริงแล้ว
เราก็ต้องถือเอาและนับถือเท่ากับที่แม้พระองค์จะตรัสเอง
ธรรมคือของจริง ใครก็พูดได้ และต้องจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต
ฉะนั้น จึงไม่อาจมีพระไตรปิฎกที่แบ่งแยกว่าเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต อย่างใดอย่างหนึ่ง
เพื่อรับการยกเว้น ไม่ต้องเป็นไปตามหลักกาลามสูตรนั้น

ฉะนั้นทำไมจะต้องถือหลักว่ามันจริง เพราะมันมีอยู่ในปิฎกซึ่งมีแต่จะทำคนให้หมดตัวของตัว
มีแต่ตัวของความละเมอไปตามความจำอันฟั่นเฝือเหมือนคนที่มัวแต่เที่ยวแบกกระได ไม่รู้จะจดเข้าที่ไหนเท่านั้นเอง
เรามีพระไตรปิฎก สำหรับเป็นวัตถุดิบอันมากมาย เพื่อการเลือกเฟ้นและนำมาย่อยเป็นผลิตผล
อันจะเป็นเครื่องแก้ทุกข์ทางกาย และทางใจได้จริง ๆ ให้เหมาะเฉพาะคน ๆ เท่านั้น
คงไม่มีใครสามารถคิดว่า ในทะเลมีปลา แล้วพยายามกินทะเลทั้งหมดเข้าไป
เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถกินวัตถุดิบ คือพระไตรปิฎกทั้งหมดเข้าไป โดยไม่คัดเลือกและย่อยเสียก่อน
ในทะเลมีปลามากคุณเลือกกินแต่ตัวที่รู้จัก และมีรสดี ก็มากพอถมไป
ไม่ต้องไปกินตัวที่ไม่รู้จักและสงสัย หรือไปสนใจกะมันก็ให้เสียเวลาเปล่า ๆ
ข้อความบางส่วนของพระไตรปิฎกที่เราไม่สามารถตีความได้ก็เป็นเช่นนั้น
คือทิ้งไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกก็แล้วกัน เราเอากันแต่ที่เห็นชัดแจ้ง และยึดหลักกาลามสูตรไว้ได้
นับว่าเป็นการประเสริฐ เพราะปลอดภัย อาตมาขอให้คุณปฏิบัติตามพระไตรปิฎกอย่างที่ว่ามานี้


ถาม - ขอรับ แล้วกรุณาอธิบาย เรื่องแบกกระไดเมื่อตะกี้สักหน่อยเถอะ
กระผมเคยได้ยินผ่าน ๆ ไปหลายครั้งหลายหนมาแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัดสักที

ตอบ - มันเป็นเรื่องที่ฟังง่ายดีนะคุณ คือว่านายคนนั้นแกได้รับการบอกเล่ารอบข้างว่ากระไดนี้ดี
เอาไปจดเข้าแถวปีนขึ้นไปหาลูกสาวเขาได้ แกก็เลยรักกระไดแบกเอาไว้พบที่ไหนก็แบกเอาไว้
เที่ยวแบกกระไดจำนวนมากอยู่เป็นปี ๆ ใครถามก็บอกว่า จะเอาไปจดขึ้นหาลูกสาวเขา
มีใครคนหนึ่งเห็นนายคนนั้นมานานหนักหนาแล้ว อดไม่ได้กระเซ้าถามว่า จะไปจดที่ไหน
นายคนนั้นจึงได้ทำให้เพื่อน ๆ และรวมทั้งตัวเองด้วย รู้จักตัวเขาเองเสียที
ว่าเขาก็ไม่ทราบเหมือนกัน ว่าเขาจะเอากระไดทั้งหมดนี้ ไปจดที่ไหน
เพราะเขายังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่า เขารักลูกสาวใคร หรือแม้แต่ว่าที่หมู่บ้านไหน
เพราะเขายังไม่เคยมีความรักเลย. เค้าเรื่องที่นำมาเล่ากันนี้ ก็จำมาจากเรื่องในพระไตรปิฎกเหมือนกัน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP